ม.อุบล อาสาแก้ปัญหาอ่าน-เขียน สุขภาพวัยเรียน
ม.อุบลราชธานี ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะ ภาคอีสานตอนล่าง เพื่อสนับสนุนให้เกิดโรงเรียนสุขภาวะที่มี 5องค์ประกอบ ได้แก่ ผู้เรียนเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข โรงเรียนเป็นสุข ชุมชนเป็นสุข และสภาพแวดล้อมเป็นสุข โดยมุ่งพัฒนาครูให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก เป็นเครื่องมือพัฒนาเด็กและเยาวชนในโรงเรียน
ดร.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ม.อุบลราชธานี ซึ่งมีบทบาทมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนภาคอีสาน จึงจัดทำโครงการการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งเรียกว่า "โรงเรียนเฮ็ดดี มีสุข" (HD School) โดยมีสถานศึกษาในจังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เข้าร่วมจำนวน 49 โรงเรียน
โดย ม.อุบลราชธานี จะทำหน้าที่สนับสนุนโรงเรียนและเครือข่าย ให้มีการบริหารจัดการและจัดกระบวนการ กิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการพัฒนา บูรณาการแนวทางเรียนรู้ โดยใช้ "โครงการ" เป็นฐาน ลดพฤติกรรมเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งด้านกาย จิต สังคม และสติปัญญา เพื่อสร้างโรงเรียนสุขภาวะที่มีองค์ประกอบครบทั้ง 5 ด้าน
ดังตัวอย่างของโรงเรียนที่ จ.ศรีสะเกษ ผอ.สุจินต์ หล้าคำ จากโรงเรียนโนนปูนวิทยาคม อ.ไพรบึง กล่าวถึงโครงการ "ชุมชนเฮ็ดดี" นำปุ๋ยอินทรีย์สู่วิถีพอเพียง เพราะชุมชนตำบลโนนปูน ประกอบอาชีพการเกษตรเกือบ 100% แต่กลับใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในแร่ธาตุ เกิดภาวะสารพิษตกค้างในเลือด ทำให้เกิดโรคต่างๆ และยังเกิดสารพิษตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร เมื่อผู้ปกครองและนักเรียนบริโภคเข้าไป ก็ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษเข้าไปด้วย เกิดการสะสมในร่างกาย มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง จากปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การสอนในรูปแบบ PBLใช้โครงการเป็นฐาน จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเรื่องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยทดลองใช้ในโรงเรียนก่อน และขยายต่อยอดสู่ชุมชน
ขณะที่โรงเรียนชุมชนบ้านศรีไค จัดทำโครงการอุ่นไอรักจากการอ่าน สายใยสื่อสารผ่านสามวัย เพื่อแก้ปัญหาการอ่านเขียนของนักเรียน
ครูปิยวรรณ พาหาทรัพย์อนันต์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนชุมชนบ้านศรีไค (ศรีวัฒนาวิทยาคาร) อ.วารินชำราบ กล่าวถึงโครงการอุ่นไอรักจากการอ่าน สายใยสื่อสารผ่านสามวัย เพื่อส่งเสริมการอ่านที่หลากหลาย และสร้างนิสัยรักการอ่านแก่เด็กและเยาวชน ผ่านความร่วมมือครอบครัว และชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะการอ่านแล้ว ยังส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีของคนในครอบครัว และชุมชนอย่างสร้างสรรค์
"เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มักเป็นเด็กด้อยโอกาส เด็กพิเศษที่จะถูกทอดทิ้ง เป็นเด็กห้องบ้วย ใครก็ไม่อยากได้ จึงตั้งปณิธานว่าจะทำความดีถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจะใช้ทุกโอกาสที่จะช่วยแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งต้องแก้ไขทั้งองค์รวม ตั้งแต่ในบ้าน วิถีชีวิตปกติ สิ่งแวดล้อม จึงจะสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ ปราชญ์ชาวบ้าน ครอบครัวบ้านใกล้เรือนเคียง"
ครูปิยวรรณ กล่าวและว่า กิจกรรมจะเริ่มที่เด็กๆ นำหนังสือนิทานจากโรงเรียน ไปอ่านให้คนทุกช่วงวัยฟัง ทั้งในบ้านและชุมชน ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ให้เด็กไปคุยไปเล่นกับผู้ใหญ่ แลกเปลี่ยนถามไถ่ทุกข์สุข สิ่งที่ได้กลับมาคือวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ครูเองก็รู้ไปพร้อมกับเด็กด้วย ดังนั้น ก็จะได้ทั้งเรื่องการอ่าน ผ่านการคิด สู่การเขียน เพื่อการเรียนอย่างมีความสุข และมีจุดเด่นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครอบครัว เนื่องจากเด็กของเราไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ถึงร้อยละ90
อย่างไรก็ตาม เทคนิคที่นำมาใช้และเกิดความสำเร็จ คือ ครูสู้ด้วยใจ ส่งผลให้โรงเรียนได้รางวัลเรื่องการอ่าน ระดับชั้น ป.1อันดับ 1ของเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 4
-------------------------


โครงการนี้ทำให้ชาวชุมชน เกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงผลกระทบในการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีจำนวนมาก ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนในชุมชนด้วยผอ.สุจินต์ กล่าวและว่า เมื่อโรงเรียน เป็นโรงเรียนของท้องถิ่น เราก็ต้องสนับสนุนทั้งเชิงวิชาการ และการช่วยเหลือแนะนำ สิ่งแรกอยากให้เด็กได้กระบวนการเรียนรู้ ที่ไม่แปลกแยกจากชุมชน แต่สามารถนำความรู้ แนวคิด กระบวน การขั้นตอนไปใช้ในชีวิตที่ไปแก้ปัญหาครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ทำให้เด็กรักถิ่นฐานบ้านเกิด นั้นคือแก่นของชีวิตทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เมื่อเด็กจบการศึกษาออกไปเป็นประชาชน ซึ่งก็คือหน่วยหนึ่งของชุมชน อีกทั้ง โครงการที่เราทำนั้นนำมาใช้ในช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ทำให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน มีปัญหาก็เปิดใจปรึกษาหารือ ได้เห็นบรรยากาศความสุข นักเรียนเราไม่ได้เรียนเก่งทางวิชาการ แต่มีความขยัน มุ่งมั่น อดทน จึงได้นำความรู้ตรงนี้ไปใช้ในเรื่องของการเรียน การทำงาน อาชีพ ถือเป็นเป้าหมายสำคัญต่อมุมมองการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคต" ผอ.สุจินต์ กล่าว
