เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่สมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี ต.หนองชาก อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี “นายกเป้า”นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงเรื่องปัญหาฝนแล้งในพื้นที่ 5 อำเภอใน จ.ชลบุรี อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง อ.หนองใหญ่ อ.พนัสนิคม อ.เกาะจันทร์ ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยว่า “ในช่วงต้นปี 64 ที่เกษตรกรเริ่มทำการปลูกอ้อยกัน ฝนในพื้นที่ จ.ชลบุรีดีมาก ฝนตกมากจนทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ปลูกอ้อย ๆที่ปลูกใหม่เจอน้ำท่วมก็ได้รับผลกระทบเกิดความความเสียหาย พอถึงฤดูแล้ง อ้อยก็พอจะฟื้นขึ้นบ้าง เกษตรกรจึงเริ่มใส่ปุ๋ยแต่หลังจากนั้นฝนกลับทิ้งช่วงทั้งที่ถึงฤดูฝนนานประมาณ 2 เดือนส่งผลให้อ้อยที่ปลูกไว้เสียหายหมด ในอดีตที่ผ่านมาถ้าเกษตรกรชาวไร่อ้อยเจอปัญหาภัยแล้งอย่างนี้ ทางหน่วยงานภาครัฐ หรือคนเป็นผู้แทนในพื้นที่ก็จะแจ้งเรื่องไปที่กระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมจังหวัดซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องอ้อยของเกษตรกรโดยตรง ประสานไปยังกรมฝนหลวงเพื่อทำฝนเทียมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย แต่ปัจจุปันก็ไม่มีหน่วยงานภาครัฐลงมาดูแลแก้ปัญหาในเรื่องภัยแล้งให้กับชาวไร่เลย นายเริงศักดิ์ ผจก.โรงน้ำตาล หนองบัว ก็บอกผมว่า ทำไมสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี ไม่ทำหนังสือถึงเลขาธิการอ้อยและน้ำตาล หรือท้องถิ่น เพื่อขอฝนเทียมมาแก้ปัญหา ผมบอกว่าหน้าที่จริง ๆ เป็นหน้าที่ของส.ส.ชลบุรี โดยเฉพาะในเขตที่ 4 เรามี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ถึง 2 ท่านคือ ส.ส.สุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับ ส.ส.สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.3 สมัย ที่เป็นคนสนิทของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ทำไม 2 ส.ส.ถึงไม่เอาปัญหาของเกษตรกรนำเสนอถึงภาครัฐทั้งที่เป็นฝ่ายรัฐบาลว่าในพื้นที่ อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง อ.หนองใหญ่ อ.เกาะจันทร์ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เจอปัญหาฝนแล้ง ถ้าทำฝนเทียมในช่วงนี้โอกาสฝนตกสูงมาก เพราะเมฆรวมตัวกัน ผมก็ขอฝาก 2 ส.ส.ให้ลงมาดูแลแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรชาวไร่บ้าง
นายจิรวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่า “ปริมาณอ้อยทั้งประเทศมีปรกติจะมีปริมาณ 130 ล้านตัน แต่ปีที่ผ่านมาเหลือเพียง 60 ล้านตัน เกิดจากอะไร 1.ราคาผลผลิตไม่ดี 2.ภาครัฐไม่เอื้ออำนวยเรื่องปัญหาแรงงาน ข้อบังคับเกี่ยวกับยาที่ใช้ในแปลง 3.ชาวไร่ต้องพึ่งพาเทวดาอย่างเดียว ทุกวันนี้เกษตรกรต้องขอเทวดาให้ทำให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาลพึ่งภาครัฐไม่ได้ และในปี 64 เชื่อว่าปริมาณอ้อยทั้งประเทศจะเหลือไม่เกิน 70 ล้านตันถ้าภาครัฐยังไม่มาดูแลแก้ปัญหาภัยแล้ง ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าเกษตรกรชาวไร่จ.ชลบุรี ทำไร่อ้อยไม่ไหวจะหันไปปลูกพืชไร่อะไรทดแทน นายจิรวุฒิ กล่าวว่า “อย่างตัวผมเอง ผมได้ไถที่ ๆ ปลูกอ้อยประมาณ 300 ไร่ทิ้ง มันสำปะหลังผมก็ไม่ปลูกเพราะเป็นโรค ตอนนี้หันมาปลูกไม้ยูคาลิปเป็นพืชทดแทนเพราะ 1.เอาต้นไปทำไม้เข็มได้ 2.เอาเศษไปเป็นไม้นิ้ว 3.เอาเศษไปทำขยะชีวมวล เกษตรกรจึงหันมาปลูกต้นยูคาลิปกันเยอะ ถ้าพื้นที่ดี ๆ 5 ปีตัดขายได้ไร่ละ 2.5-3 หมื่นบาท ในส่วนเรื่องอ้อยถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ผมต้องขอยอมแพ้เลิกปลูกอ้อยแน่นอน เพราะความขัดแย้งใน จ.ชลบุรีมันสูง ตั้งแต่เรื่องการจัดตั้งสมาคมอ้อยที่เกิดขึ้นใหม่ ที่ผ่านมาผมก็ต้องสู้เพื่อให้สมาคมฯยังอยู่ ก่อนหน้าสมัยพ่อผมอยู่ จ.ชลบุรี มีปริมาณอ้อยเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ปัจจุปันเหลือเป็นอันดับรองบ๊วยของประเทศ เราจะไปสู้ทำไม โดยเฉพาะข้าราชการอ้อยและน้ำตาล ใครยึดอำนาจรัฐสั่งการอะไรมาก็ต้องสนองนโยบายนั้น ผมสู้กับชาวไร่ผมไม่กลัว แต่ผมต้องมาสู้กับข้าราชการตรงนี้ทำให้ผมเบื่อและพร้อมที่จะเลิกปลูกอ้อยในฤดูกาลหน้า ยิ่งในปีนี้ราคาอ้อยที่รัฐบาลกำหนดมาตันละไม่ถึง 1 พัน อย่างนี้ไปไม่รอดแน่นอน ปุ๋ยก็แพง น้ำมันก็ขึ้น แรงงานก็ไม่มี ภาครัฐยังบังคับให้ตัดอ้อยสดถึง 80 % อ้อยเผา 20 % คนงานก็ไม่ตัดอ้อยสด จะให้ทำอย่างไร จะไปซื้อเครื่องตัดอ้อยมาใช้ รถมือสอง 8-9 ล้าน รถใหม่ 13-14 ล้านบาท ซื้อรถตัดอ้อยมาทำงานปีละ 100 วัน เอาเงินไปซื้อรถแบคโฮคันละ 4 ล้านมา ได้ทำงานทั้งปี ใครจะไปซื้อรถตัดอ้อยมาใช้ พวกผมคงไม่ทำและไม่สู้แล้ว