ในขณะที่นโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งของไทยภายใต้โมเดล ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะเริ่ม ดีเดย์วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ได้ถูกโปรโมทไปทั่วโลกแล้ว แต่ดูเหมือนว่าภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังไม่มั่นใจในความพร้อม เนื่องจากความไม่ชัดเจนในกฎเกณฑ์การปฏิบัติหลายอย่าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไมซ์ที่ต้องการรายละเอียดมากกว่าแค่เงื่อนไขการเดินทางเข้า-ออก ผู้จัดไมซ์ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนให้ลูกค้า ทั้งนี้ นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท CDM กล่าวถึงมุมมองและโอกาสของตลาดไมซ์ในครั้งนี้ ว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ตอนนี้ทั่วโลกรับรู้ถึงการเปิดประเทศของไทย แต่ผู้ประกอบการหรือผู้จัดไมซ์ แต่กลับไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนให้กับลูกค้าได้ ทำให้เสียความน่าเชื่อถือ และอีกอย่างที่เป็นอุปสรรคในการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา คือ ความละเอียดอ่อนในการสื่อสารที่อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เช่นเน้นว่าต้องพักอยู่ในภูเก็ต 14 คืนก่อนจะเดินทางไปจุดหมายปลายทางอื่นได้ แต่ไม่ได้เน้นว่าเป็นจุดหมายปลายทางในประเทศไทย ทั้งที่ความเป็นจริง สามารถเดินทางมาพักในภูเก็ตและเดินทางออกนอกประเทศโดยตรงได้โดยไม่ต้องพักถึง 14 คืน หากไม่มีแผนเดินทางไปพื้นที่อื่นในประเทศไทย รวมทั้ง ความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการเรื่องเอกสารต่างๆ เช่น การขอ COE (หนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย) ก็ต้องปรับให้เข้ากับวิถี New normal เพื่อให้นักเดินทางมาได้ โดยเฉพาะกลุ่มไมซ์ที่รวมหลายประเทศ เช่น 8-9 ประเทศ หากติดปัญหาเรื่องนี้ในหลายประเทศก็ไม่ตอบโจทย์ที่จะเลือกไทยเป็น Destination ที่จะมาพบกันเพื่อธุรกิจ เมื่อเข้าไฮซีซั่นทุกตลาดจะต้องพร้อม ด้านนางสาวประชุม ตันติประเสริฐสุข อุปนายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) และ รองประธานฝ่ายการขายโรงแรมดุสิต กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ทุกอย่างเริ่มไปได้ค่อยๆ ผ่อนคลายลง และเดินหน้าไปด้วยกัน ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการและท้องถิ่น ก่อนที่จะถึงช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ที่เข้าไฮซีซั่น ธุรกิจเริ่มกลับมาทุกตลาดจะต้องพร้อม ทั้งตลาดเลเชอร์ ตลาดไมซ์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้ฟื้นและกลับมาได้เร็วที่สุด คือ ความมั่นใจในมาตรการต่างๆ ที่วางไว้ เพื่อลดความเสี่ยง ในการขนคนมาประชุม สัมมนา จัดอีเวนต์ ให้น้อยที่สุด รวมทั้งกฎระเบียบและนโยบายที่ดีมี SOP ที่ชัดเจน มีแผนฉุกเฉิน สร้างความมั่นใจและเป็นตัวแปรดึงให้งานต่างๆ กลับมาที่เมืองไทย ส่วนความพร้อมของผู้ประกอบการไม่น่าเป็นห่วง เพราะการกลับมาของไมซ์ครั้งนี้เริ่มจากกรุ๊ปเล็กๆ ที่มีศักยภาพเพียงพออยู่แล้ว แต่คงต้องปรับตัวรับมือกับแนวโน้มของความต้องการที่เปลี่ยนไป โดยอันดับแรกขนาดของการประชุมจะเล็กลง จำนวนคนที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมน้อยลง แต่คนร่วมประชุมจริงๆ อาจจะมากขึ้น เพราะมีไฮบริดจ์เข้ามา ซึ่งอยู่มุมไหนของโลกก็ประชุมได้ นอกจากนี้คนที่เข้ามาประชุมก็มองหา ROI (Return on Investment) มากขึ้น ไม่ใช่ที่เป็นตัวเงินนะแต่การจะต้องเดินทางมาประชุมเขาจะคิดถึงสิ่งที่จะได้รับ คนที่จัดประชุมจึงต้องคิดให้ดี ทั้งในเรื่องคอนเทนต์ และโปรแกรมที่มอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้เข้าร่วมงาน ทีเส็บสนับสนุนผู้ประกอบการไมซ์ ขณะที่ นายพัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดปะชุม และนิทรรศการ (ภาคใต้) กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศเริ่มใช้วัคซีนต้าน COVID-19 มาเป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดนักเดินทาง ผ่านการนำเสนอแพกเกจที่จัดให้มีการฉีดวัคซีนให้ด้วย โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก ๆ คือ นักเดินทางกลุ่มคุณภาพ ยกตัวอย่าง หมู่เกาะแฟโร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราชาอาณาจักรเดนมาร์ก ที่ให้นักเดินทางสามารถเดินทางเข้ามาโดยไม่ต้องกลับมากักตัว แสดงผลตรวจโควิด-19 ก่อนเดินทางกลับและในวันที่ 2 หลังจากเดินทางกลับมาแล้ว ซึ่งโครงการภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ เองก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่นำร่อง เพราะการปูพรมฉีดวัคซีนให้กับคนภูเก็ตไปไกลถึงกว่า 70% ก็คงจะปลดล็อคความไม่สบายใจ และเพิ่มความเชื่อมั่น ซึ่งในส่วนของธุรกิจไมซ์เอง ความพร้อมในการรับนักเดินทางเพื่อมาจัดประชุม สัมมนา หรือจัดงานในภูเก็ต ด้วยแพคเกจที่ทำเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจ SMEs ที่คิดเป็น 85% ของอุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยให้สามารถไปต่อได้ในช่วงภาวะวิกฤตินี้ คือ โครงการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการจัดประชุมองค์กร การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล หรือที่เรียกว่า โครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า 2564 โดยทีเส็บจะเข้าไปสนับสนุน ผู้ประกอบการไมซ์ ไม่ว่าจะเป็น DMC หรือ Travel Agent ที่ทำตลาดประชุมในประเทศ รวมถึงโรงแรมต่างๆ ที่มีห้องประชุม ให้มีเครื่องมือด้านการตลาดในการนำเสนอลูกค้า หากมีการประชุมตั้งแต่ 30 ท่านขึ้นไปนอกสถานที่ตั้งบริษัท สามารถรับเงินสนับสนุนได้ถึง 15,000 บาท หรือหากมีการค้างคืน 1 คืน มีผู้เข้าร่วม ตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป สามารถรับเงินสนับสนุนได้ถึง 30,000 บาท ทั้งนี้สิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการไมซ์ของประเทศไทยไปต่อได้ นอกเหนือจากการสนับสนุนของภาครัฐแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การสนับสนุนของภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การประชุมสัมมนา การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล หรือ การจัดงานแสดงสินค้านั้น เป็นสิ่งที่ยังจำเป็นในการดำเนินธุรกิจอยู่ เนื่องจากไมซ์เป็นช่องทางการเจรจราธุรกิจ การเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ การซื้อขายสินค้า และการให้รางวัลพนักงานที่ทำผลงานได้ดี