ครม.เคาะ5พันล.เยียวยาลูกจ้าง-นายจ้าง ถูกพิษโควิดเล่นงาน 1 เดือน ด้าน"ม็อบส้นสูง" บุกทำเนียบฯ ร้องนายกฯ เยียวยา 5 พันต่อเดือน หลังสั่งปิดกิจการ แต่ไม่เยียวยาแรงงานนอกระบบประ กันสังคม เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. ได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดควบคุมไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 25 ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และนอกระบบ ในกิจการก่อ สร้าง กิจการที่พักแรม และบริการด้านอาหาร กิจกรรมสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ในระยะเวลา 1 เดือน โดยใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือ กลุ่มแรก คือ แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้างตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณี ว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่ แต่ไม่เกิน 90 วัน กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แยกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.64 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน "กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียน ผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนก.ค.เช่นกัน โดยผู้ประกอบการ จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท และกรณีที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ยัง ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.นี้" ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มี น.ส.ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานกลุ่ม Empower Thailand พร้อมตัวแทนพนักงานในสถานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ และพนักงาน บริการอิสระออนไลน์ เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯผ่านนายสมภาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เพื่อเรียกร้องให้เยียวยาเงินจำนวน 5,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะกลับมาเปิดร้านได้ตามปกติ รวมทั้ง ผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการ เนื่องจากคำสั่งปิดสถานบันเทิง ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและโดยไม่มีมาตรการเยียวยาออกมา ไม่ครอบคลุมแรงงาน ที่ไม่มีประกันสังคม และกลุ่มอาชีพอิสระที่รับค่าจ้างแบบรายวันเช่น นักดนตรี พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์ พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดกลางคืน ร้านอาหารข้างทางต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ทางกลุ่ม ได้ทำกิจกรรม "สั่งปิดได้ต้องเยียวยาด้วย ตบส้นสูงพบกันหน้าทำเนียบฯ" โดยนำรองเท้าส้นสูง 30 คู่ มาเรียงด้านหน้าประตู 3 ทำเนียบฯ และมีข้อความเขียนติดไว้ อาทิ การเยียวยารัฐไม่แก้ปัญหา แต่แก้ผ้าเอาหน้ารอด เป็นต้น