"จตุพร" เตือนร่างแก้ไขระบบเลือกตั้งของ ปชป. ไปต่อยาก แก้ไขไม่สำเร็จ ท้ายสุดเสี่ยงโดน ส.ว.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก เหมือนแก้แบบไม่ให้แก้จริงๆ
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. นายจตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม)กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขระบบเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอแก้ไขกลับมาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ว่าน่าจะมีปัญหา ไปต่อได้ยากและอาจถูกตีตกในวาระที่ 3 ได้ โดยในร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ขอแก้ไขแค่ 2 มาตรา คือ
1.ขอแก้ไขมาตรา 83 เป็นเรื่องการแก้ไขจากบัตรหนึ่งใบ เป็นบัตรสองใบ แก้ไขจำนวน ส.ส.ระบบเขตจาก 350 คน เป็น 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อจาก 150 คน เป็น 100 คน โดยมิได้ขอแก้ไขมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เช่นมาตรา 86 ที่กำหนดวิธีการได้มาซึ่งจำนวนส.ส.เขตพึงมีและการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ที่มีบางเขตจะต้องซอยย่อยแบ่งเขตเพื่อให้ได้ ส.ส.เพิ่มจาก 350 คนเป็น 400 คน จุดนี้หลักเกณฑ์กำหนดไว้ว่าจะใช้เกณฑ์ใด วิธีการใด
2.ขอแก้ไขมาตรา 91 เรื่องการคำนวณหา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งร่างของ ปชป.ยกเลิกวิธีการคำนวณทิ้งหมด และกลับให้ไปใช้วิธีการคำนวณให้สอดคล้องกับรูปแบบบัตรสองใบ แต่มิได้ระบุวิธีการคำนวณไว้ว่า ให้คำนวณอย่างไรเพื่อให้ได้จำนวนส.ส. 100 คน เพียงแต่ระบุสั้นๆว่าให้ไปใส่วิธีการคำนวณไว้ในกฎหมายลูก
นายจตุพร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา แม้รัฐธรรมนูญปี 60 จะกำหนดวิธีการแบ่งเขต วิธีการคำนวณให้ได้มาซึ่ง ส.ส.อย่างชัดเจนไว้ ก็ยังเกิดปัญหาการแบ่งเขตแบบภาคพิสดาร ยังเกิดปัญหาการคำนวณส.ส.วิธีพิสดารจนได้พรรคเล็กพรรคน้อยออกมาเต็มไปหมด แต่นี่ไม่เขียนระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัด ให้ไปออกกฎหมายลูกหรือระเบียบวิธีคำนวณกันเอง จะให้ประชาชนเชื่อใจ ไว้วางใจกันได้อย่างไร นอกจากนี้ขอบเขตจำนวนมาตราที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขให้ครอบคลุมมีมากกว่า 8-9 มาตรา นั่นเป็นคำถามว่า ในชั้นรับหลักการให้แก้ไขแค่ 2 มาตรา แต่เมื่อชั้นกรรมาธิการแล้ว จะแก้แค่ 2 มาตราจริงๆหรือ ถ้าแก้เท่านี้จะทำงาน จะใช้บังคับเป็นกฎหมายได้หรือไม่ เพราะมันจะไปขัดหรือแย้งกับมาตราอื่นที่ยังไม่ได้แก้ไขแน่นอน และท้ายสุดจะกลายเป็นประเด็นว่า ถ้าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดการโหวตปัดตกในวาระ 3 หรือจะมี ส.ว.นำไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยอีกหรือไม่
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ฉบับ ปชป.นี้ดูทรงแล้วไปต่อยาก แก้ไม่สำเร็จ เพราะถ้าแก้แค่ 2 มาตรา ก็จะไปขัดแย้งกับอีก 8-9 มาตราจะบังคับใช้ไม่ได้ แต่ถ้าจะแก้ทั้ง 8-9 มาตราไปพร้อมกันก็จะกลายเป็นเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญปี 60 แล้วก็จะถูกปัดตกไปในวาระ 3 ในที่สุด หรืออาจมีส.ว.ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”นายจตุพร กล่าว