วันที่ 28 มิ.ย.64 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โพสต์ข้อความ ภาพจากศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์จังหวัดเชียงราย ซึ่งระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 คลัสเตอร์ อ.เมืองเชียงราย ว่า พบผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 123 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 49 ราย และผู้ป่วยรวมทั้งญาติ จำนวน 74 ราย
นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ผู้ป่วยที่พบใหม่นั้น กระจายอยู่ในพื้นที่ 14 อำเภอ คือ อ.เมืองเชียงราย 82 ราย อ.แม่สาย 10 ราย อ.เชียงของ 7 ราย อ.พาน 4 ราย อ.เวียงชัย 4 ราย อ.เชียงแสน 4 ราย อ.เวียงป่าเป้า 2 ราย อ.พญาเม็งราย 2 ราย อ.เวียงแก่น 2 ราย อ.เวียงเชียงรุ้ง 2 ราย อ.ป่าแดด 1 ราย อ.แม่สรวย 1 ราย อ.แม่จัน 1 ราย และ อ.แม่ฟ้าหลวง 1 ราย พร้อมกันนี้ ยังได้แจ้งเตือนให้ประชาชนได้เคร่งครัดในมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ในช่วงนี้ด้วย
ซึ่งคลัสเตอร์ดังกล่าวหมายถึงคลัสเตอร์โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ที่พบผู้ป่วยจำนวนมากก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม โพสต์ดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นตัวเลขผู้ป่วยเฉพาะในวันที่ 27 มิ.ย.2564 หรือเป็นตัวเลขสะสมในเดือนเดียวกันนี้ทำให้ประชาชนที่เข้าไปดูต่างวิพากษ์วิจารณ์กันไปด้วยความแตกตื่นและสงสัย
สำหรับคลัสเตอร์ดังกล่าว ยังไม่รวมถึงความกังวลของประชาชนที่มีต่อแรงงานที่อาจจะเดินทางกลับภูมิลำเนาอันเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์แคมป์ก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ซึ่งกรณีดังกล่าวนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้มีคำสั่งให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) ทั้ง 18 อำเภอ ให้ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตรวจสอบแรงงานทั่วไปและแรงงานต่างด้าวอย่างเข้มงวด หากพบผู้มาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย ที่ต้องมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชั่วโมง รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 1 เข็ม เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันแล้ว หรือได้รับวัคซีนชิโนแวคจำนวน 2 เข็ม หากไม่มีให้ ศปก.แต่ละพื้นที่สามารถสั่งกักกันบุคคลดังกล่าวที่บ้านหรือที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วันได้ต่อไป