โควิดวิกฤตหนักสุดในประวัติศาสตร์! "ผู้ประกอบการรุ่นใหม่" ชี้ช่องทางก้าวผ่านวิกฤตสู่ธุรกิจแบบปังหลังนิว นอร์มอล ด้าน "กูรูค้าปลีก" แนะทางรอด ไม่หยุดแก้ปัญหา ใช้เทคโนโลยีพัฒนาแบบก้าวกระโดด คิดต่างสร้างจุดเด่น ไม่มีทางล้มเหลว
ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หอการค้ากรุงเทพ หรือ YECBK จัดเสวนาผ่านทางซูม และคลับเฮาส์ ในหัวข้อ “ธุรกิจต้องปัง หลังนิวนอร์มอล โดยเชิญ กูรูด้านค้าปลีก อย่าง นายวรวุฒิ อุ่นใจ อดีตประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคกล้า นายฐัช หัชลีฬหา ผู้แทนจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หอการค้ากรุงเทพ และนายโอฬาร วีนะนนท์ หรือ บอม ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทดูเรียน คอร์ปเปอเรชั่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และถ่ายทอดประสบการณ์ ผ่านรอยต่อวิกฤตเศรษฐกิจในตามช่วงยุคสมัย
โดยนายวรวุฒิ กล่าวว่า สมัยที่ทำธุรกิจเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน ทั้ง บีทูเอส และออฟฟิศเมท เจอวิกฤตเศรษฐกิจ 3 ระลอก เริ่มตั้งแต่ต้มยำกุ้งปี 2540 จนมาถึง น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ เราก็ผ่านพ้นมาทุกวิกฤตได้ โดยการมองไปข้างหน้า คิดทุกอย่างให้ละเอียดรอบคอบ รอบด้าน และต้องมีการพัฒนาธุรกิจของตัวให้เข้ากับวิกฤต หากเราไม่ปรับตัว โอกาสล้มมีสูง โดยเฉพาะวิกฤตในครั้งนี้หนักหนาสาหัสที่สุด หากสามารถก้าวข้ามและประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรก็ไม่ต้องกลัวอีกต่อไป
“สมัยที่ครอบครัวเป็นยี่ปั๊วค้าส่งเครื่องเขียน ธุรกิจใกล้ล้มละลาย เราจึงคิดทำระบบแคตตาล็อคขึ้นมา แต่เนื่องจากทุนน้อยความรู้ก็ไม่มาก ทำได้ดีที่สุดคือ price list และประสบความสำเร็จจากที่จะล้มละลายก็กลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งจากศูนย์ถึงร้อยล้านในเวลาเพียง 3 ปี แต่ก็มาเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ยอดตกลงเหลือ 20 กว่าล้าน หรือลดไปราว 80% ตอนนั้นต้องยอมรับว่าเป็นช่วงที่ทำงานหนักที่สุดในชีวิต กินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นปี และเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่มาทำเป็นระบบแคตตาล็อค
ใช้เวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน จนยอดขึ้นไปสิบกว่าล้าน ภาวะวิกฤตใครผ่านได้จะเก่งขึ้น และต้องเก่งและเติบโตแบบก้าวกระโดดถึงจะรอดได้ โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านไอที เราเป็นธุรกิจรายแรกๆที่ใช้ระบบอีคอมเมิร์ส และ โลจิสติกส์ สมัยนั้นมันยากเพราะไม่มี third party เหมือนเดียวนี้ เราต้องลงทุนค่าขนส่งและจัดระบบรถขนส่งเอง ปรับระบบการทำงานเพื่อให้ต่างจากคู่แข่งขัน เรามองต้นแบบจากต่างประเทศ เพราะในประเทศ เราเป็นบริษัทที่ล้ำสมัยกว่าคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทางรอดของผู้ประกอบการคือ ต้องไม่หยุดแก้ปัญหา พัฒนาตัวเองโดยใช้เทคโนโลยีเติบโตแบบก้าวกระโดด มองรอบด้านอย่างละเอียด ไม่มีทางล้มเหลวอย่างแน่นอน” นายวรวุฒิ กล่าว
ส่วนเรื่องการวางแผนทางการเงิน นายวรวุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการลดต้นทุนคือ การหาโอกาสใหม่ ๆ และต้องมีตัวเลขของลูกค้าเก่าด้วยว่า หายไปจำนวนเท่าไร และยังมีลูกค้าที่ยังแอคทีพอยู่กี่ราย และในจำนวนนี้การซื้อเฉลี่ยลดลงกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ก็จะเหลือประมาณ 50-60% แล้วมาวางแผนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยเริ่มจากให้ลูกค้าเดิมซื้อเยอะขึ้น แต่เป็นสินค้าตัวใหม่ที่เราวิเคราะห์ว่าเขาจะต้องซื้อเพราะมีความจำเป็นต้องใช้ สมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง ตนก็ปรับเพิ่มสินค้าจากเดิมที่ขายเพียงเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงาน ก็เป็นสินค้าจำเป็น เช่น ชา กาแฟ น้ำยาถูพื้น หรือแม้แต่ยาพารา หรือแม้แต่ ถังและน้ำยาดับเพลิงเราก็ขาย เนื่องจากสมัยนั้นมีการเผาเอาประกันกันเยอะ หลายบริษัทจึงต้องมีติดไว้ เราจะนำเสนอด้วยสินค้าใหม่ เจาะตลาดใหม่ ๆ กระจายหาฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายใหม่ ต้องพุ่งเข้าหาไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน ไปหาให้เจอ ภาวะวิกฤตถ้าเราอยู่เฉย ๆ เราก็จะวิกฤตไปตามกระแส
ด้าน บอม โอฬาร กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทุกวันนี้ ธุรกิจหลายอย่างประสบปัญหา อาจกล่าวได้ว่าใครรวยกว่าคนนั้นเจ็บมากกว่า เมื่อก่อนเราคิดว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ยุคนี้ถ้าปลาเล็กรวมตัวกันก็จะสู้ปลาใหญ่ได้ บริษัทดูเรียนก็เช่นกัน เราเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ใช้ข้อมูลมองปัญหา และดูว่าแหล่งเงินทุนอยู่ตรงไหน ควบคู่ไปกับ การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่เลิกจ้างพนักงาน แต่เปลี่ยนมายด์เซ็ทของพนักงานแทน เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราลงทุนในธุรกิจใหม่ ที่ใช้เทคโนลยีเข้ามาช่วย ลงทุนน้อย กำไรน้อย หรืออย่างแย่ที่สุดคือขาดทุนน้อยแบบเรารับได้ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือฐานข้อมูล และใจของพนักงาน ตลอดจนธุรกิจที่เราทำงานด้วย แต่ทั้งนี้เราก็มีเป้าว่าเราพร้อมลงทุน ถ้าธุรกิจนั้นมีแนวโน้มจะเติบโตได้ แต่ไม่เวิร์คก็จะเลิกภายในสามเดือน
ขณะที่ ฐัช หัชลีฬหา กล่าวว่า เราสื่อสารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เราเริ่มต้นจากการทำเครือข่ายแบบขายตรง มีสมาชิกในเครือข่ายกว่า 3 ล้านคน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ สื่อสารกับเครือข่ายว่า ธุรกิจของเรายังคงอยู่ มีระบบรองรับ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พนักงานทุกคนก็ยังอยู่เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจ และคิดในวันนั้นว่า โควิดยังอยู่กับเราอีกนาน ตราบใดที่เรายังต้องพึ่งพากับตลาดต่างประเทศ ตัวแปรหลักคือวัคซีนก็พัฒนา ขณะเดียวกันตัวไวรัสเองก็พัฒนาและปรับตัวเช่นเดียวกัน ปีที่แล้วเราเปิดใจพร้อมยอมรับกับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ ถ้าธุรกิจส่งของไม่ได้ คนตกงานมาก หุ้นส่วนต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ เราจึงต้องกู้เงินสดเพิ่มมาร้อยกว่าล้าน ซึ่งจนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่ได้ใช้ แต่เราต้องการถือเงินสดไว้นานที่สุด และพยายามลดต้นทุนด้วย อย่างที่ทราบกันดีว่า การค้าปลีก มีรายละเอียดเยอะมากตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ แต่สิ่งที่เราได้เปรียบคือเรามีระบบสมาชิก ที่มีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัทเนื่องจากเป็นธุรกิจขายตรง ดังนั้น เรามีลูกค้าในระบบที่เป็น ไมโครเอสเอ็มอี ในเมืองรอง คือต่างจังหวัดเยอะมาก เราจึงส่งเสริมทักษะ ด้าน ดิจิทัลมา ให้เขาได้เรียนรู้
“ยอมรับว่า เราสู้กับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ไม่ได้ แบบไฮเทค แต่เราได้เปรียบในเรื่องของไฮทัช คือเรามีเครือข่าย และมีหน้าร้าน จึงปรับจากร้านค้ามาเป็นโชว์รูม ฝึกทักษะ การไลฟ์ขายของผ่าน แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ อย่าง ชอปปี้ ลาซาด้า เอาคอนเทนท์ ไปอยู่บนโซชียลแพลตฟอร์มเหล่านั้น แต่เราลงไว้ในราคาขายปลีก ถ้ามีเงื่อนไขจูงใจว่า ถ้ามาซื้อที่โชว์รูม และสมัครเป็นสมาชิกก็จะถูกลง และหากซื้อซ้ำจนสร้างเป็นเครือข่ายได้ยิ่งถูกลงไปอีก นอกจากนี้ยังเอาไปพ่วงสิทธิประโยชน์กับริษัทประกัน เพื่อเพิ่มสวัสดิการให้กับลูกค้า ทำให้ธุรกิจเรายิ่งโตขี้นไปอีก สมัยก่อนเรียกว่า โลกาภิวัฒน์ แต่ตอนนี้ต้องเรียกว่า โควิดวิวัฒน์ เราต้องอาศัยดิจิทัลเข้ามาเสริม และพัฒนาเครือข่ายให้เป็น ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ประจำตำบล และหมู่บ้าน เปลี่ยนขายตรง มาเป็นค้าปลีก สุดท้ายกลายเป็นแฟรนช์ไชส์ ทำให้เรามีเครือข่ายเยอะขึ้นเพราะคนตกงานเยอะ ผู้สูงอายุเองก็สามารถเป็นเครือข่ายกับเราได้ เพราะสินค้าที่ขาย เป็นสินค้าจำเป็นและมีระบบโลจิสติกส์ที่ตอบโจทย์สถานการณ์ในปัจจุบันด้วย” ฐัช กล่าว