“ทิพานัน” เชื่อหากรักษาโควิดที่บ้านลดปัญหาเตียงล้น แต่บ้าน-ระบบต้องพร้อมด้วย ทุกฝ่ายต้องเร่งทำความเข้าใจ Home Isolation หากใช้จริง ยันรัฐบาลไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยโควิดโดดเดี่ยว ต้องได้รับการรักษาดูแลทุกคน วันที่ 29 มิ.ย.64 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมการประสานงานและติดตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประจำกลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต กลุ่มกรุงธนเหนือ กล่าวภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการฯที่มี พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ว่า ได้เสนอในที่ประชุมให้ยกระดับความเข้มข้นในการดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมาตรการปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานหรือ แคมป์คนงาน รวมทั้งให้หยุดงานก่อสร้าง ห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วันตามข้อกำหนดภายใต้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยอาศัยเครือข่ายของชุมชนร่วมสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้กับสำนักงานเขต เพื่อช่วยให้การควบคุมมีประสิทธิภาพเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งจุดตรวจและจุดสกัดเพื่อคัดกรอง และลดความเสี่ยง ไม่ให้มีการลักลอบเข้าพื้นที่เกิดการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องคำนึงถึงหลักปฏิบัติต่อคนงานด้วยความละเอียดอ่อนและละมุนละม่อม  น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ที่สำคัญคือตนอยากขอให้ทุกหน่วยงานเร่งเตรียมพร้อม ทำความเข้าใจกับเรื่องของแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อที่สามารถกักตัวได้ที่บ้าน หรือ Home Isolation เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยปริมาณมาก ไม่สมดุลจำนวนเตียงและบุคคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นหากจะมีการใช้จริง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสถานพยาบาลต่างๆ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้แนวทางการรักษาตัวที่บ้านจึงเป็นทางออกหนึ่ง รวมทั้งเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เกี่ยวกับระบบการรักษาตัวที่บ้าน โดยต้องมีหลักเกณฑ์ในการประเมินผู้ป่วย เช่นจะต้องเป็นผู้ที่มีอาการน้อย  หรือกลุ่มสีเขียว อายุน้อยกว่า 60 ปี มีความยินยอมรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ประเมินปัจจัยแวดล้อมเช่น มีห้องนอน ห้องน้ำ ที่สามารถแยกใช้งานได้หรือไม่ มีโรคประจำตัวต้องที่สามารถควบคุมโรคได้ “หากใช้จริง ต้องช่วยกันสื่อสารว่ารัฐบาลไม่ได้ปล่อยให้ผู้ป่วยโควิดต้องรักษาตัวอย่างโดดเดี่ยวอยู่ที่บ้านหรือผลักภาระให้ดูแลตนเอง และได้รับการรักษาทุกคน และระบบ Home Isolation นี้ ดูแลผ่านโรงพยาบาล โดยรัฐบาล สนับสนุนงบประมาณทั้งในด้านค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าดูแลผู้ป่รวมอาหาร 3 มื้อที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.  รวมถึงมีระบบเทคโนโลยี เช่น จัดทำระบบติดตามตัว ระบบข้อความแจ้งเตือน และระบบการรายงานผลออกซิเจนและอุณหภูมิ รายงานไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดหรือโรงพยาบาลที่ดูแล ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเร็วที่สุด"น.ส.ทิพานัน กล่าว น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ซึ่งในวิกฤติเช่นนี้ในเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะนักการเมืองที่มีเครือข่ายในพื้นที่ ชุมชนต่างๆ ต้องเป็นกำลังสำคัญในการช่วยสื่อสารทำความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับพี่น้องประชาชน ไม่ให้เกิดความแตกตื่นและซ้ำเติมวิกฤติ ในทางกลับกันนี้เป็นความหวังของประเทศ  ว่าหากทุกฝ่ายเข้าใจระบบนี้และสามารถดูแลตนเองไม่ให้มีอาการลุกลามได้ หรืออาการดีขึ้นจนรักษาหาย ก็จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดยุติลงได้ในเวลาอันรวดเร็วขึ้น