เมื่อวันที่ 2 ก.ค.น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงรายงานยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศประจำปี 2563 เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และเป็นปัญหาที่จะต้องพัฒนา โดยชี้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพมีประเด็นที่ต้องปฏิรูป 6 เรื่อง 1.กลไกและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2.ระบบการวิจัย 3.ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ของประเทศ เพื่อการอนุรักษ์ คุ้มครองการใช้ประโยชน์ และแบ่งปันประโยชน์ที่เป็นธรรม จัดทำคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ โดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO 4.ปฏิรูประบบและเครือข่ายฐานทรัพยากรท้องถิ่นให้ครอบคลุม 5.ปฏิรูประบบบุคลากร 6.กลไกรองรับประโยชน์
น.ส.พิมพ์รพี กล่าวต่อว่า ความหลากหลายทางชีวภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคืองบประมาณแผ่นดินไม่ตอบโจทย์ BEDO ถูกลดงบประมาณจาก 123 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา เหลือ 117 ล้านบาท งบที่สำคัญที่สุดคืองบพัฒนายุทธศาสตร์ การสร้างความเติบโตยั่งยืน อนุรักษ์ฟื้นฟู และป้องกัน จาก 62 ล้าน เหลือ 19 ล้านบาท งบประมาณการดูแลพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าได้เหลือ 18 ล้านบาท ลดลงอย่างมหาศาล งบประมาณในการจดทะเบียนพันธุ์พืชเหลือแค่ 1 ล้านบาท งบประมาณสร้างความเข้มแข็งวิสาหกิจชุมชน ชีวภาพ เหลือแค่ 10 ล้านบาท งบประมาณสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนองค์กรชุมชน เหลือแค่ 3 ล้านบาท แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย ทำให้ BEDO ไม่สามารถแบกรับหน้าที่หลักอันใหญ่โตนี้ได้
"ความหลากหลายทางชีวภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน เราไม่ต้องขายข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ยาง ข้าวโพด อีกต่อไป เราสามารถขายจุลินทรีย์ ขายเห็ด ขายสมุนไพร ขายแมลงเป็นสินค้าส่งออก ได้ถ้าประเทศไทยมีสมุนไพร แต่ไม่สามารถจดทะเบียนใน RCEP ได้ สุดท้ายสิทธิบัตรต่างๆก็จะหายไปหมด ไม่สามารถยืนยันความเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติได้เลย เพราะงบประมาณในการจดทะเบียนพันธุ์พืชเหลือแค่ 1 ล้านบาท" ดร.พิมพ์รพี กล่าว
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ในวันที่เราต้องการปลูกป่ากันทั้งประเทศ แต่ชาวบ้านจะได้กินอะไร ไปปลูกปาล์ม ปลูกยาง ดีกว่า รอไม่ไหวจะ 5 ปี 10 ปี 30 ปี เมื่อไหร่จะโต แต่ถ้าเรามีนวัตกรรม เอาเชื้อเห็ดไปไว้ในต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่น ต้นเต็ง ต้นรัง ต้นตะเคียนทอง เมื่อต้นไม้ก็จะโตขึ้นในระบบคู่ขนาดกัน มีเห็ดต่างๆ ในป่าเต็มไปหมดชาวบ้านมีโปรตีนทานด้วยการใช้เงินแค่ 3 บาท 6 บาท หากใช้นวัตกรรมสร้างความยั่งยืนทางชีวภาพ สิ่งต่างๆ นี้ถูกจดเป็นสิทธิบัตรของประเทศไทย เราจะมั่นคงยั่งยืนได้ถึงขนาดไหน สิ่งที่ต้องทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายคือ 1.ต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยี และการวิจัย 2.ปรับกฎระเบียบของราชการที่รับผิดชอบ ต้องคิดว่าจะให้ประชาชนอยู่กับป่าอย่างไร 3.ปรับโครงสร้างเพื่อพัฒนา เข้าไปช่วยชาวบ้านอย่างยั่งยืนสามารถช่วยชาวบ้านสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยสภาพัฒน์ต้องกำชับให้ส่วนราชการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อปฏิรูปประเทศ ยกระดับขีดความสามารถเกษตรกรในประเทศ แต่งบประมาณแผ่นดินตอนนี้ยังไม่ตอบโจทย์