รายการโหนกระแสวันที่ 25 มิ.ย. 64 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ “ดร.สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ “นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ กรณีโควิด-19 ระบาดหนัก แทบเอาไม่อยู่แล้ว ต่อไปคุณภาพชีวิตของคนไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ตอนนี้สถานการณ์ดูค่อนข้างเลวร้ายลง มันแตกต่างจากที่ผ่านมา เรื่องนี้ในมุมรัฐมนตรีมองยังไง? สาธิต : ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังพบว่ามีการติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง แล้วก็จำนวนผู้ป่วยไม่ว่าจะมีอาการและไม่มีอาการ ก็มากขึ้นตามสัดส่วน ฉะนั้นในส่วนนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์กรุงเทพฯ และปริมณฑล เรื่องผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยอาการหนักถือว่าเข้าขั้นวิกฤต ทีนี้ผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ มันต้องทำเป็นระบบ ไม่ใช่มองในส่วนกองรักษาอย่างเดียว เพรากองรักษาเป็นปลายน้ำ ผมพูดย้ำเสมอๆ ว่าในการจัดการโควิดมี 4 ส่วนสำคัญ ตั้งแต่เริ่มต้นด้วยมาตรการที่รัฐบาลต้องกำหนดเพื่อส่งสัญญาณให้ประชาชนให้ความร่วมมือและปฏิบัติตาม สองส่วนสำคัญจะนำไปสู่การทำงานในการควบคุมโรค สอบสวนโรค เอาผู้มีความเสี่ยงสูงไปกักเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาด ถ้าทำสำเร็จกองรักษาก็จะเบาแรง ปัญหาคือเขาจะไปตรวจยังหาที่ตรวจลำบาก ตอนนี้พอจะไปตรวจแทบไม่มีที่ตรวจแล้ว จะทำยังไง? สาธิต : ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่ไม่มีหน่วยบริการที่รับตรวจ ก็เกิดจากกรณีที่เคสมันเยอะ เพราะเราวางระบบไว้ว่ากรณีเคสตรวจที่ไหนต้องมีผลแล็บ รพ.นั้นต้องรับ ถ้ารพ.นั้นเต็มต้องส่งต่อ เมื่อมีการจัดการเรื่องเตียงเต็ม รพ.ที่รับตามกติกาเดิมไว้ ก็เป็นปัญหาว่าเมื่อตรวจเจอต้องรับ ฉะนั้นเมื่อเตียงเต็ม ศักยภาพของคนที่เขาทำงานล้าจนเกินไป เขาก็ต้องปิดต้นทางไม่ให้รับตรวจ ซึ่งตรงนี้จะอันตราย พอคนติดเชื้ออยู่ในชุมชนในสังคมไม่มีที่ตรวจ จะแพร่กระจาย จะเกิดการระบาดไปทั่วทุกชุมชน แก้ยังไง? สาธิต : นี่แหละครับ อาจต้องมานั่งคุยกันว่า ทางแก้ต้องเริ่มที่ 2 ประการแรก วันนี้เข้าใจว่าทางอธิบดีกรมการแพทย์ คณบดีแพทย์ในโรงเรียนการแพทย์ทั้งหมดจะเดินทางไปพบนายกฯ สิ่งที่ต้องคุยกับนายกฯ คืออะไร แล้วเห็นว่าจะมีคุณหมอหลายท่านเข้าไปเพื่อเรียกร้องให้ปิดเมือง จริงมั้ย? นพ.สมศักดิ์ : จริงๆ ไปเสนอว่าควรต้องเพิ่มมาตรกการอะไร ที่ปรึกษานายกฯ ท่านเคยเป็นอดีตรมต.กระทรวงสาธารณสุข คงไปเรียนว่าสถานการณ์การรักษาเป็นยังไง ถ้าเป็นไปได้ช่วยโชว์สไลด์ที่สองที่เป็นสถานการณ์ว่ากรมการแพทย์พยายามทำอะไรมาบ้างตลอด 2 เดือน หนึ่งเดือนที่ผ่านมา ให้ดูเส้นสีน้ำเงินเข้มๆ ถ้าเห็นซ้ายสุด ที่เขียนว่าครองเตียง 1.8 หมื่น นั่นหนึ่งเดือนที่แล้ว หนึ่งเดือนผ่านไป คนไข้ครองเตียง 2.4 หมื่น โดดมา 6 พันภายใน 1 เดือน จำนวนครองเตียงในแต่ละวันนะครับ แยกเป็นประเภทไหนบ้าง ที่น่าแปลกใจ สีเขียวเข้มๆ คือคนไม่มีอาการเพิ่มไม่ค่อยเยอะ แต่คนสีเขียวอ่อนๆ มีอาการนิดหน่อยเพิ่มไปเยอะ สีเหลืองก็เพิ่มเยอะจาก 2.7 พัน เป็น 4 พันกว่า สีแดงเหมือนจำนวนไม่เยอะ แต่หลักร้อยไอซียูนี่แย่แล้ว จาก 600 กว่าเป็น 800 กว่า ยอมรับเลยว่าแย่แล้ว? นพ.สมศักดิ์ : ครับผม เตียงไอซียูปกติมีอยู่เท่าไหร่? นพ.สมศักดิ์ : ถ้าดูสไลด์ ภาครัฐวันที่ 9 เม.ย. มีเตียงไอซียู 211 เตียง มิ.ย.ประมาณวันนี้ เราขยายเตียงมา 437 เตียง แล้ว สีเหลืองจากพันกว่า เป็น 5 พัน สีเขียว จาก 800 เป็น 6 พันด้วยบุคลากรที่ดูเท่าเดิม หมอหน้างานเท่าเดิม แต่เตียงเพิ่มขึ้น ฉะนั้นหมอต้องไปดูแลคนป่วยมากขึ้น เมื่อเช้าไปราชวิถี ผอ.บอกว่าพยายามดึงหมอที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มอื่น สัก 20 เปอร์เซ็นต์ จากแผนกอื่นมาดูแลโควิด ซึ่งแปลว่าไม่ใช่เฉพาะโควิด แผนกอื่นในการดูแลก็อาจมีหมอน้อยลงด้วย เราเพิ่มศักยภาพเตียงจนกระทั่งตอนนี้มีคนหมอออกมาบ่นแล้ว เรื่องนี้แหละที่วันนี้ต้องไปคุยกับนายกฯ? นพ.สมศักดิ์ : อันนี้ อ.ปิยะสกล จะเป็นผู้นำ ขออนุญาตไม่ตอบตรงนี้ จำนวนตัวเลขของคนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารงานผิดพลาดของภาครัฐหรือเปล่าที่น่าจะมีการคุมเกมได้ดีกว่านี้ สุดท้ายเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเหมือนวัวหายแล้วล้อมคอก? สาธิต : ก็เป็นไปได้ เราก็ต้องยอมรับ แต่ต้องยอมรับว่าคนเป็นนายกฯ มองภาพใหญ่ประเทศ ผมกับรัฐมนตรีมองภาพกระทรวงสาธารณสุข ผมมุ่งเน้นเรื่องสุขภาพต้องควบคุมโรคให้ได้ ผมไม่ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ขณะเดียวกันภาคธุรกิจท่านนายกฯ ต้องมองว่าในส่วนธุรกิจกระทบอะไรหรือไม่ เวลาข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุขไป ผู้มีอำนาจตัดสินใจคือศบค. ใหญ่ ศบค. กทม.ที่ต้องดูภาพรวมผลกระทบ ฉะนั้นการที่จะบอกว่าการจัดการทำให้ตัวเลขมากขึ้นมันแน่นอนอยู่แล้ว แต่ว่าต้องเข้าใจในบริบทพอสมควร ว่าโควิดถ้าดูตัวเลขแต่ละประเทศอาจมีขึ้นมาหรือมีลง การจัดการวัคซีนก็จะเป็นการให้น้ำหนักในการหยุดการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม การจัดการทั้งหมดต้องยิงให้ตรงเป้าและให้สมดุล ในขณะนี้ผมเสนอท่านนายกฯ ไปแล้วว่าการฉีดวัคซีนในพื้นที่กทม. กับปริมณฑล ต้องเอาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AZ) มาฉีดให้กลุ่มเสี่ยงสองกลุ่มก่อน คือกลุ่มแก่กับกลุ่มป่วย เพราะสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนอาการหนักและเสียชีวิตมากที่สุดในผู้ติดเชื้อ เมื่อเรามีวัคซีนจำกัดและต้องการลดการทำงานของแพทย์ จึงจำเป็นต้องเอาวัคซีนไปจัดการปิดเรื่องนี้ ปิดเรื่องการเสียชีวิต โดยเอาศักยภาพในการฉีดทั้งหมดที่มี เรามีตัวเลขกลุ่มเสี่ยงที่ลงทะเบียนในเดือนก.ค. 5 แสนคน ก็เร่งฉีดให้เร็วที่สุด อันนี้แจ้งนายกฯ ไปแล้ว ต้องรอดูวันนี้ และการตัดสินใจของศบค. กทม. ที่จะตัดสินใจเรื่องนี้ เพื่อลดผู้ป่วยทั้งสองทาง กรณีเตียงที่บอกว่าเต็มจนล้นแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ หนึ่งคนต้องไปดูแลคนจำนวนเยอะ มันจะมีทางแก้ไขได้ดีกว่านี้มั้ย เช่นจำนวนเตียงอาจเพิ่มขึ้น หรือจะไปโหลดบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นไปอีก? นพ.สมศักดิ์ : จริงๆ เรื่องสถานที่พอมี พอดีช่วงนี้จังหวะทางแก้ที่อาจจะลงล็อกได้ เราได้พูดคุยกันในช่วง 2-3 วันนี้ เราได้สถานที่ที่รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต ได้ที่วชิระฯ ได้ที่รามาฯ ตรงพญาไท ไอซียูสีแดงเพิ่มขึ้นอีก 40-50 เตียง นอกเหนือจากนั้นมีภาคเอกชน อาจมาช่วยเพิ่มเตียงแดง โดยรพ.เครือข่ายแห่งหนึ่งมาช่วยรันให้ แต่ภาครัฐก็โชคดีที่ช่วงนี้มีแพทย์ประจำบ้านที่มาเรียนเป็นผู้เชี่ยวชาญ โรคอายุรศาสตร์ โรคสูฯ โรคศัลย์ เรียนจบเดือนนี้ ปกติก.ค. เขาต้องกลับไปทำงานที่จังหวัดของผม ที่ประชุมกันล่าสุด มีมติว่าให้ทางกรมผมทำหนังสือถึงกระทรวงว่าให้ชะลอการส่งแพทย์เหล่านี้กลับไป ให้กลับมาช่วยเตียงที่กำลังจะทำเพิ่ม นี่คือแก้ปัญหาเริ่มแรก คนที่อยู่จะได้ไม่ล้าจนเกินไป ซึ่งไม่ใช่แค่แพทย์ พยาบาลไอซียูต้องเชี่ยวชาญจะหาได้จากที่ไหน ตอนนี้ตกลงกันว่าถ้าเป็นไปได้ก็หาพยาบาลจากหัวเมือง ที่การระบาดยังไม่เยอะมาช่วยเรา ตอนนี้เราได้เตียงไอซียูเพิ่มพอสมควร ถ้าได้คนมารันครบก็สามารถรันต่อได้เลย จริงๆ ต้องเรียนว่าไม่ใช่แค่แดง เหลือง-เขียวภาครัฐก็ค่อนข้างตึง ก็ต้องขอร้องภาคเอกชนมาด้วย มาช้อนคนสีเขียวไปนอนรพ. แต่เขามีเงื่อนไขบางอย่าง เช่นอ้วนไม่รับเพราะเขากลัว มีโรคประจำตัวไม่รับ ก็ขอร้องว่าช่วยรับไปก่อน ให้คนไข้ไม่นอนบ้าน พยายามแยกคนไข้ออกมาให้เร็วที่สุด และอีกข้อเสนอหนึ่งที่เตรียมไว้ อาจมีคนไข้ประเภทนึงที่เขาสามารถดูแลตัวเองได้ ที่บ้านมีห้องนอนคนเดียว ห้องน้ำไม่ได้ใช้ร่วม เขาอาจไปอยู่บ้าน ก็เตรียมไว้แล้วเรื่องการวัดออกซิเจนในเลือด การวัดไข้ วัดออกซิเจนที่บ้านแล้วคุยกับหมอ อันนี้ก็เป็นมาตรการที่เตรียมเอาไว้ ตรงนี้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ผมพูดมาตลอดว่าโควิดทำลายล้างทุกทฤษฎี เมื่อก่อนผู้เชี่ยวชาญบอกวัคซีนมาก็จบ แต่ดูอเมริกา อิสราเอล ที่ฉีดวัคซีนเยอะๆ มันยังไม่จบนะ เพราะมันมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ตรงนี้ก็มาท้าทายพวกเรา เราต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ กรณีชายคนนึงอยู่ชุมชนบ้านครัวเหนือ อยู่ราชเทวี สามีรับเชื้อมาพร้อมๆ กับภรรยา เขามีการต่อโทรศัพท์ไป 1669 และ 1668 หลายครั้ง ครั้งแรกบอกให้เก็บเสื้อผ้ารอ เดี๋ยวไปรับ รอแล้วรอเล่า ติดต่อไปอีกบอกว่าเตียงเต็ม หลังจากนั้นไม่มีใครมา เขาก็ไปขอทางมูลนิธิเส้นด้ายให้ช่วย สุดท้ายเส้นด้ายมาช่วย พยายามประสานให้สองเบอร์นี้ก็ไม่ได้อยู่ดี สุดท้ายครบ 7 วันภรรยาเสียชีวิต ชายคนนี้บอกว่าภรรยาหัวใจหยุดเต้น วันนั้น 11.00 น. โทรไปที่เบอร์ฉุกเฉินอีกรอบ ได้รับคำแนะนำว่าให้ช่วยปั๊มหัวใจกันไปก่อน? สาธิต : ผมไม่แน่ใจว่าข้อเท็จจริงเป็นยังไง แต่ก่อนอื่นต้องขอโทษถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่อย่างไรก็ตาม เราเคยเจอเหตุการณ์กรณีแบบนี้กรณีเคสสูง มีผู้ติดเชื้อเยอะ ก่อนหน้านี้ที่เราเจอผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตที่บ้าน แน่นอนที่สุดบุคลากรทางการแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่พยายามช่วยเหลือทุกชีวิต แต่เคสนี้ผมได้รับมาและจัดการส่งต่อ สั่งอธิบดีว่าต้องไปช่วยให้ได้ ฉะนั้นปัญหาคืออาจทำให้มีปัญหาเรื่องการจัดส่ง หรืออุปสรรคในการดูแลคนไข้อย่างไรหรือไม่ เราพยายามทำเต็มที่ แต่ถ้าบางกรณีที่เกิดผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็จะเกิดแบบนี้ได้ แต่เราก็ต้องพยายามทำงานอย่างเต็มที่ 1669 1668 ปัญหาเยอะมากไม่จบไม่สิ้น มันคืออะไร? นพ. สมศักดิ์ : 1669 ขออนุญาตไม่ตอบ เพราะเป็นของกทม. ลองถามเขาดูแล้วกัน (หัวเราะ) 1668 เราพยายามพัฒนารูปแบบการทำงานมาตลอด ที่ตอนแรกมีข่าวตอนสงกรานต์ว่าโทรยาก เราก็แบ่งเธียร์ 1 2 3 มีเอกชนมารับคู่สายเลย ไม่มีปัญหา ให้มีบุคลากรช่วยสกรีน เรียนตรงๆ ว่าตอนที่เตียงพอหมุนได้ มาถึงวันนี้ 1668 แก้ปัญหาเรื่องเตียงไป ถ้าจำตัวเลขไม่ผิดเป็นหมื่นเตียงแล้ว ก็ต้องขอแสดงความเสียใจกับเคสที่เกิดขึ้น แล้วเหมือนที่รมช.ว่า ผมอยู่ในแวดวงกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องขอโทษที่เกิดกรณีแบบนี้เกิดขึ้น แต่เราได้พยายามทำ และหมุนเตียงอย่างที่ว่า เพราะเมื่อได้ประเมินเป็นสีเหลือง แล้วเตียงสีเหลืองหาไม่ได้จริงๆ อย่างที่เรียนไม่ใช่แต่แดง เหลือง-เขียวก็ค่อนข้างตึง ก็ขอความร่วมมือในทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชนว่าตอนนี้อย่าเลือกเคสเลย พยายามช่วยกันเถอะ ถ้าช่วยกันได้และเอาคนไข้เป็นตัวตั้ง ผมว่าจะป้องกันปัญหาแบบนี้ได้ แต่กรณีชายคนนี้เขาขอแค่ให้มารับภรรยา เขาน้อยใจมาก? สาธิต : เราเจอเรื่องแบบนี้ กระทบจิตใจเราเหมือนกัน เรารู้ว่าครอบครัวจะรู้สึกยังไงในสถานการณ์แบบนั้น แต่ผมก็เรียนว่าต้องขอโทษก่อน แล้วแสดงความเสียใจ แต่ขอให้ความเป็นธรรมว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของเรา ก็ทำงานอย่างเต็มที่ 1668 ในสภาวะปกติเขาช่วยคนได้จำนวนมาก แต่พอมีเคสจำนวนมากขึ้น การให้บริการ ก็ประสานข้อมูลกันไปเป็นทอดๆ แต่พอมีคนมาเข้าคิวรอกันเยอะก็ต้องรอคิวงานอาจเป็นปัญหาหน้างาน กก็ต้องขออนุญาตว่าเราก็เสียใจ เราไม่อยากให้เกิดขึ้น วันนี้ไปเสนอในภาพรวม เราเป็นปลายน้ำ ทำนบแตก ปลายน้ำเสียหายไปหมด เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ขอทางต้นน้ำว่าต้องมีมาตรการที่เข้มข้น และส่งสัญญาณไปถึงพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ แสดงว่าต้นน้ำก่อนหน้านั้นทำมาไม่ดีเลย? สาธิต : ต้นทางดีในบางส่วน แต่พอเจอสถานการณ์ที่มากขึ้น ต้องให้ความเป็นธรรม คนทำงานก็ทำงานตามสถานการณ์ แล้วสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพอมีจำนวนมากขึ้น หรือการส่งสัญญาณที่ไม่ได้สมดุล สมมติในช่วงเม.ย.เราคิดว่าน่าจะดีขึ้น ส่งสัญญาณเพื่อผ่อนคลาย ต้องยอมรับว่าคนตัดสินใจเรื่องนี้เขาไม่ได้มีหน้าที่ในการรับผิดชอบส่วนนี้อย่างเดียว เขาต้องไปมองภาพใหญ่ประเทศ สถานการณ์เศรษฐกิจ ร้านค้าเล็กๆ ย่อยๆ เขาเดือดร้อน การกู้เงินมาเพื่อเยียวยาก็เพดานเกือบเต็มแล้ว เขาต้องการให้ฟันเฟืองเศรษฐกิจค่อยๆ เดินของมันเองโดยการผ่อนคลาย แต่เรื่องนี้ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน จะไปโทษหรือไปลงโทษ บังคับ ก็วิจารณ์ได้ แต่อย่าไปตีตราว่าเป็นความผิดของใคร เพราะนับจากนี้ไปจะทะเลาะกันไม่ได้ ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน และทำความเข้าใจด้วยกันว่าต้องแก้ไขสถานการณ์นี้ให้ได้ วันนี้ฝากความหวังว่าจะเกิดมาตรการต้นน้ำเพื่อไม่ให้ปลายน้ำมันมีปัญหาแบบนี้อีก คนส่งข้อความมากรณีรอเตียงเยอะมาก จะแก้ไขปัญหาเบื้องต้นตรงนี้ยังไงก่อนดี? นพ.สมศักดิ์ : อย่างที่เรียนไปแล้ว เตียงสีแดงเตรียมหาโรงเรียนแพทย์ เอาบุคลากรที่เรียนจบ รวมทั้งเกณฑ์พยาบาลต่างจังหวัดมาช่วย สีเหลืองเข้าใจว่ากทม. ได้รับบัญชาจากศบค.กรุงเทพฯ ว่าให้ไปช่วยเตรียมเตียงสีเหลืองเพิ่มขึ้น สีเขียวเหมือนที่บอกถ้าเป็นไปได้อาจมีการให้อยู่บ้านในเคสที่เหมาะสมและมีการติดตามผู้ป่วยจากที่บ้าน พูดคุยกับผู้ป่วย วัดไข้ วัดออกซิเจน นี่ไม่ใช่มาตรการใดมาตรการหนึ่ง แต่จะทำทุกอย่างไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับคนที่จำเป็นต้องนอนในรพ. ตอนนี้หลายคนไม่สบายใจเรื่องการสื่อสารภาครัฐ เป้าหมายในการสื่อสารดูเหมือนมีความสับสน เช้าประกาศอย่าง เย็นประกาศอย่าง กลางคืนประกาศอย่าง วันรุ่งขึ้นประกาศอีกอย่าง เหมือนไม่มีการคุยกัน หลายคนพูดว่าก่อนไปตั้งปราบพวกเฟกนิวส์ ไปตั้งกรุ๊ปไลน์ก่อนได้มั้ยจะได้สื่อสารกับประชาชนได้ถูกต้องก่อน มองยังไงเรื่องนี้? สาธิต : เอาว่าการรับรู้ของประชาชนในแง่ความรับรู้ข่าวสาร ในยุคสมัยนี้ก็ยาก เพราะการเลือกรับบริโภคข่าวสารของแต่ละคนก็เลือกในสิ่งที่ตัวเองชิน เลือกรับบริโภค รัฐก็พยายามให้เป็นการสื่อสารทางเดียว แต่ผมคิดว่าการเปลี่ยนไปก็เหมือนที่ท่านอธิบดียกตัวอย่างว่าโควิดมันปราบเซียน มันอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนสถานการณ์ ปรับเปลี่ยนมาตรการในการควบคุมโควิดให้ได้ แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนการสื่อสารที่ต้องทำให้เป็นระบบ ซิงเกิลคอมมานเกิดจากศบค.ใหญ่ เรามีคุณหมอทวีศิลป์ กับหมอเบิร์ด กระทรวงสาธารณสุข เรามีในการแถลงข่าวแต่ละส่วนอยู่เป็นประจำ อันนี้คือการทำการสื่อสารกับประชาชนในระบบซิงเกิลแมสเสส แต่ในขณะเดียวกัน ในบางสถานการณ์ สถานการณ์ใดก็เปลี่ยนไปตามการตัดสินใจของฝ่ายนโยบาย ฉะนั้นมันอาจมีความสับสนอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่าการพยายามทำตามข้อเสนอ ทุกมาตรการให้ดีที่สุด และทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนก็เริ่มมา เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน กทม. สาธารณสุข ศบค. ไม่ได้ทะเลาะกันใช่มั้ย? สาธิต : อธิบายโครงสร้างว่าตอนนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขึ้นอยู่กับกทม. ในกรุงเทพฯ มีหลายส่วน ไม่ว่าจะกทม. โรงเรียนแพทย์ ทหาร ตร. กระทรวงสาธารณสุขเราทำงานร่วมกันมาตลอด แต่ปัญหาในทางปฏิบัติมีกระทบกระทั่งกันบ้าง ยอมรับว่ามีกระทบกระทั่งกันบ้าง? สาธิต : เราพยายามมาตลอด เพราะเรารู้ว่าปัญหาการบูรณาการ มีปัญหาไม่ได้ เพราะทุกอย่างคือชีวิตคนไข้ที่กำลังได้รับการดูแลและผมยืนยันผู้ชมทางบ้าน กระทรวงสาธารณสุข คุณหมอ พยาบาลทุกคนทำงานหนักเพื่อเป้าหมายดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด 120 วันข้างหน้าเปิดประเทศได้มั้ย? สาธิต : ถ้าสถานการณ์นี้ เดี๋ยวจะบอกว่าสื่อสารไม่ชัดเจนอีก เวลาจะพูดอะไรเราอย่าเหมารวม เหมือนที่ท่านนายกฯ พูดว่าภูเก็ตสามารถเปิดได้เพราะผู้ติดเชื้อน้อยลง ฉีดวัคซีนได้เยอะแล้ว ขณะเดียวกัน 120 ในกรุงเทพฯ กับปริมณฑล ผมคิดว่าถ้าตัดสินใจช้า ยังเปิดไม่ได้ แต่ในต่างจังหวัดอื่นๆ เช่น ระยอง ชลบุรี หรือภาคอีสาน ถ้ามีการฉีดวัคซีนชัดเจน ประชาชนให้ความร่วมมือ ไปเปิดตรงส่วนนั้นได้ เราต้องให้ข้อมูลอย่างแยกแยะและมีข้อมูลที่ถูกต้อง เราเหมารวมข้อมูลไม่ได้ ยิ่งสถานการณ์แบบนี้ ถ้าสื่อสารกับประชาชนผิดทาง มันจะเกิดการไม่เชื่อมั่น เมื่อไม่เชื่อมั่นการขัดแย้งจะตามมา เมื่อมีความขัดแย้ง การจัดการทุกอย่างจะล้มเหลวทั้งหมด ย้ำว่าสิ่งที่พูดเป็นความจริงทั้งหมดและเป็นสิ่งที่ตั้งใจในฐานะกระทรวงสาธารณสุข