สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ หลวงพ่อพรหม ถาวโร อดีตเจ้าอาวาสวัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พระเกจิผู้มีชื่อเสียงและเกียรติคุณขจรไกล เป็นที่เคารพศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วหล้า ด้วยบารมีและความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะเล็บมือและเล็บเท้าของท่าน มีการตั้งสนนราคากันถึงหลักหมื่นทีเดียว แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว ศพก็ยังไม่เน่าเปื่อย จึงได้รับการบรรจุไว้ในโลงแก้ว เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาและสาธุชนได้มีโอกาสมานมัสการและขอพรอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน วัตถุมงคลของท่านที่มีมากมายหลายประเภท ศิษยานุศิษย์สร้างถวายก็เยอะ ซึ่งล้วนทรงพุทธาคมเป็นที่ปรากฏ เป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างสูงทั้งสิ้น อาทิ พระรูปเหมือนปั๊ม รุ่นนิ้วกระดก เป็นต้น หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค จ.นครสวรรค์ หลวงพ่อพรหม เป็นชาวเมืองกรุงเก่า หรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อปี พ.ศ.2427 ที่ ต.บ้านแพรก อ.มหาราช โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายหมี-นางล้อม โกสะลัง ในวัยเยาว์ได้ศึกษาร่ำเรียนหนังสือกับพระที่วัดใกล้บ้าน ได้ศึกษาอักษรขอมควบคู่กับภาษาไทยตั้งแต่ก่อนอุปสมบท เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดปากคลองยาง โดยมี หลวงพ่อถม วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ถาวโร" แล้วมาจำพรรษาที่วัดเขียนลาย จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยด้านปริยัติธรรมจนแตกฉาน ต่อมามีความสนใจในด้านวิปัสสนากรรมฐาน จึงตัดสินใจออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติธรรมชั้นสูงจนเข้าสู่เขตประเทศพม่า แต่ก็ยังไม่พบชัยภูมิที่เหมาะสมจะเป็นพุทธภูมิสำหรับภาวนาหาความสงบวิเวก จึงเดินธุดงค์ต่อไปจนมาถึง ´ภูเขาช่องแค´ เมื่อไปถึงพื้นที่ก็เกิดฝนตกหนัก ชาวบ้านจึงบอกทางให้ไปหลบฝนในถ้ำ คืนแรกท่านก็ได้มีนิมิตอันเกิดจากจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์มาแนะแนวทางการปฏิบัติธรรมชั้นสูงให้ ท่านจึงใช้ถ้ำแห่งนี้ในการฝึกฝนบำเพ็ญภาวนาจนแก่กล้า ศรัทธาของชาวบ้านก็เริ่มทยอยเข้ามา จากป่าอันรกร้างว่างเปล่าก็กลายเป็นเสนาสนะมากมาย พระภิกษุจากที่ต่างๆ เริ่มทยอยมาฝากตัวเป็นศิษย์รับคำสอนจากท่าน ท่านจึงซื้อที่ดินสร้างวัด กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ และเสนาสนะต่างๆ ให้ชื่อว่า ´วัดช่องแค´ และจำพรรษาที่นั่นตลอดมา จนมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2516 มากล่าวถึงวัตถุมงคลสำคัญอีก 1 พิมพ์ของท่าน นั่นคือ "เหรียญแจกทาน" ที่นับเป็นเหรียญยอดนิยมรองลงมาจากเหรียญรุ่นแรก เรียกได้ว่า ออกมาเพียง 1-2 เดือน สนนราคาก็ขยับขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว เหรียญแจกทาน พิมพ์สังฆาฏิยาว ปี 2515 เหรียญแจกทาน สร้างในปี พ.ศ.2515 โดยคณะกรรมการวัด เพื่อหารายได้สมทบทุนการก่อสร้างศาลาการเปรียญ ที่เรียกว่า “เหรียญแจกทาน” เนื่องจากคณะกรรมการได้นำเหรียญถวายหลวงพ่อจำนวน 3,000 เหรียญ เพื่อแจกเป็นทาน โดยใส่ขันวางไว้หน้ากุฏิ ให้ทุกคนหยิบไปได้คนละ 1 เหรียญ จึงนำมาเรียกชื่อเหรียญ ส่วนที่เหลือได้นำออกให้เช่าบูชา เหรียญนี้เริ่มแรกสร้างมีเพียงพิมพ์เดียว แต่เมื่อปั๊มไปได้จำนวนหนึ่งแม่พิมพ์ด้านหน้าเกิดชำรุด ทางวัดจึงให้ช่างแกะแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่กลายเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์สังฆาฏิสั้น และ พิมพ์สังฆาฏิยาว โดยสังเกตที่เส้นสังฆาฏิ สำหรับด้านหลังยังคงมีพิมพ์เดียว ‘พิมพ์สังฆาฏิสั้น’ มีเนื้อเหรียญสตางค์ 1 บาท, เนื้อเหรียญสตางค์สลึง, เนื้อทองเหลืองชุบทอง, เนื้อทองเหลืองรมดำและไม่ชุบทอง ส่วน ‘พิมพ์สังฆาฏิยาว’ มีเนื้อทองแดงผิวไฟ, เนื้อทองแดงรมดำ และเนื้อทองเหลืองรมดำ โดยทั้ง 2 พิมพ์นี้มีทั้งชนิดที่ตัดหู (เหรียญ) และตัดขอบเป็นซุ้มระฆัง ซึ่งมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่แจกคณะกรรมการ นอกจากนี้ยังมี “เนื้อทองระฆัง” สร้างพิเศษเพียง 9 เหรียญ ซึ่งไม่ออกให้เช่าบูชา และเนื่องด้วยเป็นเหรียญที่เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง จึงมีการทำเทียมเลียนแบบออกมามากมาย จึงต้องใช้การพิจารณาจุดชี้ตำหนิต่างๆ ให้ดี หลักการพิจารณาเบื้องต้นมีดังนี้ เหรียญแจกทาน พิมพ์สังฆาฏิยาว ปี 2515 ‘พิมพ์สังฆาฏิสั้น’ เส้นสังฆาฏิจะสั้น ปลายสุดอยู่แค่หน้าตัก เม็ดไข่ปลาใต้ฐานอาสนะ ทางขวามือของหลวงพ่อจะอยู่ระหว่างกลางของขอบระฆังชั้นที่สองกับเส้นใต้พระเพลา และปลายเส้นกรอบหนังสือคำว่า “หลวงพ่อพรหม” มีเส้นนูนขีดในแนวดิ่งขนานลงมากับเส้นกรอบ ‘พิมพ์สังฆาฏิยาว’ เส้นสังฆาฏิจะยาวลงไปจรดพื้นเหรียญ ดูเผินๆ เหมือนหลวงพ่อพรหมนั่งทับเส้นสังฆาฏิ เม็ดไข่ปลาใต้ฐานอาสนะ ทางขวามือของหลวงพ่อจะเรียงเอียงขึ้นไปหาเส้นใต้อาสนะ และปลายเส้นกรอบตัวหนังสือคำว่า “หลวงพ่อพรหม” มีรอยเส้นแกะพิมพ์เกิน เหลื่อมออกมาทางด้านหน้า เป็นเส้นนูนแหลมอยู่ 1 เส้น เหรียญแจกทาน พิมพ์สังฆาฏิยาว ปี 2515 สำหรับพิมพ์ด้านหลังมีจุดสังเกตดังนี้ อักษรตัว "มะ" มีเส้นซ้อนคล้ายจะทับกันเป็นสองตัว ทั้งที่จริงเป็นตัวเดียว, หัวตัว "อะ" ที่คล้าย ‘รอเรือ’ ตัวหลัง จะแยกกันเล็กน้อยคล้ายปากตะขาบ, ตรงคำว่า ‘ช่องแค’ เหนือตัว "ช" บริเวณไม้เอก มีเส้นนูนที่พื้นเหรียญเล็กน้อย และหางตัว "ง" มีเส้นแยกออกเป็นสองแฉกครับผม