ผู้สื่อข่าว: นับตั้งแต่ค้นพบซากโบราณซานซิงตุย ก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากแวดวงโบราณคดีของโลก มันสำคัญแค่ไหน? เกา ต้าหลุน: ซากโบราณซานซิงตุยไม่เพียงมีความสำคัญมากต่อแวดวงโบราณคดีจีนเท่านั้น หากยังมีความสำคัญยิ่งต่อแวดวงโบราณคดีโลกอีกด้วย ได้เพิ่มพูนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับอารยธรรมจีนในยุคโบราณ ทั้งยังได้ขยายมุมมองของผู้คนเกี่ยวกับอารยธรรมโบราณของโลกด้วย หลังจากหลี่ เสวียฉิน นักประวัติศาสตร์และนักอักษรโบราณชื่อดัง ได้เดินทางมาสำรวจซากโบราณซานซิงตุยและหลุมบวงสรวง 2 แห่งที่ถูกค้นพบในปีนั้น เขากล่าวด้วยความตื่นเต้นว่าการค้นพบนี้มีความสำคัญไม่น้อยกว่าซากโบราณอินซีว์ในเมืองอันหยาง มีสถานะในประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีของโลกที่สามารถเทียบได้กับการค้นพบเมืองโบราณทรอยและนิเนเวห์ ผู้สื่อข่าว: เรารู้ว่าซากโบราณซานซิงตุยถูกค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1929 หลังจากนั้นก็มีการขุดค้นทางโบราณคดีบางส่วน เกา ต้าหลุน: ครับ ปีนี้เป็นปีครบรอบ 100 ปีแห่งการกำเนิดของโบราณคดียุคใกล้ของจีน ส่วนการขุดค้นทางโบราณคดีซากโบราณซานซิงตุยแม้จะไม่ต่อเนื่อง แต่ก็เป็นระยะเวลายาวนานเกือบร้อยปีแล้วเช่นกัน โดยช่วงระหว่างปี 1981-2021 มีความต่อเนื่องมากที่สุด และการค้นพบต่างๆระหว่างปี 1986-2021 มีความเป็นระบบมากที่สุด ซึ่งการขุดพบในหลุมบวงสรวงทั้ง 8 หลุมเมื่อปี 1986 และ 2021 นั้น นับว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ ผู้สื่อข่าว: ความสำคัญของซากโบราณซานซิงตุยต่อจีนและโลก จะพิสูจน์ได้อย่างไร? เกา ต้าหลุน: เมืองโบราณซานซิงตุยเป็นเมืองขนาดใหญ่ ที่มีแนวกำแพงประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร ขนาดพอๆกับของเมืองการค้าเจิ้งโจวในยุคเดียวกัน ภายใต้ซากปรักหักพังได้กลบฝังวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ห่างจากปัจจุบันประมาณ 4,800 - 2,800 ปีก่อน และยิ่งไปกว่านั้นวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในช่วง 2,000 ปีนี้มีความต่อเนื่องไม่ขาดตอน ยุคหลุมบวงสรวงของ “ซานซิงตุย” หากเปรียบเทียบกับเขตพื้นที่ตอนกลางของจีน จะเป็นช่วงกลางของยุคราชวงศ์ซาง ซึ่งได้เข้าสู่ขั้นที่มีอารยธรรมระดับสูงแล้ว หากพิจารณาจากความต่อเนื่องของการสั่งสมทางวัฒนธรรมเป็นเวลา 2,000 ปี อาจกล่าวได้ว่าอารยธรรมก๊กสู่โบราณได้รับการหล่อหลอมขึ้นที่นี่ จากกำเนิดขึ้น สู่การก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง จนพัฒนาถึงจุดสูงสุด และจากนั้นก็เริ่มเสื่อมถอยลง ในขอบเขตประเทศจีน ซากโบราณสถานระดับเมืองหลวงที่ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าระดับมีอารยธรรม เช่น เหลียงจู่ สือเจียเหอ เถาซื่อ เอ้อร์หลี่โถว เหยี่ยนซือ เมืองการค้าเจิ้งโจว และอินซีว์เมืองอานหยาง ส่วนใหญ่มีอายุเพียงไม่กี่ร้อยปีและคงอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งของอารยธรรมเท่านั้น ไม่มีสถานที่ใดเหมือนซากโบราณซานซิงตุยที่ฝังกระบวนการที่สมบูรณ์ของหนึ่งอารยธรรมตั้งแต่การหล่อเลี้ยงจนถึงการเสื่อมถอย ผู้สื่อข่าว: ผลสำรวจความเห็นประชาชนแสดงว่า ผู้คนให้ความสนใจเครื่องสำริดที่ขุดพบใน“ซานซิงตุย” เป็นอย่างมาก เกา ต้าหลุน: เครื่องสำริดที่ขุดพบจากหลุมบวงสรวงซานซิงตุยไม่เพียงแต่มีจำนวนมากเท่านั้น หากยังมีจำนวนไม่น้อยที่มีขนาดใหญ่ รูปทรงแปลกตา และมีความซับซ้อนในงานฝีมืออีกด้วย ตัวอย่างเช่น มีรูปปั้นคนท่ายืนที่สูงที่สุดในยุคสำริดซึ่งมีความสูงถึง 2.62 เมตร มีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่สูงและใหญ่ที่สุดในยุคสำริดซึ่งมีความสูงถึง 3.95 เมตร ยังมีแท่นบูชาศักดิ์สิทธิ์ที่มีรูปทรงแปลกประหลาดที่สุด ซึ่งบนตัวแท่นมีรูปปั้นนูนสูงคนและสัตว์ 22 รูป ซึ่งมีความสูงประมาณ 53 เซนติเมตร เครื่องสำริดเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของทัศนคติต่อชีวิต ค่านิยมและโลกทัศน์ของชาวก๊กสู่โบราณ ผู้สื่อข่าว: สถานะของ“ซานซิงตุย”ในวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างไร? เกาต้าหลุน: มีมุมมองหนึ่งเห็นว่า การค้นพบ “ซานซิงตุย” ทำให้ประวัติศาสตร์อารยธรรมจีนย้อนไปได้ถึง 5,000 ปีที่แล้ว เครื่องสำริดที่ขุดพบในหลุมบวงสรวงพิสูจน์ว่า “ซานซิงตุย” เข้าสู่ยุคสำริดเร็วกว่าพื้นที่ภาคกลางจีนถึง 1,000 ปี แต่นี่เป็นความเข้าใจผิด ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การค้นพบ “อักษรกระดองเต่า” ในซากโบราณอินซีว์ได้ทำให้ประวัติศาสตร์อารยธรรมการบันทึกทางลายลักษณ์อักษรของจีนย้อนกลับไปได้ถึง 3,000 กว่าปีก่อน การค้นพบทางโบราณคดีหลังช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ทำให้นักวิชาการส่วนใหญ่ในแวดวงโบราณคดียอมรับการดำรงอยู่ของซากโบราณแห่งราชวงศ์เซี่ยเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน และนับตั้งแต่ช่วงหลังศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ศตวรรษใหม่เป็นต้นมา การค้นพบใหม่ที่มีซากโบราณเหลียงจู่และสือเหม่าเป็นตัวแทน ก็ได้ทำให้การกำเนิดอารยธรรมประชาชาติจีนย้อนกลับไปถึง 5,000 ปีก่อนแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นในภูมิภาคตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำแยงซี สำหรับที่ราบเฉิงตูนั้น จนถึงปัจจุบันพบซากโบราณสถานเมื่อ 5,000 ปีที่แล้วเพียงหนึ่งหรือสองแห่งเท่านั้นที่บริเวณชายขอบของที่ราบเฉิงตู หากพิจารณาจากแง่การสั่งสมทางวัฒนธรรม ระดับการพัฒนาทางวัฒนธรรมนั้นล้าหลังกว่าที่ภาคกลางจีนในช่วงเวลาเดียวกันค่อนข้างมาก แม้ว่าซากโบราณซานซิงตุยมีประวัติประมาณ 4,800 ปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีอารยธรรมเกือบ 5,000 ปี จนถึงต้นราชวงศ์ซางก็ยังไม่ได้พบปัจจัยบวกของอารยธรรมมากเท่าไรในที่ราบเฉิงตู สำหรับใน “ซานซิงตุย” กระทั่งที่ราบเฉิงตูและเขตปาสู่ เครื่องสำริดที่ขุดพบมีอายุเก่าแก่สุดคือในช่วงกลางราชวงศ์ซาง ซึ่งในเวลานั้นภาคกลางจีนมีประวัติการหล่อสำริดเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ผู้สื่อข่าว: ฟังมาถึงตรงนี้รู้สึกว่า “ซานซิงตุย” เป็นเหมือน "แคปซูลกาลเวลา" ของอารยธรรมก๊กสู่โบราณ วันนี้เมื่อเราเปิดแคปซูลออก เราได้เห็นอนุภาคจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเกิดปริศนาที่รอการคลี่คลายมากมาย จำเป็นต้องมีการวิจัยต่อไปเพื่อตีความข้อมูลในอนุภาคเหล่านี้ ปะติดปะต่อความรับรู้ของผู้คนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เกา ต้าหลุน: เป็นการเปรียบเทียบที่ดี ถึงแม้การค้นพบที่ผ่านมาได้ไขปริศนาที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับอารยธรรมก๊กสู่โบราณ ยืนยันการดำรงอยู่ของก๊กสู่โบราณในยุคแรกๆ แต่ยังคงมีข้อสงสัยมากกว่านั้นอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตเครื่องสำริด แหล่งทำเครื่องหยก สุสานขนาดใหญ่ บริเวณพระราชวัง และสุสานของกษัตริย์ก๊กสู่อยู่ที่ใด ตลอดจนวัตถุดิบสำหรับเครื่องหยกและเครื่องสำริดมาจากที่ใด ขอบเขตอิทธิพลของก๊กสู่โบราณมีขนาดเท่าไร เป็นต้น ตราบใดที่คำถามต่างๆเหล่านี้มีการค้นพบทางโบราณคดีที่สามารถนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าได้ ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับอารยธรรมก๊กสู่โบราณและความสัมพันธ์ของมันกับอารยธรรมราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซางก็จะลึกซึ้งและครอบคลุมมากขึ้น กล่าวโดยสรุปคือพื้นที่โดยรอบภาคกลางจีนที่มี “ซานซิงตุย” เป็นตัวแทน ได้เร่งการหลอมรวมกับอารยธรรมภาคกลางจีนในยุคราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซางให้เร็วขึ้น อารยธรรมราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซางที่แผ่กระจายไปยังพื้นที่โดยรอบอย่างเข้มแข็ง ได้ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาทางสังคมของพื้นที่โดยรอบ ขณะเดียวกันวัฒนธรรมโดยรอบก็ได้หล่อเลี้ยงอารยธรรมราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซาง ทำให้อารยธรรมราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซางที่มีภาคกลางจีนเป็นศูนย์กลาง มีสีสันอันหลากหลายมากยิ่งขึ้น การค้นพบ “ซานซิงตุย” ได้เสริมความเด่นชัดในการหลอมรวมความหลากหลายเข้าด้วยกันของอารยธรรมโบราณแห่งประชาชาติจีน ซึ่งถือเป็นความลับของอารยธรรมโบราณแห่งประชาชาติจีนในการรักษาความมีชีวิตชีวาและความเจริญรุ่งเรืองอย่างถาวรโดยไม่เสื่อมถอยนั่นเอง สัมภาษณ์เกา ต้าหลุน อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโบราณคดีมณฑลเสฉวน และกรรมการประจำสมาคมโบราณคดีแห่งประเทศจีน ผู้เขียน/เรียบเรียง: หลี่ อวิ้น ผู้แปลภาษาไทย: ลู่ หย่งเจียง ผู้ตรวจแก้ภาษาไทย: รพีพรรณ วงษ์กรวรเวช