ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดกรอบบนของประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 นี้ลงเป็น 6.5 แสนคน โดยเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ยังคงกรอบล่างของประมาณการไว้ตามเดิมที่ 2.5 แสนคน โดยประเมินทิศทางตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ไว้ 2 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 ความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ยังมีอยู่สูงและอาจจะลากยาวกว่าที่สถานการณ์จะคลี่คลาย ทำให้มาตรการผ่อนคลายเงื่อนไขการเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่นำร่องยังคงมีความเข้มงวด ขณะที่พื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ อาจจะมีความล่าช้าออกไปจากแผนที่วางไว้ว่าจะมีการทยอยผ่อนคลายเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ภายใต้สมมติฐานนี้ คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.08 แสนคน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนคน กรณีที่ 2 ทางการสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ในช่วง 1-2 เดือนต่อจากนี้ และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ มีความครอบคลุมเป็นไปตามแผน และในพื้นที่ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานีสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี จนทางการสามารถผ่อนคลายเงื่อนไขเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งกรณีนี้มีโอกาสที่จะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีหลังอยู่ที่ประมาณ 6.08 แสนคน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของหลายๆ ประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 6.5 แสนคน (การปรับลดประมาณการกรอบบนจากเมื่อเดือนเม.ย 64 เนื่องจากในเดือนมิ.ย. 64 การระบาดของโควิด-19 ในประเทศกลับมามีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง กอปรกับการระบาดในหลายประเทศยังไม่ดีขึ้น) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การที่ทางการไทยได้ตั้งเป้าหมายก้าวต่อไปที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 120 วัน (ประมาณต้นไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลท่องเที่ยว) เป็นแนวทางที่ดี เพื่อให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ อย่างไรก็ดี แม้ทางการเตรียมที่จะเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศและพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างครอบคลุมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยตามแผนที่วางไว้ แต่เนื่องจากตามแผนการจัดหาวัคซีนที่จะทยอยมาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ที่เร่งตัวขึ้นในหลายพื้นที่ อาจมีผลต่อแผนการฉีดวัคซีนเดิมที่วางไว้ที่คงต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยนอกจากภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ที่เปิดได้ในวันที่ 1 และ 15 ก.ค. 64 แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้การฉีดวัคซีนสะสมในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะครอบคลุมและเปิดการท่องเที่ยวได้ในไตรมาส 4 แต่ก็ยังมีความท้าทายที่จะต้องควบคุมให้โควิดคลี่คลายลงให้ได้โดยเร็วที่สุด สำหรับจังหวัดนำร่องอื่น เช่น ตรัง พังงา ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์นั้น ในบางจังหวัดยังมีความไม่แน่นอนและอาจยังต้องใช้เวลาสำหรับการฉีดวัคซีนสะสมเข็มแรกให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่หรือเข้าหา 70% ตลอดจนจำเป็นที่จะต้องเผื่อเวลาสำหรับการเตรียมการด้านต่างๆ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์และการทำการตลาดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนที่จะเปิดการท่องเที่ยวด้วย "แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินี้ นับเป็นบททดสอบสำคัญ ซึ่งหากในภูเก็ตและสุราษฎร์ธานีสามารถควบคุมสถานการณ์โดยไม่เกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ในระยะถัดไป โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งสายการบินนานาชาติจากยุโรปมีแผนที่จะเปิดเส้นทางการบินมายังภูเก็ตในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ขณะที่ สิ่งเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆที่คงต้องเฝ้าระวังและรักษาระดับมาตรฐานการป้องกันการระบาดของโควิดที่เข้มงวด" อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากการระบาดในประเทศแล้ว ขณะนี้ในหลายๆ ประเทศ ก็กลับมาเผชิญกับความเสี่ยงการระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันกลับมาสูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากภูมิภาคยุโรป ซึ่งตั้งแต่ที่ไทยได้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่ม STV เมื่อเดือน ต.ค.63 จนถึงปัจจุบันพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจากภูมิภาคยุโรปเป็นตลาดหลักมีสัดส่วนกว่า 45% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวในไทยทั้งหมด โดย ณ ปัจจุบัน หลายประเทศในยุโรปกลับมาเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงขึ้น อาทิ สหราชอาณาจักร และโปรตุเกส ขณะเดียวกันยังต้องติดตามสถานการณ์โควิดจากการแข่งขันฟุตบอลยูโร EURO 2020 ในครั้งนี้ ที่มีการเปิดให้แฟนบอลเข้าชมในสนาม นับเป็นบททดสอบสำคัญของการจัดงานระดับโลก ซึ่งหากไม่เกิดการระบาดของโควิดเพิ่มขึ้น ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นต่อการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น สถานการณ์การแพร่ระบาดและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ยังคงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการดำเนินแผนการเปิดการท่องเที่ยวทั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องไปหลังจากนั้น นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หน่วยงานท่องเที่ยวควรมีการตั้งเว็บไซต์ท่องเที่ยวเฉพาะเพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว โดยเฉพาะเงื่อนไขและข้อปฏิบัติของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย ให้เข้าถึงข้อมูลที่ชัดเจนและทันสถานการณ์ การจัดทำข้อมูลสถานการณ์การฉีดวัคซีนในประเทศเป็นรายจังหวัดบนเว็บไซต์ท่องเที่ยว เช่น ข้อมูลอัตราการฉีดวัคซีนเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเลือกเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ