วัยรุ่นท้องไม่พร้อม ไม่กล้าบอกครู หวั่นโดนไล่ออก แนะ ศธ.ออกแนวปฏิบัติให้ทุกโรงเรียน
วันที่ 2 พ.ย.60 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 เปิดแถลงข่าว "เด็กที่ท้องในวัยเรียน อยู่ในวิกฤติ สถานศึกษาหยุดซ้ำเติม"
โดย น.ส.ธิติพร ดนตรีพงษ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 กล่าวว่า ในรอบปี 2560 ที่ผ่านมา มีผู้รับบริการโทรเข้ามาจำนวน 44,416 ราย แบ่งเป็นปรึกษาเรื่องเอดส์ ร้อยละ 58 และปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม ร้อยละ 41.67 หรือ 18,507 ราย โดยสายปรึกษาท้องไม่พร้อมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 37 และเป็นคนที่ตั้งท้องแล้วเพิ่มขึ้น ร้อยละ 75
ทั้งนี้ จากสายปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อม ร้อยละ 26 เป็นคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีน.ส.ธิติพร กล่าวต่อไปว่า จากสายท้องไม่พร้อมทั้งหมด พบว่ามีคนตั้งท้องแล้ว 10,870 คน แบ่งเป็นอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 17 โดยคนที่ท้องแล้วส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 57 ไม่คุมกำเนิดเลย สาเหตุจากไม่ได้คิดว่าจะมีเพศสัมพันธ์ หรือความเชื่อบางอย่าง เช่น คิดว่ามีเพศสัมพันธ์ครั้งเดียวไม่ทำให้ท้อง การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด หรือขาดทักษะ อำนาจต่อรองน้อยกว่าคู่ ขณะที่ร้อยละ 42 คุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพต่ำ อย่างการหลั่งนอก ใช้ยาคุมฉุกเฉิน การนับหน้า 7 หลัง 7 ซึ่งเกิดจากการมีข้อมูลที่ไม่รอบด้าน หรือเกิดจากการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ที่มีคุณภาพจึงต้องเลือกใช้การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำ "วัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม มีแนวโน้มจะบอกเรื่องนี้กับแม่มากที่สุด แต่มีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่กล้าบอกผู้ปกครอง เพราะไม่ต้องการให้พ่อแม่เสียใจ จึงจัดการชีวิตด้วยตัวเอง เหล่านี้เป็นสัญญาณว่า วัยรุ่นมีความผูกพันกับพ่อแม่มาก แต่ชีวิตก็อาจจะไม่พลาดได้ หากพ่อแม่ส่งสัญญาณว่าพร้อมจะรับฟังและอยู่เคียงข้าง ไม่ว่าปัญหาจะหนักแค่ไหน เด็กเหล่านี้ก็พร้อมที่จะปรึกษา และมีทางออกในชีวิตที่ปลอดภัยได้ ขณะเดียวกัน เด็กเลือกที่จะไม่ปรึกษาครู ทั้งที่ครู เป็นผู้ใหญ่ในชีวิตที่เด็กปรึกษาได้"น.ส.ธิติพร กล่าว นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ หัวหน้าโครงการสายด่วนฯ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า สถานศึกษาต้องปรับท่าที เพราะทัศนคติ ท่าทีของผู้บริหาร รวมทั้งแนวปฏิบัติ ที่ผ่านมาของโรงเรียนจำนวนหนึ่ง ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะช่วยเหลือเด็ก แต่กลับมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการเรียนต่อ แม้พ่อแม่จะพยายามทำให้ลูกได้เรียน หรือเด็กต้องการเรียน แต่เด็กที่ท้องหลายคนถูกกระทำจากโรงเรียน คือ ให้ออกจากสถานศึกษา ย้ายที่เรียนให้ หรือพักการเรียน เป็นต้น รองผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นออกมาบังคับในช่วงปลายปี 2559 สายด่วนฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ปกครองโรงเรียนมัธยมฯ 1 ราย อาชีวศึกษา 1 ราย ที่จะให้นักเรียนออกจากสถานศึกษา เพราะปัญหาจากการตั้งครรภ์ และมีอีก 2 ราย จากระดับมหาวิทยาลัยที่ให้นักศึกษาพักการเรียน ทั้งๆ ที่ใกล้จะเรียนจบ ทำให้ต้องจบล่าช้า ซึ่งซ้ำเติมปัญหาของนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ ที่กำลังจะเตรียมเป็นแม่ สถานศึกษาจึงต้องจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างจริงจัง และต่อเนื่องตามกฎหมาย โดยครอบคลุมเรื่องทัศนคติ/วิถีชีวิตและฝึกทักษะที่สำคัญของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยกำหนดให้มีคาบเรียนที่แน่นอน รวมถึงการเตรียมครูผู้สอนให้มีทัศนคติที่เป็นบวก เปิดกว้างในเรื่องเพศ พร้อมให้ข้อมูลที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง นายสมวงศ์ กล่าวว่า ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ต้องออกแนวปฏิบัติสำหรับทุกสถานศึกษากรณีเด็กประสบปัญหาท้องไม่พร้อม ดังนี้ 1.ห้ามไล่เด็กออก หรือให้ย้ายโรงเรียน โดยที่เด็กหรือผู้ปกครองไม่สมัครใจ 2.การวางแผนเรียนต่อเป็นสิทธิของนักเรียน โดยโรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งที่นักเรียนต้องการ 3.ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่เป็นมิตร เป็นความลับ และเป็นประโยชน์กับเด็กที่ประสบปัญหามากที่สุด และ 4.ผู้บริหารสถานศึกษาควรทำความเข้าใจในทัศนะของครูว่าเด็กกำลังเผชิญปัญหา ครูไม่ใช่เป็นผู้ซ้ำเติม แต่มีบทบาทช่วยเหลือ ทั้งนี้ทางมูลนิธิฯ จะทำจดหมายยื่นข้อเสนอต่อ ศธ.ต่อไป