ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... ผ่าน ครม. และรัฐสภารับในหลักการแล้วนั้น เป็นแรงผลักดันให้บรรดาสถาบันอุดมศึกษาในระดับแนวหน้าของไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้กับประเทศ เกิดการเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวสนองรับพ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อนำพาประเทศชาติให้ก้าวทันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการมุ่งสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลกของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่นอกจากความโดดเด่นในเรื่องงานวิจัยและนวัตกรรมแล้วในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกยังมีคะแนนหลักที่พิจารณาจากความร่วมมือกับภาคเศรษฐกิจอีกด้วย
ไม่ว่าท้ายที่สุดแล้ว พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ฉบับที่ใช้จริงจะเป็นไปในทิศทางใด ในฐานะของสถาบันวิจัยอันดับต้นๆ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านงานวิจัยและนวัตกรรม deep tech ซึ่งได้แก่ การพัฒนาวัคซีน ชุดตรวจทางการแพทย์ ยาแผนปัจจุบัน อาหาร ฯลฯ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชาติ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมผู้บริหาร พร้อมพิสูจน์สร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมคุณภาพด้วยความพร้อมเต็มเปี่ยม
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความคิดเห็นต่อการเตรียมความพร้อมของสถาบันฯ ว่า หากมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้นักวิจัยรู้ว่าการตีพิมพ์ผลงานวิจัย หรือสิทธิบัตรอย่างเดียวไม่เพียงพอ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำผลงานไปใช้ประโยชน์จริงและช่วยสร้างเศรษฐกิจชาติ ซึ่งทุกสถาบันอุดมศึกษามีบทบาทสำคัญในการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้กับประเทศ จึงจำเป็นต้องเร่งสร้าง mindset ที่เปิดประตูสู่ภาคเศรษฐกิจ เพื่อนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์สังคม และสร้างรายได้กลับคืนมาต่อยอดทำงานวิจัยให้ประเทศชาติพร้อมก้าวไปข้างหน้า
ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... มีหลายประเด็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนิยามของการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการจัดทำบริการ การให้สิทธิ์ผู้รับทุน ซึ่งได้แก่ มหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม และให้ได้รับผลตอบแทนอย่างเต็มที่ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนการจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งให้แก่นักวิจัย เป็นต้น ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์ มองว่าสถาบันฯ ซึ่งมุ่งผลิตงานวิจัยและนวัตกรรม ต้องมีทีมบริหารจัดการงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญามืออาชีพ เพื่อช่วยนักวิจัยวางแผนการใช้ประโยชน์ หรือ มีกลยุทธ์นำผลงานไปใช้เชิงพาณิชย์ เชิงสังคมหรือนโยบาย ให้รวดเร็วที่สุด ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ เร่งส่งมอบคุณค่าของงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยให้แก่ประเทศ และภาคประชาสังคม
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพลกล่าวต่อไปว่า ประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญมากในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... แต่ยังไม่ค่อยมีผู้ใดกล่าวถึงคือ ในภาวะฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นต้องบรรเทาภัยพิบัติหรือผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ร่างพ.ร.บ.ได้กำหนดให้รัฐสามารถเข้ามามีบทบาทในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปใช้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศได้ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสามารถเป็นที่พึ่งในยามยาก ใช้แก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆ ให้แก่ประเทศได้ โดยรัฐอาจจะเข้ามาช่วยปลดล็อกในเรื่องการนำไปใช้ ให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว และจะมีการให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามสมควรอีกด้วย
“ถ้ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ บุคลากรเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เพียงพอ ก็จะสามารถทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม รวมทั้งใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างเต็มที่ ถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยควรปรับกลยุทธ์ให้เปิดประตูสู่ภาคเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับหลายๆมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง และเพิ่มโอกาสแก่ประเทศในการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์นรัตถพลกล่าวทิ้งท้าย