โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระดมสมองผ่านคลับเฮาส์ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยยังคงมุ่งหารือกันถึงการใช้ สมุนไพร และแพทย์แผนไทยตัดวงจรโควิดในชุมชน ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น จนโรงพยาบาลไม่มีเตียงที่จะรองรับได้ โดยผู้เข้าร่วมหารือประกอบไปด้วย แพทย์แผนไทย เภสัชกร และประชาชนผู้สนใจ โดยในส่วนของแพทย์แผนไทย จากมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังพบว่า การแพร่ระบาดของโรคในลักษณะเดียวกันกับโควิด 19 เคยเกิดขั้นมาแล้ว มีบันทึกไว้ในคัมภีร์ตักกะศิลา สมัยก่อนเรียกว่า ไข้พิษ ซึ่งหากไม่รักษาให้ทันท่วงที ก็จะพัฒนาเป็นไข้กาฬ ที่ลงไปในอวัยวะสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะตับ แต่โควิดรอบนี้ลงปอด เพราะฉะนั้นแนวทางในการรักษาคือต้องคุมไข้ คุมความร้อน กระทุ้งพิษให้ออกมาแล้วให้ยาบำรุงปอด รักษาตามอาการอย่างต่อเนื่อง
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร จากอภัยภูเบศร ตอนนี้เราจะทำอย่างไรเพื่อเปิดบทบาทของแพทย์แผนไทย ในช่วงป้องกันโรค โดยอาจนำทฤษฎีแพทย์แผนไทยใส่เมนูอาหาร สร้างตำรับอาหารแพทย์แผนไทย ปรับตามธาตุ และระบบน้ำเหลือง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ในการรักษาช่วงแรก ถ้ายาขาวที่ใช้กันอยู่ มีความเผ็ดร้อน ผู้สูงอายุทนไม่ได้ ก็ปรับเป็นเครื่องดื่มมะนาวน้ำผึ้ง เพื่อเติมธาตุไฟแทน รวมถึงการกินเครื่องเทศในกลุ่มของการสร้างภูมิคุ้มกันด้วย ซึ่งทุกเรื่องต้องให้ความรู้ในระดับชุมชน
ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญช้าว จากอภัยภูเบศร กล่าวว่า ตามที่กรมการแพทย์ประกาศออกมาแล้วว่า ผู้ป่วยกทม.ที่ติดโควิด และอยู่ในกลุ่มสีเขียว ต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเตรียมการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ป่วยหนัก ซึ่งได้มีผู้ป่วยมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า ในช่วงที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ ก็ไปหาฟ้าทะลายโจรมารับประทาน แต่ปัญหาคือ ขาดองค์ความรู้ว่าควรจะใช้ในปริมาณเท่าไร โดยส่วนตัวของผู้ป่วยรายดังกล่าว เข้าถึงโซเชียล สามารถใช้ฟ้าทะลายโจรบรรเทาอาการ ในระหว่างที่รอเตียง และสามารถควบคุมไม่ให้ลงปอดได้ทัน ซึ่งทำให้เรามาคิดว่า การกระจายฟ้าทะลายโจรลงสู่ชุมชนต้องดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เพื่อตัดวงจรโควิด และการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเป็นเอกสารความรู้แจกด้วย เพราะมีกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่เข้าไม่ถึงโซเชียล อีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่รับรู้ข้อมูล สอดคล้องกับความเห็นของสมาคมเภสัชชุมชนที่มองวา กระบวนการติดตามอาการ ไม่ใช่แค่ส่งยา หรือให้ประชาชนไปหาซื้อกันเอง เพราะโรคก็มีพัฒนาการที่เร็ว สิ่งที่ทำได้เวลานี้คือสร้างจิตอาสา เป็นม้าเร็วชุมชน สร้างระบบดูแลผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงบริการ และส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการเยอะอย่างไร สิ่งที่น่าห่วงคือ กลุ่มที่เข้าไม่ถึงโซเชียล และกลุ่มาที่ไม่รู้ตัวว่าป่วย เราจะสร้างระบบดูแลอย่างไร ปลดล็อคข้อกฎหมายตรงไหนได้บ้าง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรมการแพทย์ ได้ให้แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดที่บ้าน โดยเบื้องตันให้โรงพยาบาลประเมินผู้ป่วย ที่มีอาการน้อย หรือ กลุ่มสีเขียว มีความยินยอมที่จะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน จากนั้นจะประเมินปัจจัยแวดล้อม เช่นมีห้องนอน หรือ ห้องน้ำ ที่สามารถแยกการใช้งานได้หรือไม่ หากคนกลุ่มนี้มีโรคประจำตัวต้องเป็นผู้ที่มีอาการคงที่สามารถควบคุมโรคได้ โดยทีมแพทย์จะมีการส่งที่วัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจน ส่งให้กับผู้ป่วยที่บ้าน โดยมีทีมแพทย์ให้คำปรึกษา สอบถามอาการผู้ป่วย ผ่านโทรศัพท์ วันละ 1 ครั้ง หากมีไม่มีอาการ แพทย์จะสั่งจ่าย ยาฟ้าทลายโจร แต่ถ้าเริ่มมีอาการ หรือมีโรคประจำตัวที่สามารถควบคุมได้ แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ที่บ้าน พร้อมกับส่งอาหารให้ผู้ป่วยที่บ้าน 3 มื้อ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ทางโรงพยาบาลจะเบิกจ่ายกับ สปสช. โดย เป็นค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท ค่าดูแลผู้ป่วยร่วมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อ วัน โดยแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดที่บ้านมีการนำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถีในผู้ป่วย 18 ราย พบว่า 16 รายอาการดีขึ้น ส่วนอีก 2 รายอาการแย่ลง ถูกสั่งกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถีต่อ