มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แจ้งว่า รศ.ดร.กนกพร นุ่มทอง อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับ “รางวัลสุรินทราชา” ในฐานะนักแปลดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2564 นับเป็นบุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกท่านที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
ทั้งนี้ ชาวเกษตรท่านแรกที่ได้รับรางวัลนี้คือ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตรองอธิการบดีและอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับรางวัลนักแปลดีเด่นในปี พ.ศ.2550 นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับรางวัลนักแปลดีเด่นในปี พ.ศ.2557
"รางวัลสุรินทราชา" เป็นรางวัลเกียรติคุณที่สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์ แด่พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) หรือ “แม่วัน” ผู้แปลนวนิยายเรื่องความพยาบาท (Vendetta) เป็นรางวัล ที่มอบแด่นักแปลและล่าม ผู้มีผลงานดีเด่นเผยแพร่เป็นเวลานาน และสร้างคุณูปการแก่วงวรรณกรรม สังคม และประเทศชาติ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปี พ.ศ.2564 เป็นปีที่ 15 ของการมอบรางวัลอันทรงคุณค่านี้
ผลงานเด่น
งานแปล รศ.ดร.กนกพร นุ่มทองมีผลงานเด่นด้านงานแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทย ทั้งงานวรรณกรรม ประวัติศาสตร์และปรัชญา ผลงานเด่นได้แก่ เปาบุ้นจิ้นฉบับสมบูรณ์ (แปล 25 เรื่องจาก 100 เรื่อง) , 100 ยอดหญิงแห่งประวัติศาสตร์จีน, 100 โสเภณีในประวัติศาสตร์จีน, 100 ขุนนางประเสริฐในประวัติศาสตร์จีน , 100 ทรชนในประวัติศาสตร์จีน, มูลเหตุสามก๊ก(สามก๊กอิ๋น) ฉบับแปลใหม่, จงยง (ความเหมาะสมที่แน่นอน) , หลักฐานล้านนาในเอกสารโบราณจีน, เปิดม่านมังกร บทเรียนจากความล้มเหลว,พระสัทธรรมปุณฑรีกสูตร อวโลกิเตศวรสมันตมุขปริวรรต (แปลร่วมกับเกวลี เพชราทิพย์), ไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสยปูรวปณิธานสูตร (แปลร่วมกับเกวลี เพชราทิพย์) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานแปลวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “คุณปู่แว่นตาโต” ของชมัยภร บางคมบางจากภาษาไทยเป็นภาษาจีน
งานวิชาการ นอกจากงานแปลแล้ว รศ.ดร.กนกพร นุ่มทองยังมีงานวิจัย/บทความที่เกี่ยวกับการแปล ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารต่าง ๆ เช่น “Translation, Politics and Literature: Propagation of ‘Romance of the Western Han’ in Thailand”, “การแปลวรรณกรรมจีนเรื่องไซฮั่นในสมัยรัชกาลที่ ๑” , “การศึกษาแนวทางการจดบันทึกในงานล่ามจีน-ไทย ไทย-จีนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข”, “การเรียนการสอนวิชาการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยและภาษาไทยเป็นภาษาจีนในระดับอุดมศึกษา”, “การศึกษาปัญหาและกลวิธีการแปลภาษาจากเอกสารประวัติศาสตร์ภาษาจีนเป็นภาษาไทย, “การแปลแบบดัดแปลงนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่อง ‘ตั้งฮั่น’ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์” รวมทั้งงานเขียนตำรา/หนังสือที่เกี่ยวกับการแปล เช่น การแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีน, ทักษะการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทย, ภาษาจีนเพื่อการล่ามในธุรกิจ ตลอดจนงานบรรยายทางวิชาการให้กับหน่วยงานต่าง ๆ หลายหัวข้อ อาทิ “แนวทางการเรียนการสอนวิชาการแปลและการล่าม จีน-ไทย ไทย-จีน ในระดับอุดมศึกษา”, “กลวิธีการสอนวิชาล่ามภาษาจีน”, “แนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาล่าม จีน-ไทย ไทย-จีน ในระดับอุดมศึกษา”, “แนวทางการพัฒนาตนสู่ล่ามจีน-ไทย ไทย-จีน สำหรับผู้สนใจงานล่าม” เป็นต้น
รศ.ดร.กนกพร นุ่มทอง ยังเป็นบรรณาธิการภาษาจีนให้กับสำนักพิมพ์จีนและสำนักพิมพ์ไทย ตรวจสอบต้นฉบับงานแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยกว่า 70 เล่ม รวมถึงเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพการแปลบทภาพยนตร์อีกจำนวนมาก
ทั้งนี้ รศ.ดร.กนกพร กล่าวว่า โดยทั่วไปเมื่อคนนึกถึงงานแปล จะนึกถึงงานแปลวรรณกรรมเป็นหลัก เพราะเป็นสิ่งที่พบบ่อยและมีประโยชน์ในการช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรม ความคิดอ่านของชาติอื่น เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดของบุคคลผู้อยู่ต่างวัฒนธรรม ซึ่งความเข้าใจอันดีต่อกันนี้จะส่งผลให้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากงานวรรณกรรมแล้ว ตลาดงานแปลยังกว้างขวางมาก งานแปลเฉพาะด้าน ตัวอย่างเช่น ประวัติศาสตร์ แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ มีผู้แปลอยู่น้อยมาก หากเราสามารถแปลงานวิชาการของต่างชาติเป็นไทย จะช่วยเปิดโลกวิชาการให้นักวิชาการบ้านเราได้กว้างขวางมาก นำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณค่าในอนาคต และหากมีการแปลผลงานของนักวิชาการไทยเป็นภาษาต่างประเทศ ก็จะช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงให้แก่วงวิชาการบ้านเราได้มาก
สำหรับงานแปลควรเริ่มต้นจากจุดใดนั้น ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักแปลและความต้องการของตลาด โดยทั่วไปนักแปลอาจมุ่งเน้นงานวรรณกรรม เพราะคนเรียนภาษาส่วนใหญ่จะเป็นคนสายศิลป์ ส่วนหนึ่งมีความชื่นชอบวรรณกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่จากที่กล่าวมา จะเห็นว่าโลกของงานแปลไปได้กว้างมาก หากได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับชาติ คัดเลือกหนังสือดีที่ควรแปลในหลายๆ ด้าน จากภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ และภาษาต่างประเทศเป็นไทย จะเป็นการขยายพรมแดนความรู้ไปอย่างกว้างขวาง
อาชีพนักแปลสำคัญและสามารถช่วยพัฒนาประเทศได้มาก ยกตัวอย่าง คนที่ชำนาญศาสตร์เฉพาะทางบางอย่าง อาจไม่ต้องเก่งด้านภาษาต่างประเทศ แต่มีความสามารถในศาสตร์ของตน มีนักแปลที่เก่งภาษาต่างประเทศและเข้าใจศาสตร์นั้นพอสมควร ทำหน้าที่แปลตำราและงานวิชาการใหม่ๆ เป็นภาษาแม่ มีผู้เชี่ยวชาญศาสตร์เฉพาะทางนั้นตรวจสอบความถูกต้อง ผลงานที่ออกมาจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความงอกงามในวิทยาการสาขานั้นและเปิดแนวทางวิจัยใหม่ได้มาก อาจารย์กล่าวทิ้งท้าย