วันที่ 25 มิ.ย.64 นายณัฐนันท์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมาย พรรคกล้า กล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ว่า สถานการณ์น่าเป็นห่วง การแพร่ระบาดโควิด-19 สูงต่อเนื่อง ผู้ติดเชื้อใหม่ยังคงสูง 3,000-4,000 กว่าคน ผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 30 ถึง 50 คน เสียงเรียกร้องเตียงรักษามากขึ้นเรื่อยๆ นายแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี ยังบอกว่าสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ในขั้นวิกฤต อธิบดีกรมการแพทย์ ลดวันรักษาในโรงพยาบาลเหลือ 10 วัน หวังจะเพิ่มเตียงว่างอีก 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ศูนย์กล้าสู้โควิด ของพรรคกล้า ได้รับแจ้งหาเตียงด่วน เมื่อวานนี้วันเดียวเกือบ 20 ราย และในพื้นที่ต่างๆ อีกหลายสิบราย เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนว่าจำนวนเตียงเพื่อเข้ารับการรักษา เข้าขั้นวิกฤตแล้วจริงๆ
"ตอนนี้เข้าสู่สถานการณ์ หมอไม่พอ เตียงไม่มี บุคลากรทางการแพทย์ 1 คน ต้องรองรับผู้ป่วย เฉลี่ยถึง 60 คน บางพื้นที่ผู้ป่วยรอ ไม่ได้เตียง จนเสียชีวิตคาบ้าน คนในครอบครัวทั้งติดเชื้อ ทั้งทุกข์ระทม ที่ต้องสูญเสียคนที่รักไป แต่กลับมีข่าวจากรัฐมนตรีสาธารณสุขว่า ไม่ได้รับการรายงานเรื่องเตียงไม่พอ เรื่องแบบนี้สะท้อนระบบราชการล้าหลัง สถานการณ์แบบนี้ ไม่ใช่จะบอกเล่าเพื่อตำหนิการทำงานของบุคคลใด แต่อยากจะสะท้อนให้รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และหาทางแก้ไขโดยเร็ว" นายณัฐนันท์ กล่าว
นายณัฐนันท์ ยังย้ำข้อเสนอของพรรคกล้า ที่พยายามบอกมากกว่า 2 สัปดาห์แล้วว่า หากพบผู้ป่วยติดเชื้อ ให้นำไปกักตัวแยกจากครอบครัวทันที เพื่อป้องกันการระบาดแบบทวีคูณภายในครอบครัว จาก 1 ไป 5 ไป 10 ไป 20 โดยรัฐบาลควรเร่งหาสถานที่กักตัวจำนวนมาก เพื่อแยกผู้ที่ทราบผลติดเชื้อออกมาเร็วที่สุด โดยใช้อาสาสมัครดูแลแทนหมอและพยาบาลไปก่อน และควรให้ยาต้านไวรัสทันทีที่เข้าหลักเกณฑ์ โดยไม่ต้องรอเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม เพราะทางแก้ที่ดีที่สุดคือการได้รับการรักษาให้เร็วที่สุด แต่ทุกวันนี้ผู้ป่วยนอนรอเตียงหลายวัน ไม่ได้รับการจ่ายยาตามหลักเกณฑ์ จึงเกิดปัญหาขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทางด้านทพ.กันตพงศ์ ดีชัยยะ คณะทำงานด้านสาธารณสุขพรรคกล้า กล่าวว่า มาตรการนี้จะลดการติดเชื้อทวีคูณได้ จะลดจำนวนผู้ป่วยหนักที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ ลดภาระของแพทย์ พยาบาลและบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ จึงอยากให้ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนวิธีคิด เร่งปรับระบบราชการดำเนินการโดยเร็ว ให้ตอบสนองทันต่อสถานการณ์ เพื่อป้องกันการระบาดทวีคูณและนำไปสู่สถานการณ์ที่วิกฤตกว่านี้ อย่าให้สถานการณ์บานปลาย ที่ต้องเลือกว่าใครจะอยู่ใครจะไป เหมือนอิตาลีกับอินเดีย