ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ความเพ้อฝันของวัยรุ่นก็เหมือนกับพลุไฟ ที่สว่างเจิดจ้าแต่อยู่ได้เพียงชั่วครู่
กุศลเป็นคนช่างคิดช่างฝัน จึงดูเหมือนเป็น “คนขายฝัน” บุคลิกภาพของเขาเป็นคนค่อนข้างจะเก็บตัว ไม่ใคร่จะพูดคุยกับใครง่าย ๆ แต่ก็มีคนชอบไปพูดคุยกับเขา เพราะเขามีแง่มุมในการมองปัญหาต่าง ๆ ในสังคมได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะปัญหาของเยาวชน
ในปี 2517 พวกเราที่เป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียนผ่านขึ้นเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยอัตโนมัติ เพราะมีผลการสอบตามเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนกุศลก็ย้ายมาจากโรงเรียนอื่นแล้วผ่านเกณฑ์เข้ามาได้เรียนในชั้น ม.ศ. 4 ในปีนั้นด้วยเช่นกัน กุศลมาขอสมัครเป็นสมาชิกชมรมสังคมศึกษาที่ผมเป็นประธานชมรมอยู่ และขอทำงานในฝ่ายวิชาการ เขาทำงานได้ดีมาก เขาจัดทำโปสเตอร์และป้ายประกาศอย่างคล่องแคล่ว เขาฉีกแนวเนื้อหาของการนำเสนอจากการนำเสนอข่าวสารด้านสังคมของประเทศต่าง ๆ มาเน้นปัญหาของสังคมวัยรุ่น ประเด็นหนึ่งที่เขานำเสนออย่างต่อเนื่องก็คือ “ปัญหาของประเทศคือปัญหาของเยาวชน เยาวชนคือผู้สร้างชาติและอนาคต” โดยได้เชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยเนื้อหาที่ว่า ชัยชนะในเหตุการณ์ครั้งนั้นคือชัยชนะของเยาวชน “คนรุ่นใหม่” ที่จะเข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่า และเยาวชนคนรุ่นใหม่นี่แหละที่จะเป็นผู้สร้างประเทศขึ้นใหม่ โดยใช้ถ้อยคำที่โดนใจอย่างรุนแรง เช่น คำว่า “หมดยุคศักดินาไดโนเสาร์ สู่ยุคของพวกเราคนรุ่นใหม่” หรือ “จงอย่ายอมก้มหัวให้เผด็จการ จงอย่ากลัวทหารที่กดขี่ข่มหัวประชาชน”
พอถึงตอนกลางปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานนักเรียน กุศลได้มาถามผมซึ่งตอนนั้นมีตำแหน่งเป็นรองประธานนักเรียนอยู่ด้วยว่า ผมอยากจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียนหรือไม่ ผมก็ตอบว่าผมคงลงสมัครไม่ได้ เพราะพี่ที่เป็นประธานนักเรียนเป็นคนที่ผมเคารพนับถือ และผมยังสนับสนุนให้เขาเป็นประธานนักเรียนต่อไปอีกสมัยหนึ่ง กุศลทำท่าไม่พอใจ และเขาก็ได้ไปจัดตั้งทีมลงสมัครแข่งขันขึ้นอีกทีมหนึ่ง ซึ่งก็ปรากฏว่าทีมของกุศลได้รับชัยชนะ ทั้งนี้อาจจะเป็นด้วยกระแสของสังคมนิยมที่กำลังลุกโชน ในขณะที่ทีมของพวกผมแม้จะใช้นโยบายต่าง ๆ ที่มีลักษณะก้าวหน้าในการหาเสียง แต่ก็ยังถูกทีมของกุศลโจมตีว่ายังล้าหลังและเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่มาก
กุศลพอขึ้นสู่ตำแหน่งประธานนักเรียนแล้ว เขาก็ได้แสดงศักยภาพของความเป็นผู้นำอย่างเต็มที่ สิ่งแรกที่เขาทำก็คือ “ฉีกธรรมนูญนักเรียน” ฉบับที่ผมและคณะเป็นผู้ร่างไว้ ที่ยังเพิ่งใช้มาได้ไม่ถึงครึ่งปี แล้วก็ร่างฉบับใหม่ขึ้นมา โดยชี้แจงกับทุกคนที่หน้าเสาธงที่ประธานนักเรียนต้องได้ขึ้นพูดต่อจากผู้อำนวยการโรงเรียนในทุกเช้าว่า “เพื่อสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมและสังคมใหม่ที่น่าอยู่กว่าเดิม” จากนั้นก็ได้เสนอแนวคิดในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่นักเรียนต้องได้มีส่วนแสดงความต้องการว่า อยากเรียนหรือไม่เรียนอะไร รวมถึงให้นักเรียนสามารถวิพากษ์วิจารณ์การสอนของครูแต่ละคนได้อีกด้วย ซึ่งวิชาที่ถูกวิพากษ์มากที่สุดก็คือวิชาวรรณคดีไทย ในข้อโจมตีที่ว่าเป็นเรื่องราวจักร ๆ วงศ์ ๆ เป็นกากเดนศักดินา และส่งเสริมวัฒนธรรมที่ล้าหลัง แต่ละเรื่องล้วนแต่เป็นความเพ้อฝันประโลมโลก หรือไม่ก็เชิดชูชนชั้นศักดินา เหยียบย่ำทางเพศ และไม่ให้ความสำคัญกับคนส่วนใหญ่ พร้อมกับให้มีการสอนวรรณกรรมเพื่อสังคมของนักเขียนแนวสังคมนิยมต่าง ๆ นั้นด้วย
กรรมการนักเรียนชุดใหม่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง มีการจัดประชุมสัมมนาต่าง ๆ บ่อยครั้ง ล้มเลิกกิจกรรมบันเทิงและกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ นัยว่าทำให้สร้างสมพฤติกรรม “ปฏิกิริยา” คือขัดขวางความก้าวหน้าของสังคม รวมถึงชักจูงให้นักเรียนจัดกลุ่มออกไปร่วมกับทำกิจกรรมกับนักเรียนโรงเรียนอื่นภายนอก รวมถึงไปร่วมเดินขบวนประท้วงและร่วมแสดงพลังตามท้องถนน เช่น การขับไล่ทหารอเมริกัน มีการปัสสาวะรดธงชาติอเมริกัน และการเรียกร้องสวัสดิการคนงาน มีการเผาหุ่นผู้นำรัฐบาลตามท้องถนน เป็นต้น ตลอดจนระดมนักเรียนให้ไปร่วมประชุมสัมมนาและฟังการอภิปรายในมหาวิทยาลัย ไปพบปะกับผู้นำนักศึกษาที่เป็นไอดอลของพวกคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น และถกแถลงปัญหาต่าง ๆ กับนักเรียนอย่างเผ็ดร้อน โดยการโจมตีทหารและระบบสังคมเก่า อันเป็นความบันเทิง “แบบใหม่” ที่ถูกอกถูกใจผู้ฟังที่เป็นวัยรุ่นในยุคนั้นเป็นอย่างมาก
พอขึ้น ม.ศ. 5 ในปี 2518 กุศลก็ลงสมัครประธานนักเรียนอีก และได้รับตำแหน่งนั้นอีกครั้ง ปีนั้นประเทศไทยก็มีการเลือกตั้ง รัฐบาลสหพรรคนำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นยุคที่ประเทศไทยมีความวุ่นวายไปทั่วทุกภูมิภาค กลุ่มต่าง ๆ จัดกิจกรรมเดินขบวนและประท้วงไปเสียทุกเรื่อง อย่างเช่น เกษตรกรก็เรื่องราคาพืชผล กรรมกรก็เรื่องค่าจ้างแรงงาน ผู้คนในชุมชนแออัดก็เรื่องคุณภาพชีวิต และนักเรียนนิสิตนักศึกษาก็เรื่องเสรีภาพในสถานศึกษา เป็นต้น แม้แต่ตำรวจก็เดินขบวนพังบ้านนายกรัฐมนตรี เพียงเพราะนายกรัฐมนตรีสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ตำรวจจับได้ในเรื่องการรุกล้ำเหมืองแร่ทางภาคเหนือ ซึ่งรัฐบาลในตอนนั้นก็ใช้ไม้นวมในการแก้ไขสถานการณ์ โดยไม่ให้มีการเสียเลือดเนื้อหรือสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจระหว่างกันและกัน แต่บ้านเมืองก็ไม่สงบลงได้ จนนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ในวันหนึ่งตอนปลายปี 2518 นั้นว่า ถ้าทุกคนใช้เสรีภาพกันอย่างเกินขอบเขตอย่างนี้ รัฐบาลพลเรือนอาจจะไม่สามารถนำประเทศชาติฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆ ให้รอดพ้นไปได้ และอาจจะนำทางให้ทหารกลับเข้ามายึดอำนาจกลับไปเป็นเผด็จการอีกได้
อย่างกับว่านายกฯคึกฤทธิ์มีวาจาสิทธิ์ เพราะความวุ่นวายของประเทศยิ่งลุกลามหนักขึ้น แม้กระทั่งในหมู่นักการเมืองก็ไปสมคบคิดกับทหารเพื่อที่จะโค่นล้มรัฐบาลของตน นั่นก็คือนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคได้ประกาศที่จะถอนตัวออกจากรัฐบาล ทั้งนี้รัฐบาลเองก็ได้ข่าวว่าผู้อยู่เบื้องหลังก็คือผู้นำทหารคนหนึ่ง โดยได้ชักจูงให้ ส.ส.จำนวนหนึ่งถอนตัวจากรัฐบาล แล้วไปจับขั้วกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มิฉะนั้นทหารก็จะยึดอำนาจและไม่มีการเลือกตั้งไปอีกนาน ด้วยเหตุนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จึงได้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีทำการยุบสภา ทำให้ทหารและนักการเมืองในฝ่ายที่จ้องจะล้มรัฐบาล “หงายเก๋ง” ด้วยคาดไม่ถึงไปในทันที แต่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในต้นปี 2519 ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยดีขึ้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แพ้เลือกตั้งให้กับนักการเมืองที่ทหารสนับสนุน แต่เมื่อพรรคการเมืองกลุ่มนั้นตั้งรัฐบาลได้แล้วก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองได้ นำมาสู่เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 วันทหารกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง
กุศลหนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์วันนั้น กว่าจะกลับออกมาได้อีกก็เกือบ 7 ปี