ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ มีการเลี้ยงวัว ควายทุกประเภท มากเป็นอันดับ 6 ของภาคอีสาน มากกว่า 1 แสน 2 หมื่นตัว มีวัวตายจากโรคลัมปีสกินแล้ว 66 ตัว ยังไม่ได้รับวัคซีนที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพจากกรมปศุสัตว์มาฉีดป้องกันโรคให้กับวัว ควายที่เลี้ยงไว้อย่างเพียงพอ เร่งใช้ ภูมิปัญญาชาวบ้านสมุนไพรไล่แมลง พาหะนำเชื้อไม่ให้มากัดวัว ควายที่เลี้ยงไว้ ช่วยลดจำนวนป่วย ตายให้เร็วที่สุด
วันนี้(24มิ.ย.2464) ที่ วัดโคกสว่าง บ้านห้วยบง ต.ห้วยบง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานจัดงานรณรงค์ควบคุม ป้องกันและกำจัดโรคลัมปีสกิน (Lumpy Skin Disease) หลังจากในขณะนี้ โรคลัมปีสกิน ประเทศไทยพบมีการแพร่ระบาดใน 56 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดชัยภูมิ พบมีการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินทั้ง 16 อำเภอจังหวัดชัยภูมิ ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากวัวตาย 1,120 ราย มีวัวป่วยสะสมทั้งหมด 2,229 ตัว วัวตายสะสมแล้ว 66 ตัว มากที่สุดในพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิ สาเหตุที่ทำให้โรคมีการแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว คือการเคลื่อนย้ายโค กระบือ มีชีวิตจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไปยังพื้นที่ต่าง ๆ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินที่ไม่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพจากองค์การอาหารและยา และการแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงดูดเลือดอย่างชุกชุมในช่วงฤดูฝน ซึ่งขณะนี้ จ.ชัยภูมิ ยังไม่ได้รับการจัดสรรควัคซีนที่ได้คุณภาพและได้มาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ทำให้แนวโน้มการเกิดโรคลัมปีสกิน ในจังหวัดชัยภูมิมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การป้องกันไม่ให้วัว ควายที่เลี้ยงไว้ไม่ให้ป่วยด้วยโรคลัมปีสกิน คือกำจัดแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นยุงลาย แมลงวันคอก เห็บ และเหลือบ ภายในงาน มีทั้งการให้ความรู้เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว และควาย พร้อมทั้งสาธิตการใช้สมุนไพรในการไล่แมลง การมอบเวชภัณฑ์ในการกำจัดแมลง พร้อมทั้งมีการจัดรถ Mobile ออกฉีดพ่นยากำจัดแมลงและฆ่าเชื้อโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกร
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิกล่าวว่าการใช้วัคซีนควบคุมโรคลัมปีสกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดในประเทศไทย มีความจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง และติดตามผลหลังการใช้อย่างใกล้ชิด ซึ่งในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ยังไม่ได้รับการจัดสรรควัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินจากกรมปศุสัตว์ แต่พบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว หาซื้อวัคซีนป้องกันโรคคลัมปีสกินเอง ซึ่งนับว่าเสี่ยงที่อาจทำให้วัว ควายที่ฉีดวัคซีนจะมีผลข้างเคียงถึงตายได้ การป้องกันที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การกำจัดพาหะแมลงดูดเลือดด้วยการทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงให้บ่อยครั้งมากขึ้น และใช้สารกำจัดแมลงละลายน้ำ ฉีดพ่นบริเวณตัวสัตว์และบริเวณคอกในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการใช้สมุนไพรในการไล่แมลง ซึ่งสมุนไพรที่ใช้จะมีทั้งสะเดา ใบหน่อยหน่า ตะไคร่หอม ใบยูคา ใบสาบเสือ และขมิ้น มัดรวมกันต้มน้ำให้เดือดจนออกสีชา และกรองน้ำใส่เครื่องฉีดพ้นตามพื้นที่คอกเลี้ยงวัว ควาย และทาลำตัววัวที่เป็นตุ่มพอง จะช่วยรักษาสัตว์ป่วยได้ รวมทั้งลดปัญหาโรคไข้เลือดออกในคนได้อีกด้วย
ด้านนายหวล ฝ่ายประสิทธ์ อายุ 54 ปี เกษตรกรเลี้ยงวัว ชาวบ้านห้วยบง ต.ห้วยบง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ บอกว่าตนเองได้เลี้ยงวัวอยู่ 24 ตัว ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา วัวที่เลี้ยงไว้มีบางตัวมีไข้สูง และมีตุ่มขนาดใหญ่ขึ้นตามผิวหนังทั่วตัววัว น้ำลายไหล และมีขี้ตา ตนเองได้ใช้สมุนไพร่ที่มีมาตั้งแต่โบราณทั้งสะเดา ตะไคร่หอม ใบยูคา ใบสาบเสือ และขมิ้น มัดรวมกันต้มน้ำให้เดือดจนออกสีชา และกรองน้ำใส่เครื่องฉีดพ้นตามพื้นที่คอกเลี้ยงวัว ควาย และทาลำตัววัวที่เป็นตุ่มพองของวัวไม่กี่วันวัวของตนได้หายป่วย ซึ่งเป็นสมุนไพร่ที่ใช้ในการดูแลรักษาวัวป่วยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ควายตามพื้นที่ต่าง ๆ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคโดยเคร่งครัด ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์เข้าออก จ.ชัยภูมิ เว้นแต่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ดูแลสัตว์ของท่านให้มีสุขภาพแข็งแรง ฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดที่สำคัญ กำจัดพยาธิ
ทั้งนี้ หากพบสัตว์ป่วยหรือตายไม่ทราบสาเหตุ อย่านำไปจำหน่าย ให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อให้การช่วยเหลือและตรวจสอบโดยเร็วที่สุด หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยภูมิ หมายเลขโทรศัพท์0 – 4481 – 2334 ต่อ 13 หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่อีกด้วยต่อไป////