ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต [email protected] เราต่างเป็นสิ่งใดกัน.. ‘ฉัน...เธอ...คุณ...ผม...ฯลฯ’ ทั้งหมดในสิ่งทั้งหมดคือสรรพนามแทนค่าของชีวิตที่มีสำนึกรับผิดชอบเป็นตัวรองรับ...แต่ครั้นคุณค่าจากการรองรับดังกล่าวถูกแปรเปลี่ยนเป็นกระบวนการแห่งความไร้สำนึกทุกสิ่งจึงสิ้นค่าลง ทั้งที่แท้จริงแล้ว...เราต่างคือโลกในส่วน” โลกของวันนี้กำลังตกอยู่ในห้วงของวิกฤตนานาชนิด อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์ในรูปแบบต่างๆแห่งชีวิตของมนุษย์ ที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เหตุนี้การแสวงหาวิธีจัดการกับความทุกข์จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า การหาทางออกจากบ่วงบาศแห่งวิกฤติที่มีอยู่และเป็นอยู่ ตลอดจนการแสวงหาคุณค่าจากการใช้ชีวิตในฐานะของความเป็นมนุษย์ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่เราทุกคนในโลกนี้จำเป็นที่จะต้องรับรู้ ‘เข้าใจด้วยหัวใจ’ และรู้สึกกับมันอย่างกระจ่างและถ่องแท้ ‘เธอคือโลก’ (You Are The World) หนังสือแห่งการรวบรวมคำบรรยายของ ‘กฤษณมูรติ’ ล้วนกล่าวถึงภาวะแห่งโลกในยามวิกฤติ โดยการโน้มน้าวผู้อ่านให้ดิ่งลึกลงไปสู่การสำรวจ‘โครงสร้างภายในจิตใจของตนเอง’..ด้วยการตั้งคำถามและร่วมค้นหาคำตอบในประเด็นของปัญหา...ที่เป็นความวิกฤติจนสามารถค้นหาคำตอบแห่งความขัดแย้งได้ด้วยตนเอง...เป็นการค้นหาคำตอบผ่านโครงสร้างอันซับซ้อนของจิตใจ...เป็นการเน้นย้ำถึงการเรียนรู้มิติทั้งที่เป็นด้านมืดและด้านสว่างที่มีอยู่และเกาะติดกับตัวตนด้วยตนเอง ว่ากันว่า...มนุษย์ในทุกหนทุกแห่งล้วนประสบกับภาวะวิกฤติ ล้วนตกอยู่กับเงื่อนงำอันร้อนร้ายของปัญหา แม้ภาพปรากฏที่ออกมาจะแตกต่างกัน แต่ก็มีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรง ปัญหาด้านเสรีภาพ...คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ... ทำอย่างไรจึงจะสร้างความผูกพันอย่างแท้จริงระหว่างมนุษย์ขึ้นมาได้...ทั้งนี้เพื่อที่จะให้ได้มีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยปราศจากความขัดแย้ง ทั้งกับตนเองและเพื่อนร่วมโลก และเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้คนของโลกในวันนี้จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ก่อความรุนแรงอยู่อย่างมีเสรีภาพ อยู่อย่างมีคุณธรรม...คำตอบที่กฤษณมูรติ ได้ให้ไว้ก็คือว่าเสรีภาพนับเป็นสิ่งสำคัญ แต่จะต้องมีความเข้าใจในการใช้เสรีภาพอย่างถูกต้อง... “เสรีภาพเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง แต่มิใช่เสรีภาพที่จะให้ปัจเจกชนทำอะไรก็ตามที่เขาพอใจจะทำ เพราะปัจเจกได้ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไข ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะใช้ชีวิตอยู่ ณ ที่ไหน...ได้ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขทางสังคม ทางวัฒนธรรม ขยายโครงข่ายความคิดทั้งหมดของเขา...เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นอิสระจากเงื่อนไขเหล่านี้ ไม่ใช่ในเชิงอุดมคติหรือในเชิงความคิด แต่เป็นอิสระจริงๆทางใจ เป็นอิสระที่อยู่ภายใน ‘กฤษณมูรติ’ ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า...แท้จริงแล้วโลกของเราถูกแบ่งออกจากกัน...เป็นอุดมการณ์ที่แยกออกเป็นแต่ละศาสนา สถานการณ์ดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดอัตตาที่คาดหมายไม่ได้ แต่ที่แน่นอนที่สุดมันก่อให้เกิดความเกลียด และความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันของอุดมการณ์ต่างๆที่เกิดตามเงื่อนไขของการแยกส่วน...ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่โง่เขลาและอาจจะเป็นทั้งในด้านศาสนาหรือการเมือง..เพราะมันคือการคิดภายในกรอบ พูดในกรอบ อันนำไปสู่การแบ่งแยกมนุษยชาติ ออกจากกันในที่สุด... แต่ถึงอย่างนี้แล้วทำไมคนส่วนใหญ่จึงให้ความสำคัญกับ ‘เหตุการณ์’ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับความคิด...ความคิดจะก่อรูปเป็นนามธรรมและผู้คนก็พยายามที่จะใช้ชีวิตตามนั้น ก่อรูปเปนอุดมการณ์มีความพยายามที่จะปฏิบัติตามอุดมการณ์ ซึ่งถือเป็น‘เสรีภาพ’ แต่ กฤษณมูรติ กลับมองเห็นว่า “เสรีภาพไม่ใช่ความคิด ปรัชญานิพนธ์ เรื่องเสรีภาพนั้นไม่ใช่เสรีภาพ ไม่ว่าเราจะเป็นอิสระหรือไม่ก็ตาม เรากำลังอยู่ในกรงขัง ไม่ว่ามันจะเป็นกรงขังที่ได้รับ การตกแต่งดีเพียงใด ผู้ถูกคุมขังจะเป็นอิสระก็ต่อเมื่อเขาไม่ได้อยู่ในกรงขังอีกต่อไปเท่านั้น” จากสภาพการณ์โดยทั่วไป มีปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วทั้งโลก มีการแพร่ขยายความเกลียดชัง และความรุนแรง...คนดำต่อต้านคนขาว...ฮินดูต่อต้านมุสลิม มีความโหดเหี้ยมอย่างเหลือเชื่อและมีความรุนแรงมากมายที่หัวใจของมนุษยชาติ ซึ่งก็ยังมีความรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง เหตุนี้ กฤษณมูรติ จึงตั้งคำถามเหมือนเป็นการตอกย้ำว่าแท้จริงแล้ว... “ความคิดเคยแก้ปัญหาของมนุษย์ได้หรือไม่” ดูเหมือนว่ากฤษณมูรติ จะย้ำให้การแก้ปัญหาต่างๆเป็นไปอย่างฉับพลัน ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นปัญหาในเรื่องความยากจน ความอดอยากขาดแคลน หรือความหดหู่สิ้นหวัง ในทวีปเอเชียไปจนถึงปัญหาอันยิ่งใหญ่ในซีกโลกตะวันตก ทุกๆปัญหาล้วนเขม็งเกลียวด้วยความรุนแรงและไร้คุณธรรมและมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นทุกที แต่โชคไม่ดีที่คนส่วนใหญ่มักจะคิดพึ่งพิงคนอื่น พึ่งพิงความคิดของผู้เชี่ยวชาญและชำนาญมาแก้ปัญหาให้กับเรา ‘โลกของเรา’ โลกแห่งชีวิตของเราจึงถูกยึดครองศักยภาพขั้นสูงสุดในการแก้ปัญหาจากบุคคลอื่น ศาสนาทั่วโลกได้เสนอหนทางหลบหนีมากมายหลายรูปแบบจากปัญหาเหล่านั้น มีความคิดว่า วิทยาศาสตร์ จะช่วยแก้ปัญหาอันซับซ้อนของมนุษย์ได้ การศึกษาน่าจะช่วยแก้ปัญหาและทำให้ปัญหาจบสิ้นลง แต่เราก็ได้เห็นแล้วว่า ปัญหากำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก ปัญหายังกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน ซับซ้อน และดูเหมือนไม่จบสิ้น เพราะในที่สุดเราก็รู้ตัวว่าเราไม่อาจพึ่งพิงคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นนักบวช นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญใดๆ หากใครสักคนตั้งคำถามขึ้นมาในทำนองว่า “ฉันจะทำอย่างไร เพื่อส่งผลถึงความสับสนวุ่นวายทั้งหมดนี้ได้?” กฤษณมูรติ ก็มองว่านั่นน่าจะเป็นคำถามที่ผิดพลาด แต่หากมีคำถามว่า “ฉันจะทำอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับความวุ่นวายนี้” คุณก็จะได้คำตอบอันเบ็ดเสร็จของคำถามนี้ว่า... “คุณไม่สามารถทำอะไรได้”... ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ามันเป็นคำถามที่ผิด... กฤษณมูรติ...ตอกย้ำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ว่า เราจำเป็นต้องเปลี่ยน แปลงโลก เราจำเป็นต้องมีการปฏิวัติอย่างสุดขั้ว เราไม่อาจที่จะมีชีวิตอย่างที่กำลังใช้ชีวิตกันอยู่นี้ ชีวิตอย่างชนชั้นกลาง ชีวิตที่ฉาบฉวย ชีวิตที่ดำเนินไปอยู่อย่างวันๆ ชีวิตที่เฉยชาต่อความเป็นไป เพราะในฐานะของความเป็นมนุษย์ เราสามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้อย่างสิ้นเชิง และเมื่อนั้นเองอะไรก็ตามที่เราทำก็จะกลายเป็นความถูกต้อง...เมื่อนั้นเราจะไม่เกิดความขัดแย้งในตนเองและนำความขัดแย้งไปสู่ภายนอก เพราะนั่นคือต้นเหตุของปัญหา ประเด็นสำคัญ ณ ที่ตรงนี้ก็คือว่า เราทุกๆคน จะกำกับชีวิตของตนได้อย่างไร ในเมื่อเราต่างทำอะไรในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่ในช่วงวิกฤติแต่เป็นการกระทำจริงๆในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด “ความสำคัญคือชีวิต และความสำคัญนี้คือความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง” และบทสรุปที่ กฤษณมูรติ ให้ไว้ต่อประเด็นของความวิกฤติและขบวนการแก้ปัญหาทั้งหมด ผ่านเงื่อนงำของความคิด ผ่านเงื่อนงำแห่งเสรีภาพ ก็คือข้อคำถามอันสำคัญที่ว่า “ฉันหรือคุณ...จะเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนอย่างไร? เพื่อที่ว่าพรุ่งนี้เราจะตื่นขึ้นมาราวกับเป็นคนใหม่ที่เผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถแก้ปัญหาโดยทันทีทันใด ไม่แบกมันเป็นภาระ จนกระทั่งมีความรักอันยิ่งใหญ่บังเกิดขึ้นในจิตใจของคุณ จนสามารถมองเห็นความงามของขุนเขาและแสงแดดที่ต้องกระทบผิวน้ำได้อย่างที่มันเป็นความเปลี่ยนแปลง “ชีวิตของมนุษย์ทุกวันนี้เหมือนถูกจัดวางไว้อย่างไร้ระเบียบ บ้างซุกตัวหลบซ่อนอยู่ในเงามืดของวันเวลา บ้างหลบลี้อยู่กับความผันผวนของอารมณ์เร้นลึก และบ้างก็ระเกะระกะอยู่กับจิตสำนึกที่ขาดวิ่น” เกิดอะไรขึ้นกับโลกที่มนุษย์กำลังมีชีวิตอยู่? “เหตุเพราะความคิดของมนุษย์ชั่วร้าย” หรือ “เหตุเพราะโลกที่มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่นั้นโหดร้ายเอากับจิตวิญญาณของมนุษย์” กันแน่ ความคิดจึงเปรียบได้..ดั่งสิ่งที่มีอิทธิพลล้ำลึกต่อการตีความของ ‘สิ่งแวดล้อมรอบตัว’ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในหมู่มนุษย์ด้วยกัน เพราะหากว่ามนุษย์แต่ละคนต่างคิดต่างเข้าใจกันไปคนละทาง ก็อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่ในความสัมพันธ์ของกันและกันขึ้นได้ เมื่อเป็นดังนี้ การพยายามทำความเข้าใจในความคิดที่เกี่ยวข้องกับตนเองจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้...มนุษย์จะมี ‘ขีดคั่นของคุณค่า’ ที่แตกต่างจากสัตว์ก็ตรงนี้ เพราะเหตุที่ว่าสัตว์ไม่มีความคิดในเรื่อง ‘ตัวตน’ ‘เธอคือโลก’ (You are the world) รวมคำบรรยายของกฤษณมูรติ ปราชญ์แห่งยุคสมัยคนสำคัญของอินเดีย แปลเป็นภาษาไทยโดย เนตรดาว แพทยกุล...ผู้ให้สำนึกต่อโลก ชีวิต และสิ่งแวดล้อมอย่าง ‘อบอุ่นอ่อนโยน’ เสมอ...ถือเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีค่ายิ่ง ต่อการอ่านในยามที่อาจจะเรียกได้ว่าทุกๆชีวิตต้องเผชิญหน้ากับ “ปัญหาในเชิงวิกฤติที่เกิดขึ้นกับโลก” ซึ่งนับวันมีแต่จะรุนแรงโหดร้ายไร้ทางออกในการแก้ปัญหาและมีผลกระทบอย่างหนักหน่วง ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตของทุกๆคน การเข้าใจตนเองด้วยหัวใจ การหยั่งรู้และรู้สึกของความเป็นไปในวิกฤติของโลก และชีวิตด้วยสำนึกแห่งจิตวิญญาณของตนจริงคือหนทางแห่งการแสวงหาคำตอบอันถูกต้องในการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางปมปัญหาอันร้อนร้ายทั้งปวงแห่งเงื่อนไขที่ว่าในฐานะของความเป็นมนุษย์ “เราทุกคนคือโลก” ... “ในตัวเราเองมีโลกทั้งใบอยู่...และถ้าคุณรู้ว่าจะมองดูและเรียนรู้อย่างไรแล้ว ประตูก็อยู่ที่นั่นกุญแจก็อยู่ในมือคุณ ไม่มีใครในโลกสามารถมอบกุญแจหรือช่วยเปิดประตูให้คุณ ยกเว้นตัวคุณเอง”