นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยว่า วันนี้ (24 มิ.ย.64) ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ครั้งที่ 3/2564 ได้มีการรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ศปอส.ตร.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ในช่วงเดือน มิ.ย. 64 โดยในส่วนของดำเนินคดี พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ พบผู้กระทำความผิด 28 ราย จากการเผยแพร่ข่าวปลอม 4 เรื่อง ได้แก่ 1.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ล็อคเลขประจำงวด 2. คณะแพทย์ศิริราชแนะนำ 9 ข้อควรปฏิบัติใหม่ ในสถานการณ์โควิด-19 3.ตำรวจ สภ.เมืองน่าน ฉีดวัคซีนซิโนแวค เพียงวันเดียวเสียชีวิต และ 4.พบตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 รวมทั้ง มีการดำเนินการตักเตือนให้ผู้กระทำผิด 3 ราย ให้ลบโพสต์และแก้ไขข่าวปลอมตาม พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินฯ เรื่องพบตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2
ขณะที่การบูรณาการทำงานร่วมกันภายใต้ปฏิบัติการปราบปรามเว็บพนันบอลยูโร 2020 ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีเข้าจับกุมผู้ต้องหาแล้ว จำนวน 14 ราย เชื่อมโยงเว็บไซต์เปิดรับทายผลฟุตบอลยูโร 2020 และเว็บพนันออนไลน์เครือข่ายดัง วงเงินหมุนเวียนมากกว่า 200 ล้านบาทต่อเดือน และตรวจยึดของกลางซึ่งรวมถึงบัญชีธนาคารที่มีเงินหมุนเวียนกว่า 50 ล้านบาท
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงความคืบหน้าการเชื่อมโยงกระบวนการทำงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย กับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำกระทรวงหน่วยงานต่างๆ โดยแนวทางคือ จะใช้กลไกคณะกรรมการโฆษกประจำกระทรวงเพื่อประสานงาน และดำเนินการตอบโต้ข่าวปลอมให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ให้ทุกกระทรวง จัดทำกระบวนการประสานงาน ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบอย่างรวดเร็ว และประสานการทำงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมอย่างใกล้ชิด และให้กระทรวงดิจิทัลฯ ประสานสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี นำข่าวปลอมเผยแพร่ในกลไก IA/IR chat ที่มีอยู่ เพื่อให้กระทรวง/ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตอบชี้แจงภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมทั้ง กำชับ กระทรวง/ส่วนราชการ ที่ได้รับความเสียหายจากการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ บิดเบือน รีบดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้ตำรวจ เร่งรัดดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโดยเร็ว
ขณะที่ด้านการแก้ไขปัญหาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ คณะอนุกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ได้รายงานผลการดำเนินการปิดกั้นข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ในช่วงเดือน มิ.ย. 64 โดยดำเนินการขอปิดกั้นข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ศาลมีคำสั่งให้ระงับแล้ว จำนวน 12 คำสั่ง รวม 164 ยูอาร์แอล และมีคำร้องที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล 6 คำร้อง รวม 100 ยูอาร์แอล
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีหนังสือแจ้งเตือนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และ บริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด ให้ดำเนินการระงับข้อมูลที่ผิดกฎหมายตามคำสั่งศาลข้างต้นแล้ว เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยล่าสุด ดำเนินการปิดกั้นหรือลบข้อมูลให้แล้วจำนวน 3 คำสั่งศาล รวม 54 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 19 ยูอาร์แอล คงเหลือเข้าถึงข้อมูลได้อยู่ 35 ยูอาร์แอล และยังไม่มีการปิดกั้นอีก 8 บัญชี ซึ่งกระทรวงฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้มีการติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงาน ด้านการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ใช้บังคับมานานเพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากล และสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานทั้งในโซเชียลมีเดีย และดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ