ประชุมร่วมรัฐสภาเดือด! "ส.ส.-ส.ว."เรียกร้องสภาฯ คว่ำร่างแก้รธน.ฉบับ"พปชร." ชี้มีเจตนากินรวบ ด้าน"ถวิล"พร้อมปิดสวิตซ์ตัวเองหากนักการเมืองดีมีมากกว่าคนไม่ดี "กมธ.พัฒนาการเมือง"เล็งเชิญ"บิ๊กป๊อก"แจงวันเลือกตั้ง"ผู้ว่าฯกทม.-ส.ก." หลังคสช. ตั้งครบวาระ 4 ปี ขณะที่"ม็อบ 24 มิถุนา"บุกสภา "ไมค์-รุ้ง-ไผ่-กวิ้น"นำขบวนยื่น"วิปฝ่ายค้าน" แก้รธน.ฉบับประชาชน "Re-solution" ล่าชื่อรื้อ"ระบอบประยุทธ์" ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.64 มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ ต่อมา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ระบบการเลือกตั้งควรใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อเลือกส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ ส่วนการคำนวณส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีในสภาฯ ให้ใช้คะแนนจากการเลือกบัญชีรายชื่อ คำนวณส.ส.ที่พึงมี หากมีพรรคที่ได้คะแนนเลือกตั้ง 20% จะได้ส.ส.เข้าสภา 20% จะทำให้โกงด้วยสูตรคำนวณไม่ได้ และเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมา สำหรับส.ส.เขตที่ชนะให้ถือว่าได้เป็นส.ส. และหากพรรคใดได้ส.ส. ไม่ครบตามจำนวนที่พึงมีให้เติมเต็มจากบัญชีรายชื่อตามลำดับ การเลือกตั้งปี 2540 เกิดปรากฎการณ์ ส.ส. มากเกินจริงของพรรคใหญ่ หากกำหนดสัดส่วนที่เป็นธรรม จะสามารถตรวจสอบ ถ่วงดุลและมีความหลากหลาย หากไม่เห็นด้วยที่มีพรรคเล็กมากเกินไป สามารถกำหนดคะแนนขั้นต่ำที่เป็นธรรม ของตัวแทนประชาชนที่จะมีสิทธิ์ได้เป็นส.ส. ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดขั้วการเมืองเหมือนปี 2540 และทำให้สภาฯ เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ปัจจุบันและอนาคต "ผมขอเรียกร้องให้รัฐสภาปฏิเสธร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ที่ส่อเจตนากินรวบสภา และขอให้คว่ำในวาระหนึ่ง และเรียกร้องให้รัฐสภาสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการคืนอำนาจให้ประชาชน ใช้การออกเสียงประชามติ ถามประชาชนให้มีส.ส.ร.ออกแบบระบบเลือกตั้งให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม"นายปดิพัทธ์ กล่าว ส่วน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า กรณีที่รัฐสภาจะลงมติรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐที่ขอแก้มาตรา 144 และ มาตรา 185 อาจจะมีปัญหาว่า ในชั้นกรรมาธิการจะปรับแก้ได้หรือไม่ เพราะอาจเป็นการแก้ไขที่เกินหลักการ ดังนั้นหากไม่รับในเรื่องการออกแบบของระบบเลือกตั้งยังกำหนดไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ในการอภิปรายของส.ว.นั้นส่วนใหญ่ยังแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา185 ที่เปิดช่องให้นักการเมืองแทรกแซงการทำงานของข้าราชการ รวมถึงล้วงลูกงบประมารแผ่นดิน รวมถึงการปรับระบบเลือกตั้ง และการแก้ไขมาตรา 45 ที่ตัดสิทธิของสมาชิกพรรคในการมีส่วนร่วมของพรรคการเมืองต่อการกำหนดตัวบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้งและนโยบายของพรรการเมือง ทั้งนี้มีส.ว.ที่แสดงความเห็นด้วยต่อข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ต่อการใช้ระบบเอ็มเอ็มพีในระบบเลือกตั้งใหม่ อาทิ นายพลเดช ปิ่นประทีป ส.ว. เป็นต้น ขณะที่ นายถวิล เปลี่ยนสี ส.ว. อภิปรายว่า ตนรับไม่ได้ที่จะแก้ไข มาตรา 144 และ มาตรา185 เพราะนักการเมืองไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับข้าราชการ เพราะข้าราชการไม่ใช่พนักงานบริษัท ดังนั้นควรให้ข้าราชการทำงาน และเป็นไปด้วยระบบคุณธรรม ไม่มีการแทรกแซง ส่วนกรณีที่เสนอให้ปิดสวิตซ์ส.ว.นั้น ขอให้พูดคุยด้วยเหตุผล อย่าพูดเอามัน และตนขอกระซิบเบาๆ ว่าส.ว.ปิดสวิตซ์ตัวเองได้ ไม่มีใครไล่ปิดอีกต่อไป ส.ว.โดนด่าฟรี ทั้งที่ตอนเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น ด้วยเสียงส.ส.ไม่ใช่เสียงของส.ว. แบบนี้เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่งกลับโดนด่าฟรี ตนยอมรับว่าส.ว.ไม่ได้มาจากประชาชน การเห็นชอบนายกรัฐมนตรีไม่เป็นประชาธิปไตย หากเป็นสถานการณ์ปกติไม่ควรมี "ขอให้ตั้งสติ พิจารณาให้เป็นธรรม ใจกว้าง ว่าความจริงเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ตามหลักการที่สวยหรูหรือไม่ ที่ผ่านมาบ้านเมืองมืดมน ไม่ใช่ฝีมือพวกผม แต่มีกลุ่มที่อาศัยประชาธิปไตยบังหน้า โกงกิน คอร์รัปชั่น ทำบ้านเมืองเสียหาย และเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม จนมีผู้ประท้วงจำนวนมาก ผมยอมรับว่ามีนักการเมืองที่ดี แต่มีไม่พอต้านทานคนไม่ดี ดังนั้นบทเฉพาะกาล จึงเขียนให้มีส.ว. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี" นายถวิล กล่าว วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายพีรพล กนกวลัย และคณะ ในฐานะว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยื่นหนังสือถึง นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ผิดกฎหมายของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และคณะกรรมการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นายณัฐชา กล่าวว่า ภายหลังที่ คสช.ได้มีประกาศที่ 86/2557 แต่งตั้ง ส.ก.จำนวน 30 คน ให้ทำหน้าที่เช่นเดียวกับ ส.ก.ที่มาจากการการเลือกตั้ง รวมทั้งแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ขณะนี้ได้บริหารมาครบ 4 ปี ซึ่งตามกฎหมายจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีท่าทีที่จะให้จัดการเลือกตั้งขึ้น ก่อนหน้านี้ กมธ.ได้เชิญตัวแทนจาก กทม.และ กกต.ซึ่งยืนยันว่าพร้อมจัดการเลือกตั้งรวมทั้งงบประมาณ เหลือเพียงฝ่ายนโยบายเท่านั้นที่ยังไม่กำหนดวันเลือกตั้งออกมา ด้วยเหตุนี้ กมธ.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้ามาหารือโดยจะเชิญ พล.อ.อนุพงษ์ รวมถึงตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้ามาสอบถามว่าจะให้มีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และส.ก.เมื่อใด ทั้งนี้เมื่อ กมธ.ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเสร็จก็จะทำหนังสือถึง ครม.ต่อไป "ที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. และส.ก.ที่มาจากการแต่งตั้งทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนทั้งวิกฤตโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งการอนุมัติโครงการต่างๆ ใน กทม. ชาวกรุงเทพฯ ก็ไม่ทราบเรื่อง จึงทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นเพราะไม่มีตัวแทนของประชาชนที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้"นายณัฐชา กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา แยกเกียกกาย ตั้งแต่เวลา 12.00 น. กลุ่มแนวหน้า วินมอไซต์เคลื่อนที่เร็วกว่า 100 คัน เข้ายึดพื้นที่บริเวณสี่แยกเกียกกาย ถนนทหาร ทางเข้าด้านข้างอาคารรัฐสภา ตึกพระสุริยัน (ฝั่งส.ส.) โดยกระจายการ์ดผ้าพันคอเขียวทั้ง 4 มุม ของแยกเกียกกาย และตั้งเวทีชั่วคราวที่หัวมุม 4 แยกเกียกกาย ด้านหน้าอาคารรัฐสภา โดยมีการเล่นดนตรี รวบรวมผู้ชุมนุมให้เกาะกลุ่มกัน มีการขึ้นปราศรัยจากกลุ่มไอลอว์ การแสดงจากวงสามัญชน และกลุ่มราษฎรมูเตลู ขณะที่ มวลชนทยอยเดินทางเข้าร่วม มีการตั้งซุ้มสีส้มเพื่อล่ารายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมฉบับภาคประชาชน ของกลุ่ม Re-solutin รื้อระบอบประยุทธ์ ซึ่งขณะนี้ใกล้ครบจำนวน 5 หมื่นรายชื่อแล้ว โดยมีแกนนำเข้าร่วม อาทิ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ,นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ,นายภานุพงศ์ จาดนอก และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นอกจากนี้มีการตั้งร้านค้า CIA ตลอดแนวถนนไปจนถึงด้านหน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ต่อมา เวลา 13.00 น. ขบวนกลุ่มทะลุฟ้า และกลุ่มธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ได้ออกเดินเท้าพร้อมรถเครื่องเสียงนำขบวน 5 คัน โดยมีสัญลักษณ์หมุดราษฎรขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร นำขบวนเดินเท้ามาถึงแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนทหารพร้อมเข้าร่วมกับมวลชนที่ปักหลักรออยู่ก่อนหน้านี้ ด้าน ตัวแทนวิปฝ่ายค้าน ซึ่งแกนนำได้ประสาน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และได้ส่ง นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี และนายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนวิปฝ่ายค้านออกมารับเรื่องจากตัวแทนผู้ชุมนุม ได้แก่ นายพริษฐ์ ,นายจตุภัทร์ ,นายภานุพงศ์ และน.ส.ปนัสยา และในเวลา 16.00 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มคนไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประชาธิปไตย นำแนวร่วมปักหลักตั้งเวทีปราศรัยที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนที่จะมีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล