กลายเป็นการจุดประกายความหวังให้ประชาชนได้รับโอกาสจากการใช้งบพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐอีกครั้งในรอบหลายปี เมื่อ นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สั่งการให้ นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัด ประชุมหารือร่วมกับหัวหน้าสำนักงานจังหวัด สำนักงานโยธาธิการจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมนุมชนจังหวัด และนายกเทศมนตรีเมืองประจวบฯ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ใช้ประโยชน์จากกการใช้งบพัฒนาจังหวัด งบจากกรมโยธาธิการจังหวัด ที่มีทั้งการทำโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงภูมิทัศน์ ในเขตเทศบาลใช้งบมากกว่า 200 ล้านบาทในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา บางโครงการชำรุดทรุดโทรม ถูกปล่อยทิ้งร้าง บางโครงการมีปัญหาจากการวินิจฉัยตีความในแง่กฎหมาย จากการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ขณะที่โจทย์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีเป้าหมายให้ทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาให้เสร็จก่อนจะเกษียณราชการในอีก 3 เดือนข้างหน้า นายสมบูรณ์ เทพประดิษฐ์ แกนนำทีมพลังบ้านเกิด กล่าวว่า เมื่อปี 2563 สำนักงานโยธาฯได้ทำหนังสือแจ้งให้เทศบาลรับมอบ 13 โครงการแต่เทศบาลรับมอบเพียง 3 โครงการ ล่าสุดจากการหารือทราบว่าโยธาธิการจังหวัดจะทำหนังสือแจ้งให้สภาเทศบาลรับมอบโครงการอีกครั้ง เพื่อให้เทศบาลใช้งบซ่อม ขณะที่บางโครงการโดยเฉพาะการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบพื้นที่เขาช่องกระจก บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัด อาจจะมีการขอสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงแก้ปัญหาการเกิดทัศนอุจาด แต่ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ประเมินถึงการแก้ไขปัญหาระยะยาว “จากการสำรวจพบว่าสิ่งปลูกสร้างใน 10 โครงการไม่สอดคล้องกับการรับมอบตามระเบียบพัสดุ บางโครงการร้างนานเกิน 10 ปี ยืนยันว่าเทศบาลไม่มีงบซ่อม ขณะนี้มีความพยายามของนักการเมืองบางกลุ่มที่ในอดีตที่เคยยกมือค้านโครงการ ขณะที่เป็น ส.ท. แต่ปัจจุบันต้องการดูด ส.ท.จากทีมพลังบ้านเกิด เพื่อขอให้สนับสนุนการรับมอบโครงการทั้งหมด เนื่องจากไม่ต้องการขัดแย้งกับผู้บริหารระดับจังหวัด แต่ไม่มองถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ของประชาชน “ นายสมบูรณ์ กล่าว นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ในอดีตหลังก่อสร้างเสร็จ มีเหตุผลใดที่ สำนักงานโยธาฯไม่ได้ส่งมอบโครงการให้เทศบาลดูแล โดยเฉพาะโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่เขาช่องกระจกครั้งล่าสุดใช้งบ 16.9 ล้านบาท หน้าศาลากลางจังหวัด นอกจากนั้นยังมีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นในพื้นที่ของกรมเจ้าท่าใช้งบมากกว่า 100 ล้านบาท การปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ค่ายลูกเสือชุมชนม่องล่ายในที่ดินโฉนดของหน่วยงานอื่น การใช้งบ 9.6 ล้านบาท การสร้างไบค์เลนเลียบอ่าวประจวบฯจากหน้ากองบิน 5 ถึงสะพานคลองบางนางรมระยะทาง 2.9 กิโลเมตร สภาไม่รับมอบ เนื่องจากไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ จ่าเอกเสกสรรค์ จันทร แกนนำเครือข่ายต่อต้านการทุจริต จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบบางโครงการที่สร้างรอบเขาช่องกระจกในปี 2557 ใช้งบ 30 ล้านบาทพบว่ามีการลงนามล่วงหน้าโดยอดีตนายกเทศมนตรี แต่ต่อมามีการเสนอให้ ส.ท.ยกมือผ่าน 14 เสียง เมื่อเดือนกันยายน 2558 ถือว่ามีพิรุธ ทำให้ ไม่มีผลในทางปฏิบัติ นอกจากนั้นโครงการก่อสร้างไบค์เลน เมื่อ 3 ปี ก่อน สำนักงานโยธาฯอ้างว่ามีรองนายกเทศมนตรีรายหนึ่งทำหนังสือร้องขอเพื่อก่อสร้าง แต่การปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์เช่นกัน และมีอีกหลายโครงการ หากใช้งบซ่อม แต่ต้องมีงบดูแลในระยะยาว ดังนั้นในข้อเท็จจริง ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงควรตรวจสอบการทำหน้าที่จากการใช้งบพัฒนาจังหวัดของสำนักงานจังหวัด สำนักงานโยธาธิการจังหวัด เพื่อทำให้ถูกต้องตามระเบียบและให้มีข้อยุติในความรับผิดชอบก่อนหรือไม่ จากนั้นจึงมอบโครงการให้หน่วยงานอื่น หากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในขั้นตอนใด ควรจัดการให้เด็ดขาด ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าการใช้พื้นที่บนเขาข่องกระจก เดิมจังหวัดเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ของวัดธรรมิการามวรวิหาร แต่ เมื่อถูกทักท้วงปัญหาการใช้งบประมาณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งในที่ประชุมยืนยันว่าบนเขาช่องกระจก หากไม่มีหน่วยงานใดดูแล จะถือเป็นที่รกร้างว่างเปล่าในความรับผิดชอบของนายอำเภอเมืองและผู้ว่าราชการจังหวัดตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ 2457 จึงไม่น่ามีปัญหาในการใช้พื้นที่ของหน่วยงานรัฐ หากการใช้งบมีทางออกในลักษณะดังกล่าว จึงมีคำถามถึงผู้ว่าราชการจังหวัดว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 กรณีเจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดฝ่ายธรรมยุติ ตัดโค่นขุดรากถอนโคนต้นศรีมหาโพธิ์ทรงปลูกของในหลวงรัชการที่ 9 อายุมากว่า 60 ปี บนเขาช่องกระจก ด้านหน้าศาลากลางจังหวัด ภายหลังพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2501 ฝ่ายปกครองจังหวัดแสดงความรับผิดชอบอย่างไร เนื่องจากต้นศรีมหาโพธิ์ดังกล่าว ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของขาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฝ่ายปกครองจังหวัด มีเหตุผลอย่างไรจึงเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหนังสือเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ธรณีสงฆ์ เหตุใดเมื่อพบปัญหาเจ้าอาวาสวัดทำลายต้นไม่ทรงปลูกบนเขาช่องกระจก จึงไม่ตัดสินใจใช้อำนาจหน้าที่ ในการดูแลที่ดินรกร้างว่างเปล่า เหมือนข้ออ้างหาทางออกให้สำนักงานโยธาฯร ใช้งบก่อสร้างบนยอดเขาช่องกระจก นอกจากนั้นผู้เกี่ยวข้องยังไม่ได้ดำเนินคดีกับเจ้าอาวาสวัดธรรมิการาม จึงถือว่าเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เนื่องจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ถือว่าสิ้นสุด เพราะไม่ใช้คำพิพากษาศาล ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบการทำโครงการร้าง จากการใช้ประมาณจากงบพัฒนาจังหวัดบริเวณสวนสาธารณะหน้าศาลากลางจังหวัด แต่ไม่มีงบประมาณบำรุงรักษาและซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่มีสภาพเสื่อมโทรม โดยเฉพาะโคมไฟรูปสับปะรด ไม่สามารถใช้การได้ทั้งหมดบางส่วนสูญหาย ไม่มีหน่วยราชการใดจัดงบซ่อมแซมหรือจัดซื้อเพื่อเปลี่ยนใหม่ เสาไฟไฮแมสจากงบ 16.9 ล้าน มีการตรวจรับแต่ติดโคมไฟผิดเสปคจากที่กำหนด การสร้างอาคารโอทอปข้างศาลากลางไม่มีหน่วยงานใดรับมอบเพื่อใช้ประโยชน์ “นอกจากนั้นพบว่าสำนักงานโยธาธิการจังหวัดใช้งบเข้าไปปรับปรุงภูมิทัศน์ในค่ายลูกเสือที่ชุมชนม่องล่าย เขตเทศบาลเมืองฯ โดยไม่ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ต่อมาได้ทำเอกสารมอบให้สภาเทศบาลรับมอบโครงการดังกล่าว “ นางกุหลาบ แฝงแก้ว ประธานสภาเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ว่า ส.ท. ทีมพลังบ้านเกิด 9 คน ไม่ได้ขัดขวางการใช้งบประมาณจาการเสนอญัตติ ของฝ่ายบริหาร หลังจากก่อนหน้านี้มี ส.ท. อย่างน้อย 2 คน ได้ยกมือสนับสนุนใช้งบในบางญัตติ “ขณะนี้เทศบาลเหลือเงินจ่ายขาดสะสมที่ใช้จ่ายได้เพียง 2 ล้านกว่าบาท จากเดิมที่มีกว่า 91 ล้านบาท จากปัญหาเงินอุดหนุนไม่มาตามกำหนด รายได้จัดเก็บไม่เป็นไปตามป้าหมาย ก่อนหน้านี้ได้ยืมเงินสะสมจ่ายเงินเดือนพนักงานจ่ายเงินเดือน ส.ท. แล้ว 2 ครั้งและยังไม่ใช้คืน ขณะนี้ก่อนสิ้นปีงบประมาณต้องกันเงินสะสมไว้ 3 เดือนจำนวน 36 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินเดือน ส.ทและพนักงาน 3 เดือน” ดังนั้นหากเทศบาลจะรับโครงการจากหน่วยงานอื่น เพื่อใช้งบซ่อม น่าจะไม่เหมาะสมกับสถานะการเงินการคลัง เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด และควรใช้งบให้เกิดประโยชน์กับประชาชน มากกว่าการยอมรับโครงการร้างเพื่อเอาใจผู้บริหารระดับจังหวัดที่รอเกษียณ รอย้าย หรือเป็นทางออกที่ทำให้ข้าราชการหลายหน่วยงานพ้นจากความรับผิดชอบจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ส่อทุจริต