กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เดินหน้าตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ ย้ำสหกรณ์จัดทำบัญชีและงบการเงินตามระเบียบที่กำหนด และมีระบบการควบคุมภายในที่เข้มแข็ง ป้องกันปัญหาการทุจริต พร้อมนำเทคโนโลยีด้านบัญชี ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลสหกรณ์ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. นางพิศมัย อรรถธรรมสุนทร ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 10 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า “สหกรณ์” นับเป็นสถาบันที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ มีการดำเนินงานโดยคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ฝ่ายจัดการ และมีผู้ตรวจสอบกิจการที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ให้ทำหน้าที่สอดส่องดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งรัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญกับระบบสหกรณ์ที่จะเป็นกลไกพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีส่วนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิกสหกรณ์และคนในชุมชน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับดูแล ดำเนินงานตามภารกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ทั้งในด้านการตรวจสอบบัญชี ให้สามารถจัดทำบัญชีและงบการเงินได้และควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพสอบบัญชีและตามที่ระเบียบกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการตรวจสอบบัญชีอย่างโปร่งใส ลดความเสี่ยงจากการทุจริต สามารถนำผลการตรวจสอบบัญชีและข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีไปแก้ไข ปรับปรุงเพื่อให้การบริหารจัดการของสหกรณ์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินงานสนองตามนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี รวมถึงให้ข้อแนะนำกำกับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร นางพิศมัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน พบว่า หลายสหกรณ์ยังประสบปัญหาการควบคุมภายใน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และฝ่ายจัดการที่ขาดความรู้และประสบการณ์ในทางธุรกิจและการบริหารงานสหกรณ์ ขาดความเข้าใจในหลักวิธีการสหกรณ์ ระเบียบและข้อบังคับของสหกรณ์ หรือแม้แต่ปัญหาจากสมาชิกที่ละเลย ไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ หรือการไม่ชำระหนี้คืนแก่สหกรณ์ตามกำหนด ทำให้เงินทุนหมุนเวียนของสหกรณ์ลดลงและอาจส่งผลให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นต้น จากปัญหาเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมสหกรณ์ เพื่อควบคุมการบริหารงานและเพื่อให้ได้ข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้อง ครบถ้วน ตรงตามเวลา ป้องกันข้อผิดพลาด ดูแลทรัพย์สินของสหกรณ์ไม่ให้เกิดความเสียหายและช่วยให้งานตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายของทางราชการในการตรวจสอบบัญชีและงบการเงินของสหกรณ์ได้รวดเร็วขึ้น จึงขอแนะนำแนวทางการควบคุมสหกรณ์ เพื่อให้การบริหารจัดการของสหกรณ์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประกอบด้วย การควบคุมภายใน (Internal Control) และการควบคุมภายนอก (External Control) 1.การควบคุมภายใน เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความถูกต้องของข้อมูลทางบัญชีและงบการเงิน ส่งผลให้สหกรณ์มีความมั่นคง ทำให้สมาชิกและบุคคลภายนอกที่ทำธุรกรรมกับสหกรณ์มีความเชื่อถือสหกรณ์มากขึ้น โดยเครื่องมือที่ช่วยในการควบคุมภายในด้านบัญชีของสหกรณ์ที่สำคัญ ได้แก่ เจ้าหน้าที่บัญชี ต้องมีความรู้ด้านบัญชีเพียงพอที่จะทำบัญชีได้ถูกต้องตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ.2563 แบ่งแยกหน้าที่ด้านการเงินและการบัญชีออกจากกัน เพื่อให้มีการตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ถูกต้อง จัดทำทะเบียนสมาชิกและทะเบียนหุ้น และทะเบียนต่างๆ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จัดทำบัญชีตามแบบและรายการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดให้ถูกต้องตามความเป็นจริง จัดทำงบการเงินประจำปี ทุกรอบปีทางบัญชีของสหกรณ์ โดยงบการเงินประจำปีต้องเป็นไปตามแบบ ที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ คัดเลือกผู้ตรวจสอบกิจการที่มีคุณสมบัติและมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินการตรวจสอบกิจการและรายงานผลการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ เพื่อให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ สมาชิก ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของสหกรณ์และเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากสหกรณ์ เป็นผู้กำหนดนโยบาย แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของสหกรณ์และเป็นผู้ควบคุมสหกรณ์โดยผ่าน ที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกทั้งหมด นอกจากนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้สนับสนุนให้สหกรณ์มีการใช้เทคโนโลยีในงานด้านบัญชี ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์หลายแห่งได้นำโปรแกรมบัญชีมาช่วยในการบันทึกและประมวลผลข้อมูลเพื่อจัดทำงบการเงิน หรือรายงานทางการเงินต่างๆ ทำให้สามารถนำเสนอข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และฝ่ายจัดการได้รวดเร็วทันเวลายิ่งขึ้น ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้พัฒนาระบบบัญชีให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในปัจจุบัน อาทิ โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (Cooperative Full Pack Accounting Software : FAS) ซึ่งสามารถรองรับการจัดทำงบการเงินได้ตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด รวมถึงรองรับการเชื่อมโยงสู่ระบบเตือนภัยทางการเงินแบบ Real Time และเชื่อมโยงกับ Application Smart 4M เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสหกรณ์ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อีกทั้งสมาชิกสามารถตรวจสอบข้อมูลของตนเองและติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์ได้ เมื่อสหกรณ์ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดทำบัญชี สามารถประมวลผลได้เป็นปัจจุบัน ภายใต้การควบคุมภายในที่ดี ผู้สอบบัญชีสามารถตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น เพื่อประเมินความพร้อมและประเมินความเสี่ยงในการสอบบัญชี รวมทั้งสามารถวางแผนการตรวจสอบบัญชีระยะไกล (Remote Audit) โดยการนำข้อมูลของสหกรณ์ที่อยู่ในรูปแบบไฟล์ข้อมูลไปตรวจสอบโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ACL/CATS/EWP) ช่วยในการตรวจสอบบัญชี ซึ่งเป็นการประหยัดเวลาและช่วยลดค่าใช้จ่ายการตรวจสอบบัญชีของทางราชการ ส่งผลให้ผู้สอบบัญชีสามารถตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ได้รวดเร็วขึ้นและสอดคล้องกับมาตราการณ์เฝ้าระวัง ป้องกัน และเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถปฏิบัติงานสอบบัญชีโดยเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ได้อีกทางหนึ่ง 2.การควบคุมภายนอก (External Control) เป็นการควบคุมสหกรณ์โดยทางราชการ ซึ่งผู้ควบคุม คือ นายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายเป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลสหกรณ์ให้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ให้อำนาจแก่ผู้มีหน้าที่ควบคุมสหกรณ์ ได้แก่ อำนาจในการออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ชี้แจงข้อเท็จจริงหรือส่งเอกสาร อำนาจในการเข้าไปตรวจสอบในสำนักงานของสหกรณ์ อำนาจในการตรวจการสหกรณ์ อำนาจในการสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ อำนาจในการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแทนสหกรณ์ อำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชั่วคราวและอำนาจในการสั่งเลิกสหกรณ์ เป็นต้น “การควบคุมสหกรณ์ ที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ให้เป็นแนวทางในการกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานในส่วนต่างๆ ของสหกรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ หากสหกรณ์ปฏิบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้น ในระบบสหกรณ์และเรียกความเชื่อมั่นศรัทธาของสมาชิกให้เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องช่วยกันร่วมสอดส่องดูแล ร่วมกันพัฒนาระบบสหกรณ์ไทยให้เกิดความมั่นคงและเข้มแข็ง ให้สมาชิกรู้สึกมีส่วนร่วม ในการเป็นเจ้าของสหกรณ์ โดยร่วมตรวจสอบการดำเนินการของสหกรณ์ ที่สำคัญคือ การสร้างมาตรฐานด้านบัญชีให้สหกรณ์ทุกแห่งนำมาใช้บริหารจัดการธุรกิจสหกรณ์”นางพิศมัย กล่าว