เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 ตุลาคม 2560 ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายกรัยจักร แก้วสุข อดีตประสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองบัวน้อย อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ตัวแทนชาวบ้านตำบลหนองบัวน้อย พร้อมนายภาณุวัฒน์ มิ่งจันทึก ตัวแทนเยาวชนตำบลหนองบัวน้อย และชาวบ้านจาก 3 หมู่บ้าน พื้นที่ ต.หนองบัวน้อย สวมเสื้อยืดสีเขียว สกรีนข้อความ “เรารักบ้านเกิด เราไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวล และมลพิษให้ลูกหลาน” กว่า 50 คน ยื่นหนังสือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นเอกสารผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ฯ จำนวน 890 คน
สืบเนื่องจากวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา บริษัท นครราชสีมา เพาเวอร์กรีน จำกัด ขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล กำลังผลิต 6 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองมน หมู่ 11 ต.หนองบัวน้อย ซึ่งใช้ไม้สับหรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรเช่นชานอ้อยแกลบวันละ 150 ถึง 200 ตัน เป็นเชื้อเพลิงในการต้มน้ำให้เกิดแรงดันไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และไฟฟ้าที่ได้จะนำไปจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ตลอดระยะเวลาสัญญา 20 ปี พิกัดตั้งอยู่ในรัศมีประมาณ 1 กิโลเมตร ใกล้ชุมชน วัด โรงเรียน และแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค ชาวบ้านเกรงสภาวะแวดล้อมทางอากาศจากควันไฟ และขี้เถ้าหนักกว่า 416 ตัน และขี้เถ้าเบา 970 ตัน ต่อปี ที่เกิดขึ้นในขณะเผาไหม้ และน้ำที่ใช้ชำระสิ่งสกปรกที่ไม่ผ่านการบำบัดตามหลักวิชาการไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จะส่งผลกระทบให้เกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ รวมทั้งปัญหาการจราจรที่เกิดจากรถขนส่งวัตถุดิบ จึงมีความเห็นชอบให้ระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ดังกล่าว และขอให้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการคัดค้านไม่ให้ก่อสร้างโรงงานนี้ขึ้น เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ ได้มารับหนังสือ และชี้แจงให้ชาวบ้านรับทราบจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดพร้อมแจ้งความคืบหน้าผ่านตัวแทนให้ทราบความเคลื่อนไหว จากนั้นกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านไม่เอาโรงไฟฟ้าฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือกับนายประชา มีธรรม อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ต่อไป
ด้านนายไกรจักร แก้วสุข ตัวแทนชาวบ้านตำบลหนองบัวน้อยฯ เปิดเผยว่า พิกัดของโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชนมาก หากดำเนินการตั้งโรงงานไฟฟ้าฯ จะทำให้ชุมชนที่อยู่อาศัยด้วยความสงบสุขตามอัตภาพตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษเปลี่ยนแปลง โดยได้รับผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพ อนามัยในระยะยาว จึงต้องการให้ผู้บริหารโรงงานไฟฟ้าชีวมวล พิจารณาย้ายไปดำเนินการก่อสร้างในสถานที่เหมาะสมมากกว่านี้ เราจะเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับผู้มีอำนาจรับผิดชอบเช่น อุตสาหกรรมจังหวัด, พลังงานจังหวัด, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตามหากไม่ได้รับการตอบสนองหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ชาวบ้านจะเพิ่มความเข้มข้นเคลื่อนไหวมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน