ไม่รู้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดของรัฐบาลหรือไม่ ในการจัดการกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ ณ เวลานี้มีตัวเลขของผู้ติดเชื้อไม่น้อยกว่า 3,000 – 4,000 คน ต่อวัน ขณะที่ยอดตัวเลขของผู้ที่ได้รับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 กลับไม่เป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลกำหนดไว้ แม้รัฐบาลตั้งใจที่จะฉีดไห้ได้วันละไม่น้อยกว่า 400,000 – 500,000 คน ต่อวัน เนื่องจากวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 มีไม่เพียงพอ!
กลายเป็นช่วงโหว่ที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แม้ ณ เวลานี้ ประชาชนคนไทย พร้อมที่จะฉีดวัดซีนต้านไวรัสโควิด-19 แบบไม่เกี่ยงยี่ห้อก็ตาม!
ล่าสุดจากตัวเลขของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สูงขึ้น โดยกลุ่มคลัสเตอร์ใหญ่ที่เกินขึ้นนั้นมาจาก “แคมป์คนงานก่อสร้าง”
เป็นสาเหตุให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ศบค. นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ให้ “ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง” ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา) โดยให้ดำเนินการต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลา30 วัน งดเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อเข้าควบคุมและชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 แถมด้วย “ห้ามนั่งทานอาหาร/เครื่องดื่มในร้าน รับกลับบ้านเท่านั้น” ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564
ซึ่งการประกาศ “ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง” ครั้งนี้ รัฐบาลได้วางแนวทางในการช่วยเหลือ โดย “ทศพล กฤตวงศ์วิมาน” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ ศบค.สั่งปิด จะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ซึ่งประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรอง ตลอดเวลาการปิดแคมป์ โดยจะตรวจสอบว่าลูกจ้าง/ผู้ประกันตนที่จะได้รับเงินชดเชยจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หาก ไม่อยู่หรือมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว
ส่วนของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย กรมการจัดหางาน จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือนำเข้าสู่ระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
ขณะเดียวกันจะ ทำการการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (swab) แก่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนในแคมป์คนงานให้ได้ครบ 100% ทุกแคมป์ หากพบลูกจ้าง/ผู้ประกันตนติดเชื้อ ก็จะได้รับการรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข ผู้ที่ไม่พบเชื้อก็จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19
แต่ถึงอย่างไรการที่รัฐบาลประกาศให้ “ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง” ในครั้งนี้ ได้กลายเป็นชนวนให้เกิดความกังวนของประชาชน เพราะเมื่อรัฐบาลประกาศออกมานั้น ยังมีระยะเวลาที่ผู้ใช้แรงงานได้ทยอยออกจากพื้นที่ควบคุมพิเศษ ทำให้เกิดภาพที่ผู้ใช้แรงงานได้ทยอยออกจากพื้นที่ กลับไปยังภูมิลำเนาของตนเอง เป็นจำนวนมาก
ซึ่งไม่รู้ว่าผู้ใช้แรงงานเหล่านั้น มีเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในตัวหรือไม่!
ส่งผลให้ยากที่จะควบคุม!!!
ขณะที่โครงการก่อสร้างงานต่าง ๆ จากการสำรวจพบว่าได้รับผลกระทบกับแนวทางของศบค.ที่ให้ “ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง” โดย “สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข” ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บอกว่า โครงการก่อสร้างของ กทพ. ขณะนี้จะได้รับผลกระทบ 2 โครงการ คือ 1.โครงการก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก สัญญาที่ 2 (งานโยธา) ช่วงตั้งแต่เซ็นทรัลพระราม 2 ถึงโรงพยาบาลบางปะกอก 9 ที่มีกลุ่มบริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัย เป็นผู้ก่อสร้าง ที่ขณะนี้มีการก่อสร้างคืบหน้าไปเพียง 20% เท่านั้น และสัญญาที่ 4 งานสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ก่อสร้างโดย กลุ่มบริษัท ช.การช่าง นั้นมีความคืบหน้าไปเพียง 40% และ 2.โครงการก่อสร้างสำนักงานใหญ่ แห่งใหม่ของ กทพ. บริเวณพระราม 9 ซึ่งงานในส่วนนี้มีการก่อสร้างไปแล้วกว่า 99.99% และเนื้องานที่เหลือจะเป็นการเก็บงาน จึงไม่กระทบมากนัก
ทั้งนี้หากประเมินภาพรวมจะกระทบในส่วนใดบ้าง หลักๆ อาจจะกระทบในเรื่องของระยะเวลาสัญญาจ้างกับผู้ดำเนินงาน ซึ่งเรื่องนี้ต้องมาดูว่าจะเร่งรัดอย่างไรได้บ้าง หลังจากที่หยุดก่อสร้างไป 30 วัน เพื่อไม่ให้มีผลต่อระยะเวลาในสัญญา
เช่นเดียวกับ “อภิชาติ จันทรทรัพย์” รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า งานก่อสร้างในเขต กทม. และปริมณฑล เป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงาน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บางใหญ่-กาญจนบุรี และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงบางปะอิน-โคราช ซึ่งทางหลวงจะต้องมาประเมินถึงผลกระทบอีกครั้ง เนื่องจากปิดระยะเวลานาน
ตอกย้ำด้วย “พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ยอมรับว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบกับธุรกิจก่อสร้างและอสังหาฯอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดโควิดอย่างรวดเร็ว ทว่าการปิดแคมป์งานก่อสร้าง เป็นเวลา 1 เดือน จะส่งผลกระทบต่อการส่งมอบงาน ซึ่งอาจจะมีปัญหาตามมากับทั้งเจ้าของโครงการในส่วนของภาครัฐและเอกชน เช่น การก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ลูกค้าที่ซื้ออาจจะลังเลที่จะโอนกรรมสิทธิ์ หรือที่มีปัญหาอยู่แล้วจะยกเลิกการโอน หรือแม้แต่งานก่อสร้างภาครัฐก็มีค่าปรับความล่าช้า
“เมื่องานก่อสร้างถูกพักการส่งมอบงานล่าช้า ถ้าเป็นงานรัฐผู้ประกอบการจะถูกปรับ ถ้าเป็นคอนโดเลื่อนโอนลูกค้าอาจจะยกเลิก เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะถือได้ไหมว่าไม่ได้ล่าช้า ซึ่งยังไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนที่เข้ารับผิดชอบส่วนนี้ เพราะไม่ใช่แค่ว่าขาดรายได้หรือเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่มันมีค่าเสียหายปลายทางที่รออยู่”
รัฐบาลประกาศ “ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง” ครั้งนี้ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่หลวงในอนาคตหรือไม่!?! การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะชะงักอย่างที่คิดไว้หรือไม่!?! หรืองานนี้จะเป็นการฆ่าเวลาในการรับมือเชื้อไวรัสโควิด-19 1?! คำตอบเดาได้ไม่ยากกกก!!!