ในการมุ่งสู่มหาวิทยาลัยอันดับโลก การเป็นเลิศเพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งไม่เพียงพอ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างสาขาวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้พร้อมเดินหน้าสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและมวลมนุษยชาติ ซึ่ง"การลงทุนในมนุษย์" คือ การลงทุนที่คุ้มค่า และยั่งยืนที่สุดยิ่งลงทุนได้เร็วจะยิ่งได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า จึงเป็นที่มาของ "นักวิจัยสำเร็จรูป" ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จทางวิชาการสู่การสร้างเครือข่ายที่สังคมโลกในยุคปัจจุบันกำลังต้องการ
มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาอันดับต้นๆของไทย ที่มุ่งขึ้นสู่การเป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยอันดับโลก ภายในปีพ.ศ.2573 ได้ริเริ่มให้มีโครงการ "นักวิจัยสำเร็จรูป" ขึ้น เพื่อค้นหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมีผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์ในสาขาต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างเครือข่ายวิจัยและนวัตกรรม เพื่อรองรับการพัฒนาสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเปรียบเหมือน "ชุมชนแห่งการเรียนรู้" ที่บ่มเพาะส่งต่อความรู้สู่คนรุ่นใหม่ ยิ่งสังคมมีความซับซ้อน หรือวิกฤติมากพียงใด ยิ่งจำเป็นต้องหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถจากหลากหลายสาขาวิชามาร่วมแก้ไขปัญหาให้ได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้นเช่นเดียวกับ "กองทัพที่ยิ่งใหญ่" จำเป็นต้องมี "ขุนพลที่ยิ่งใหญ่" ซึ่งการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน หรือวิกฤติในยามนี้ได้ จำเป็นต้องใช้ขุนพลที่มากเพียงพอ โครงการ"นักวิจัยสำเร็จรูป" ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ริเริ่มขึ้นนี้ จึงเป็นการตอบโจทย์ที่เร่งด่วนของสังคมในยามนี้ได้ดีที่สุด
ศาสตราจารย์ นายแพทย์วชิร คชการ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวเสริมถึงรายละเอียดของโครงการ "นักวิจัยสำเร็จรูป" ว่า เป็นการค้นหาผู้ที่มีความรู้สามารถโดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้มากด้วยประสบการณ์และความอาวุโส และกลุ่มดาวรุ่งที่มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่น โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยมหิดล หรือมีความโยงใยกับมหาวิทยาลัยมหิดลมาก่อน ซึ่งผู้ที่ได้รับการสรรหาจะมีศักยภาพในการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระดับสูงอยู่แล้ว สามารถต่อยอดทำงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทันที โดยจะได้รับการจัดสรรเงินทุน เครื่องมือ ตลอดจนอุปกรณ์ที่จำเป็น ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลจัดไว้รองรับอย่างเต็มที่ อีกทั้งมีการสร้างทีมสนับสนุนวิจัยจากกลุ่มนักวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoctoral researchers) ที่มหาวิทยาลัยมหิดลจะได้จัดสวัสดิการเพื่อเพิ่มความมั่นคงไว้พร้อมรองรับอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ กำจัดภัย เป็นบุคลากรคนแรกของโครงการ "นักวิจัยสำเร็จรูป" ของมหาวิทยาลัยมหิดลนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ฟิสิกส์ทฤษฎีและปรัชญาธรรมชาตินครสวรรค์ หรือ "อาศรมวิชชาลัยเพื่อการค้นคว้าขั้นก้าวหน้า" โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมนักวิชาการทางฟิสิกส์ทฤษฎี และนักคิดสาขาอื่นที่จะวิพากษ์ และทำความเข้าใจระบบธรรมชาติต่างๆ อาทิ ควอนตัม ยีน โครงข่ายซับซ้อน รวมไปถึงระบบทางสังคม และจักรวาล อันเป็นการมุ่งเข้าใจเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อทรรศนะทางวิชาการ และการนำไปใช้พัฒนา หรือพยากรณ์อันเป็นประโยชน์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ กำจัดภัย เคยได้รับทุน "วุฒิเมธีวิจัย สกว." จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ถึง 2 สมัย ปัจจุบันเป็น Royal Society-Newton Advanced Fellow ของ The Royal Society (London) และยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เสนอทฤษฎี "Thermodynamics Formulation of Economics" ที่บูรณาการกระบวนทัศน์ทางอุณหพลศาสตร์(Thermodynamics) และเศรษฐศาสตร์ (Economics) เข้าด้วยกันจนได้รับรางวัล Richard Newbold Adams Prize 2020 ด้วยผลงานซึ่งเกี่ยวกับรูปแบบทางอุณหพลศาสตร์ของระบบเศรษฐกิจฝั่งอุปสงค์ (Demand-side economics) เมื่อปีพ.ศ.2563 จาก International Association for the Integration of Science and Engineering (IAISAE) ประเทศสหรัฐอเมริกา
รองศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ อธิบายว่า "อุณหพลศาสตร์" สามารถใช้ในการอธิบายระบบเศรษฐกิจได้โดยใช้หลักคิดที่ว่าระบบทางอุณหพลศาสตร์นั้นเป็นระบบที่ประกอบด้วยองค์ประกอบย่อย เช่น อะตอม หรือโมเลกุลจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยผู้ซื้อ และผู้ผลิตจำนวนมาก ซึ่งทฤษฎี "Thermodynamics Formulation of Economics" ได้ถือว่า "ความมั่งคั่ง" เปรียบเหมือน "พลังงานภายใน" ทางอุณหพลศาสตร์ โดยเป็นผลรวมกันระหว่าง "สินทรัพย์" กับ "ความสุข" ซึ่งเปรียบกับ"พลังงานจลน์" (kinetic energy) ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ เมื่อรวมกับพลังงานจลน์ที่เป็นความร้อน จะเห็นได้ถึง "การไหลของความร้อน" ที่เปรียบได้กับการได้มาซึ่ง "ความพึงพอใจ" รวมกับ "สิทธิ์" ที่ได้เป็นเจ้าของ และ "โอกาสในการใช้สอยสินค้าที่ซื้อมา" นั้น หรือ "โอกาสในการนำไปลงทุน" แม้จะมีคำถามต่อมาว่า "ความสุข" นั้นไม่อาจวัดได้ แต่ในทฤษฎีดังกล่าวได้ยืนยันว่า การใช้สอยนั้นหมดเงินไปเพื่อ "ความสุข" ซึ่งการวัดไม่ได้นั้นไม่เป็นปัญหาย้อนแย้งกับทฤษฎีฯ เพราะพลังงานภายในและพลังงานจลน์ซึ่งเป็นความร้อนนั้นไม่อาจค่าได้อย่างสมบูรณ์ หากแต่วัดได้เพียงการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น รองศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ กำจัดภัย ยังย้ำด้วยว่าการที่มนุษย์ใช้ "เงิน" หรือ "สินทรัพย์" ในการแลกซื้อสินค้ามานั้น "การครอบครอง" แต่สินทรัพย์อย่างเดียว ย่อมไม่นำไปสู่ "การซื้อ" ได้ แต่มนุษย์จะต้องมี "ความทรงจำ" หรือการรับรู้" ที่เกี่ยวกับ "ความสุุข" ในการบริโภคใช้สอยสินค้าและบริการนั้นด้วย จึงจะเกิด "การซื้อ" ขึ้นได้
รองศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ ตั้งใจจะสร้าง"อาศรมวิชชาลัยฯ" ให้ไม่เป็นเพียงศูนย์วิจัยที่พยายามสร้างความเข้าใจในกระบวนทัศน์ที่ถูกต้องของหลักปัญญาของวิชาฟิสิกส์เท่านั้น แต่จะให้ได้เข้าถึงความเข้าใจใน"ธรรมชาติของทฤษฎี" หรือ "ทฤษฎีของทฤษฎี" อันอาจนำไปประยุกต์ได้กับระบบต่างๆ ในศาสตร์อื่นๆ รวมทั้งระบบสังคมได้ ในทางกลับกัน รองศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ กำจัดภัย เห็นว่ากระบวนทัศน์ และเครื่องมือทางทฤษฎีทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ก็สามารถช่วยเติมเต็มกระบวนทัศน์ให้กับ "ปรัชญาธรรมชาติ" ของวิทยาศาสตร์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปได้เช่นกัน
นอกจากการเปิดสอนของ "อาศรมวิชชาลัยฯ" ในระดับปริญญาเอกในปีการศึกษา 2565 แล้ว ยังจัดให้มีกิจกรรมวิจัยและสัมมนาทาง "จักรวาลวิทยาเชิงทฤษฎี" "ทฤษฎีสนามควอนตัม" และ "ระบบซับซ้อนกับปรัชญาของระบบธรรมชาติ" ด้วยตลอดทั้งปี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ กำจัดภัย ตั้งใจจะทำให้ "อาศรมวิชชาลัยฯ" แห่งนี้ เป็น"ชุมชนนักคิดนักวิจัย" ที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับสูงไม่ใช่แค่ความรู้ในหลักสูตร หากแต่เป็นชุมชนนักคิด"ปัญญานิยม" รวมทั้งเป็นที่มาเยือนของนักวิชาการคนสำคัญ และต้องการเผยแพร่ฐานความคิดเชิงวิพากษ์นี้สู่โรงเรียนมัธยมศึกษาต่างๆ ในชนบท ผ่าน "ค่ายกิจกรรมฟิสิกส์" เพื่อสร้างสรรค์ทรรศนะที่ดีต่อองค์ความรู้ในสาขาต่างๆ แก่ครู และนักเรียน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสรรค์สร้าง "สังคมปัญญานิยม" นี้ต่อไปในอนาคต
ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล