ฮือฮา ต้นลำเจียกโบราณ ออกดอกครั้งแรกในรอบ1,300 ปี ต้อนรับสมเด็จพระเทพฯ ที่จะเสด็จมาในพื้นที่ต้นเดือนหน้า ชาวบ้านเชื่อตามตำนานพระนางศรีจันทรา ที่ก่อนถูกจับไปเป็นมเหสี ได้ปลูกต้นลำเจียกและอธิษฐานไว้ว่า ถ้าตนได้กลับมาขอให้ต้นลำเจียกออกดอก ถ้าไม่ได้กลับขออย่าให้ออกดอก ขณะที่เมื่อปี 31 สมเด็จพระเทพเสด็จมา ต้นลำเจียกส่งกลิ่นหอมโชยทั่วบริเวณ ขณะที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวแห่ชมทั้งวัน
วันนี้ (24 มิ.ย.64) ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สุรินทร์ รายงานว่า ที่ปราสาทภูมิโปน ซึ่งเป็นปราสาทที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย อายุกว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่บ้านภูมิโปน ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ พบว่าตลอดทั้งวันมีประชาชนและนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางไปชมความงามของดอกลำเจียก ที่กำลังบานเป็นสีเหลือง ท่ามกลางดงของต้นลำเจียกสีเขียว เพียงดอกเดียว อยู่บริเวณข้างสระบัวข้างปราสาทภูมิโปนแห่งนี้ ซึ่งเป็นต้นลำเจียกสายพันธุ์โบราณที่อยู่คู่กับปราสาทภูมิโปนแห่งนี้มากว่า 1,300 ปีแล้ว และสายพันธุ์ของต้นลำเจียกที่นี่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยออกดอกให้เห็นเลยมานานนับพันปี และครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ออกดอกและชาวบ้านต่างฮือฮากับเรื่องราวที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีตำนานเรื่องเล่าของปราสาทโบราณแห่งนี้ที่ว่า “พระนางศรีจันทรา หรือ ราชวงศ์พระจันทร์ เจ้าหญิงแห่งภูมิโปน ได้ปลูกต้นลำเจียกเสี่ยงทายก่อนที่พระนางจะถูกจับจากภูมิโปนไปเป็นมเหสีของกษัตริย์แห่งนครนายพราน (จยาธปุระ) ถ้านางไม่ได้กลับ ขอให้ต้นลำเจียกอย่าออกดอก นับแต่นั้นมา ต้นลำเจียกที่นี่ไม่เคยออกดอกอีกเลย”นอกจากนี้มีเรื่องราวจากชาวบ้านภูมิดปนแห่งนี้ ที่เล่ากันว่า เมื่อประมาณปี 2531 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรชมปราสาทภูมโปนและเยี่ยนเยือนราษฎร ในพื้นที่ และเกิดปรากฏการณ์ดอกลำเจียกส่งกลิ่นหอมลอยโชยคละคลุ้งทั่วบริเวณปราสาทภูมิโปนจนชาวบ้านรู้สึกแปลกใจ แต่ไม่พบว่ามีดอกลำเจียกบานแต่อย่างใด
และคราวนี้ที่ดอกลำเจียกบาน ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทภูมิโปน ที่ทำให้ดอกลำเจียกบาน อาจเกิดจากการกลับมาของพระนางศรีจันทรา ตามเรื่องเล่าในตำนาน ประกอบกับตรงกันที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินมาในพื้นที่ ในช่วงต้นเดือน ก.ค.64 นี้อีกด้วย
นางเผย อกอุ่น อายุ 70 ปี อยู่บ้านเลขที่ 75 บ.ภูมิโปน ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนเองเกิดมา 70 ปี ไม่เคยเห็นดอกลำเจียกเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ต้นลำเจียกที่นี่ไม่เคยออกดอก ต้องมนต์ถูกคำสาป พระนางศรีจันทรา อธิษฐานไว้ก่อนจากปราสาทภูมิโปนไปเป็นมเหสี ถ้าได้กลับมาขอให้ออกดอก ถ้าไม่ได้กลับมาไม่ให้ออกดอก เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เห็น เมื่อปี 31 เห็นคนอื่นว่าออกดอกและมีกลิ่นหอม แต่ตนเองไม่เห็นดอก วึ่งดอกลำเจียกเริ่มบานมาตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.64 ที่ผ่านมาแล้ว
นายณัฐกัญ อาวรณ์ อายุ 53 ปี และ น.ส.มนัญชนก อาวรณ์ อายุ 41 ปี สองสามีภรรยาอยู่บ้านเลขที่ 110 บ.เทพอุดม ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนมาเป็นเขยที่บ้านภูมิโปนแห่งนี้มา 10 กว่าปี เคยทำงานแสดงแสงสีสียงที่ปราสาทแห่งนี้ ก็ไม่เคยเห็นออกดอก แต่เมื่อปี 2531 ที่สมเด็จพระเทพเสด็จมา ชาวบ้านว่าออกดอก มีกลิ่นหอม และครั้งนี้เป้นครั้งแรกที่เห็น ซึ่งเรื่องเล่ามีอยู่ว่า พระนางศรีจันทราปลูกไว้ ถ้าไม่ได้กลับมาที่นี่ขอให้ลำเจียกไม่ออกดอก และปี 31 สมเด็จพระเทพเสด็จพระราชดำเนินมา ต้นลำเจียกออกดอกส่งกลิ่นหอม ชาวบ้านเชื่อว่า เจ้าของลำเจียกกลับมา พระนางศรีจันทรากลับชาติมาเกิดเป็นสมเด็จพระเทพฯและการออกดอกครั้งนี้ ก็ได้ยินกระแสมาว่าพระเทพฯจะเสด็จมาที่โรงเรียน ตชด.บ้านตาแตรว ต.เทพรักษา อ.สังขะในพื้นที่ใกล้เคียง ในต้นเดือนหน้า เหมือนกับเรื่องเล่าในตำนาน ชาวบ้านเชื่ออย่างนั้น ตนรู้สึกยินดีและดีใจที่สมเด็จพระเทพฯเสด็จมา ดอกลำเจียกบานเหมือนกับบานมาต้อนรับ ต้นไม้พูดไม่ได้ แต่ยังแสดงอาการแบบนี้ได้พูดแล้วก็ขนลุก ขอถวายพระพรให้พระองค์ท่านมีพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงและทรงพระเจริญยิ่งๆขึ้นไป
นายทด แม่นผล สมาชิก อบต.ดม และ มัคคุเทศก์ชุมชน กล่าวว่า ตนเกิดมา 50 ปี พึ่งเคยเห็นต้นลำเจียกออกดอก ครั้งแรกในชีวิต โดยมีตำนานของเนียงเดาะธม หรือพระนางศรีจันทรา ปลูกไว้และอธิษฐานไว้ก่อนจะถูกจับไปเป็นมเหสีอีกเมืองว่า ถ้าได้กลับมาขอให้ออกดอก ถ้าไม่ได้กลับขอให้ไม่ออกดอก การออการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นปรากฏการณ์ ที่สมเด็จพระเทพพระองค์ท่านเสด็จประภาสมาที่ปราสาทภูมิโปนเมื่อปี 31 ได้มีกลิ่นหองของดอกลำเจียกโชยทั่วบริเวณ แต่ไม่มีใครพบเห็นดอก มีแต่กลิ่น ครั้งนี้น่าจะเป็นพระองค์ท่านเสด็จผ่านมายัง ร.ร.ตชด.บ้านตาแตรว ต.เทพรักษา อ.สังขะ น่าจะบานต้อนรับพระองค์ท่าน ซึ่งปกติแล้ว ต้นลำเจียกทั่วไปในที่หมู่บ้านหรือในป่าอื่นจะมีดอก แต่ที่นี่ไม่มีดอก มัคคุเทศก์ชุมชนกล่าว
สำหรับปราสาทภูมิโปน ประกอบด้วย โบราณสถาน 4 หลัง คือ ปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง และศิลาแลง 1 หลัง มีอายุการก่อสร้าง อย่างน้อย 2 สมัย ปราสาทก่ออิฐหลังใหญ่ และหลังทางทิศเหนือสุด นับเป็นปราสาท แบบศิลปะเขมร ที่มีอายุเก่าที่สุด ในประเทศไทย คือราวพุทธศตวรรษที่ 13 หรือประมาณ 1,300 ปี