เมื่อวันที่ 27 มิ.ย 64 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา มีการประชุมคณะกรรมโรคติดต่อจังหวัดฉะเชิงเทราด่วน โดยมี นายไมตรี ไตรติดลานันท์ ผวจ. ฉะเชิงเทรา เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้พิจารณา จากการที่ พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถาน การณ์ฉุกเฉิน เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) โดยได้กำหนดให้ กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลาอยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข โดยได้ออกมาตรการต่าง ๆ ออกมาถึง 10 มาตรการ จังหวัดฉะเชิงเทราแม้ไม่ได้อยู่ใน 10 จังหวัด แต่ถือว่าเป็นจังหวัดใกล้เคียง ที่จะต้องเตรียมการตั้งรับสถานการณ์และป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เข้าจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ประชุมฯ ได้มีมติหลัก ๆ ประกอบด้วย มาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ สำหรับเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ให้ตั้งด่านหลักขาเข้า ด่านรอง (แต่ละอำเภอ) และชุดตรวจเคลื่อนที่ หากผู้อาศัยอยู่ใน 10 จังหวัดดังกล่าว หากมีความจำเป็นต้องเดินทางเข้ามายังจังหวัดฉะเชิงเทรา รายงานตัวในพื้นที่ที่เข้าพำนักในแต่ละอำเภอเพื่อกักตัว 14 วัน (ยกเว้นฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม) การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ให้มีการสำรวจแคมป์แรงงานต่างด้าวในพื้นที่ โดยตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ดำเนินการสำรวจ และจัดทำแผนปฏิบัติการในการตรวจสอบและเฝ้าระวัง การเคลื่อนย้ายแรงงาน การกระทำความผิดกฎหมายทุกประเภท การเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป – กลับ ต้องได้รับอนุญาตจากจังหวัดต้นทาง และต้อง Swab ทุก 14 วัน โดยนายจ้างออกค่าใช้จ่าย และแจ้งผลการตรวจพร้อมจำนวนให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการและโรงงานในเขตพื้นที่ ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติของผู้ประกอบการในสถานประกอบการหรือโรงงานให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อ ให้ใช้โรงงานเป็นโรงพยาบาลสนาม และสถานที่กักกันผู้มีความเสี่ยง เพื่อให้เป็นพื้นที่เฉพาะในการ Bubble and Seal ในที่ประชุม ผวจ.ฉะเชิงเทรา ได้ขอให้ นายอำเภอทั้ง 11 อำเภอ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำรวจความเดือดร้อนของประชาชน และกลุ่มเปราะบาง มายังจังหวัดเพื่อจะได้ดำเนินการประสานงานกับเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ ป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากาอนามัย รักษาระยะห่างทางสังคม ไม่ไปในที่สุ่มเสี่ยง ล้างมือบ่อย ๆ และฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง