เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรมีพระชนมายุครบ20พรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณฯสยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่28ธันวาคม พ.ศ.2515 นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ความว่า "ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย เฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรท่ามกลางสันนิบาตนี้ว่าข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมารจะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิตจะภักดีต่อชาติบ้านเมืองจะซื่อสัตย์ต่อประชาชนจะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถและโดยความเสียสละเพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่" นับแต่นั้นเป็นต้นมา ได้ทรงทุ่มเทพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อยังประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและประชาชน เป็นที่ประทับใจของพสกนิกรชาวไทยอย่างยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคตพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นายพรเพชร วิชิตชลชัยประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และ นายวีระพล ตั้งสุวรรณประธานศาลฎีกาได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่1ธันวาคม2559 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสตอบรับขึ้นทรงราชย์ ความว่า "ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง" ห้วงเดือนธันวาคม2559ถึงเดือนมกราคม2560ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ใน10กว่าจังหวัดภาคใต้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย องคมนตรีเข้าเฝ้าฯเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่12มกราคม ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าพระองค์ท่านมีรับสั่งให้ช่วยเหลือประชาชนให้กลับคืนสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย การประมงและการปศุสัตว์ ซึ่งคล้ายกับเมื่อปี2554ที่เราได้เผชิญมา อีกทั้งพระองค์ท่านได้รับสั่งว่าให้ดำเนินการอย่างดีที่สุด โดยการบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อนและทั่วถึงรวมถึงให้มีการเตรียมแผนงานระยะยาวในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนในภาคใต้ นอกจากนี้พระองค์ท่านยังรับสั่งให้นำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 มาปฏิบัติอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมดำเนินการตามที่มีกระแสรับสั่งมา ขณะเดียวกันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานลายพระหัตถ์ถึงประชาชนทุกคนว่า "ด้วยความรักและห่วงใย ขอเป็นกำลังใจในการร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนา เพื่อขวัญที่ดี จิตใจ และร่างกายที่เข้มแข็ง นำมาซึ่งความสุขและมั่นคงของชาติ" พร้อมทรงลงพระปรมาภิไธยนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงห่วงใยประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์อัญเชิญถุงยังชีพชุดธารน้ำใจสภากาชาดพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล ไม่สะดวกที่จะออกมารับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ รับสั่งให้ทุกหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชน ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด บูรณาการทำงานร่วมกันลดความซ้ำซ้อน รวมทั้งวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไปด้วย ทรงห่วงใยทุกคนทั้งข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ประชาชน รับสั่งว่าในปี2554ทรงอดทนกับเหตุการณ์น้ำท่วม ถ้ามีอะไรที่จะพระราชทานความช่วยเหลือได้ ก็จะช่วยควบคู่กันไปกับการช่วยเหลือของรัฐบาล จะทรงเดินไปด้วยกันทั้งหมด ทั้งสถาบัน รัฐบาล และประชาชน ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยประชาชน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยพระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์เพื่อจัดทำบัตรอวยพรและไดอารี ปี2560เพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ รวม4แบบ โดยทรงเขียนคำอวยพรและหลักปรัชญาในการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความสุข ซึ่งภาพวาดฝีพระหัตถ์ทุกภาพ จะมีภาพบ้าน ต้นคริสต์มาส ตุ๊กตาหิมะ กล่องของขวัญ คนที่กำลังมีความสุข และสุนัข และในวันที่10เมษายนที่ผ่านมา ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เพื่อรับพระราชทานเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้12จังหวัด อาทิ ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลา จำนวน 40,000,000บาทซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายบัตรอวยพรและไดอารี่ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ที่ประชาชนให้ความสนใจซื้อเป็นจำนวนมาก พระมหากรุณาธิคุณยังแผ่ไพศาลมาถึงชาวกรุงเทพมหานคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการโครงการ "หน่วยพระราชทานและประชาชนจิตอาสา เราทำดีด้วยหัวใจ" ขุดลอกคูคลองต่างๆในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีความตื้นเขิน เก็บขยะมูลฝอย และกำจัดผักตบชวาที่กีดขวางทางระบายน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน แก้ไขปัญหาน้ำท่วมและแก้ไขปัญหาการจราจรซึ่งประชาชนจิตอาสา จะได้รับพระราชทานเสื้อโปโลสีดำ"ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์" หมวกแก๊ปพระราชทานผ้าพันคอ สำหรับใช้ประกอบกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร เป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ได้ทรงเล็งเห็น และทรงรับรู้ จากพระราชหฤทัยของพระองค์ ถึงพลังแห่งคุณค่าของความรัก ความศรัทธาเทิดทูน และความจงรักภักดี ที่ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระองค์ท่าน ซึ่งทรงประจักษ์ต่อสายพระเนตรพระกรรณมาโดยตลอด ถึงพลังน้ำใจ พลังความรักอันประเสริฐสุดของประชาชน นับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคต ตราบจนทุกวันนี้ และเพื่อทรงสนองตอบต่อความรัก และน้ำใจอันประเสริฐสุดของประชาชนทุกคน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมแสดงความอาลัยรัก น้อมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในห้วงเดือนตุลาคม ศกนี้ และเพื่อเป็นการสานต่อพระราชดำริของโครงการจิตอาสา"เราทำความดี ด้วยหัวใจ"ซึ่งเป็นโครงการทำความดีร่วมกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระราชานุญาต ให้จัดตั้ง "จิตอาสาเฉพาะกิจ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ" ขึ้น เพื่อรวมพลังความรัก อันมีค่า และรวมพลังน้ำใจของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า น้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยผู้เข้าร่วมสมัคร จะทำหน้าที่เป็นจิตอาสาเฉพาะกิจ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่จะจัดขึ้นพร้อมกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และในต่างประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่12ส.ค.2560 เวลา 19.53น.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานวีดิทัศน์ "สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา" สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดทำวีดิทัศน์ชุดนี้ขึ้น เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9 ด้วยมีพระราชปรารภว่า "พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของเรามีมากหลาย ด้วยพระบารมีและพระเมตตา ได้พระราชทานแนวความคิดพระราชดำริและข้อปฏิบัติในการพัฒนาความเจริญ และความสุขให้แก่ประเทศชาติ และประชาชนมาหลายด้านหลายสิ่ง หากจะได้ศึกษาและน้อมนำพระราชดำริต่างๆนี้ มาปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสม และพอเพียงต่อสถานการณ์ และก็เชื่อแน่ว่าจะแก้ปัญหา และทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ประเทศชาติ และตนเอง ซึ่งจะนำพามาสู่ความสุขและความเจริญกับทุกๆ คน ตามพระราชปณิธานของล้นเกล้าล้นกระหม่อมตลอดไป หวังว่า วีดิทัศน์ชุดนี้จะเป็นประโยชน์ และนำความสุขความเจริญมาสู่ผู้ชมในทุกประการ" โดยวีดิทัศน์ชุดนี้ มี 4 เรื่อง ได้แก่ น้ำ คือ ชีวิตแผ่นดิน พิทักษ์ป่า พัฒนาสินสายน้ำ พืชพรรณ ปลูกชีวิตมั่นคงและเศรษฐกิจพอเพียงนำทางชีวิต ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อสืบสาน รักษาต่อยอด พระราชปณิธาน และแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มาสานต่อ เพื่อสร้างสุขแก่ปวงประชา ทั้งนี้ จะพระราชทานวีดิทัศน์ชุดนี้ให้รัฐบาลได้นำไปเผยแพร่แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวพระราชดำริ และน้อมนำสู่การปฏิบัติต่อไป เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่ทรงคุณอเนกอนันต์ เพื่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย "เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่ทรงคุณอเนกอนันต์ เพื่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย" +++++++++++++++++++++ 'ถ้ากลับเมืองไทย จะไปทำที่เมืองไทยด้วย' เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชานุญาตให้ เผยแพร่วีดิทัศน์ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ที่ทรงร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาในช่วงวันหยุดเรียน ณ วัดป่ามุตโตทัยโดยได้นำบทเพลง รอยเท้าพ่อ ซึ่งขับร้องโดยรวมศิลปินช่อง7ที่มีความยาว5นาทีมาเป็นบทเพลงประกอบวีดิทัศน์ ซึ่งในวีดิทัศน์นั้น มีภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่9โดยมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เคียงข้างพระวรกายของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี ในทุกถิ่นที่ รวมทั้งพระราชทานข้อความเกี่ยวกับการทำความดีว่า "พลังของคนคิดดี ทำดี และมีความกตัญญุตา เป็นพลังที่มีอานุภาพ ที่จะดำรงรักษาความสุขความเจริญอย่างวัฒนาถาวรของครอบครัว ชุมชน และชาติบ้านเมืองต่อไป" นอกจากนี้ในวีดิทัศน์นั้น ยังมีพระรูปของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ที่ทรงเลือกแต่งฉลองพระองค์เสื้อยืดโปโลสีดำ ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ หมวกแก๊ป และผ้าพันคอ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานด้วยพระองค์เอง พระราชทานข้อความว่า "วันนี้ไปวัดกันนะ" เพื่อทรงร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาในช่วงวันหยุดเรียน ณ วัดป่ามุตโตทัย ซึ่งกิจกรรมจิตอาสาที่ทรงทำร่วมกับข้าราชบริพารนั้น ประกอบด้วยทรงเช็ดถูหน้าต่างกระจกวัด ทรงทำความสะอาดรอยพระพุทธบาทจำลองและบริเวณรอบใต้ฐานพระพุทธรูปทรงกวาดลานวัดทรงถูพื้นด้วยพระองค์เอง และถวายภัตตาหารเพล แด่พระภิกษุสงฆ์ พร้อมพระราชทานข้อความที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศน้ำตาซึมว่า "ถ้ากลับเมืองไทย จะไปทำที่เมืองไทยด้วย" เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานภาพพระกรณียกิจของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ขณะทรงร่วมบำเพ็ญประโยชน์ในโครงการ "จิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ" ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงปฏิบัติธรรม ณ วัดป่ามุตโตทัย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนชาวไทย ในการร่วมทำความดีกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และในห้วงเดือนตุลาคมนี้ ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้จัดตั้ง "จิตอาสาเฉพาะกิจ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ"ขึ้น เพื่อรวมพลังน้ำใจ พลังความรักอันมีค่า ความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่จะน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสู่สวรรคาลัย สานต่อที่พ่อสร้าง ตามรอยทางที่พ่อเดิน เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและสืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"สยามรัฐ" นำเสนอบทสัมภาษณ์บุคคลในแวดวงต่างๆ ที่น้อมนำเอาแนวทางพระราชดำรัส และพระราชดำริต่างๆ ไปใช้ในการทำงาน ทำหน้าที่ต่างๆ และการดำเนินชีวิต ยึด "หน้าที่-ซื่อสัตย์-พอเพียง" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อยากให้ถ่ายทอดถึงแง่มุมของความประทับใจที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากพูดถึงความประทับใจ ผมไม่จำกัดแค่ช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ผมเกิดในรัชกาลที่ 9 ซึ่ง 50 กว่าปีของผม เห็นแต่ภาพที่ทรงอุทิศพระวรกาย เวลา ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อที่จะให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน และคนไทยมีความสุข สิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่ได้พระราชทานไว้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่างๆ และที่สำคัญกว่านั้นคือแนวทางตามพระราชดำริ คือสิ่งที่ผมถือว่าล้ำค่าที่สุดสำหรับคนไทย ในฐานะที่เป็นนักการเมือง ซึ่งมีหน้าที่ในการที่จะทำให้ประเทศกับประชาชนมีการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นผมถือว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุด เป็นความประทับใจว่าเรามีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขของรัฐ ที่ได้มีบทบาทอย่างที่เราไม่เห็นจากที่อื่น ในการเป็นเข็มทิศให้ประเทศ และให้คนไทยสามารถเดินตามได้ มีสิ่งใดที่เราตั้งใจจะสืบสานตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่วนแรกถ้าเราน้อมนำเอาพระราชดำรัสในหลายๆโอกาสรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไปปฏิบัติตาม ซึ่งทรงเน้นย้ำเรื่องการทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะมีสถานะอะไร มีอาชีพอะไรหรือมีบทบาทอะไรก็ตาม การทำหน้าที่ของตัวเองอย่างซื่อตรงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้สังคมดีขึ้น ส่วนที่สองทรงเน้นย้ำเรื่องความซื่อสัตย์ เราจะเห็นว่าเกือบจะทุกโอกาสที่พระองค์ท่านรับสั่งในการประชุม หรือรับสั่งกับผู้ที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ แทบไม่มีครั้งไหนเลยที่พระองค์ไม่รับสั่งเรื่องการปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต และส่วนที่สาม คือในแง่ปรัชญาความพอเพียง นอกจากเรื่องความซื่อสัตย์และความมีคุณธรรมแล้ว คือการที่จะต้องมีหลักวิชา ความมีเหตุมีผล นี่คือส่วนที่ว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตหรือนำหลักการเหล่านี้มาปฏิบัติในการทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมได้อย่างไร ทั้งปรัชญาเรื่องความพอเพียงและแนวพระราชดำริที่อยู่ในโครงการต่างๆ ผมว่าพระองค์ท่านทรงมีรับสั่งและเน้นย้ำถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อนที่คำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นคำที่ใช้กันในระดับโลก หรือระดับสากล แม้กระทั่งสหประชาชาติที่ตั้งเป้าเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมถือว่าหลังจากที่พระองค์ท่านรับสั่งและทรงงานให้เห็นเป็นตัวอย่าง ว่าการพัฒนาต้องมีความสมดุล ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ต้องมีความสมดุลในความหมายที่ว่า ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งมีความพร้อมไม่เท่าเทียมกัน คำสอนหรือพระราชดำรัสใดที่พระองค์ทรงประทานไว้ และสามารถเอามาเป็นกำลังใจในการทำงานด้านการเมืองในช่วงที่เกิดปัญหาขึ้น ผมว่าไม่ใช่พระราชดำรัสหรือแนวคำสอนที่เป็นกำลังใจ แต่ผมกลับมองว่าเราดูการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน จะเห็นว่าถ้าคนพูดถึงพระมหากษัตริย์ หรือยิ่งเด็กๆ ที่ดูเรื่องของกษัตริย์ในนิทาน มันไม่มีเหตุผลอะไรที่ท่านจะต้องตรากตรำ อุทิศทุกสิ่งทุกอย่างแบบนี้ ขณะที่อุปสรรคก็มีมากมาย เราเห็นภาพเก่าๆ ที่เราพูดกันวันนี้ว่าท่านเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศ คนรุ่นนี้อาจจะไม่เข้าใจว่าช่วงที่ท่านเสด็จฯ ไปนั้นยากลำบากขนาดไหน ไปห่างจากกรุงเทพฯ ไม่กี่ร้อยกิโลเมตรก็ใช้เวลาหลายชั่วโมงแล้ว และเราก็จะมีภาพทั้งเรื่องปัญหาอุปสรรค ทั้งเรื่องของสภาพพื้นที่ ถนนหนทาง ขึ้นเขาลงห้วย แต่พระองค์ท่านไม่เคยหยุด ตรงนี้ควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจ ว่าแม้จะมีปัญหาอุปสรรคอะไรก็ตาม เราต้องสู้กับปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ได้ผมรู้สึกว่าภาพเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจเราดีกว่าทุกสิ่ง รวมถึงเป็นกำลังใจในการแก้ปัญหา การต่อสู้กับปัญหา และต่อสู้กับอุปสรรคของประชาชนทุกคนด้วย เมื่อครั้งที่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 มีสิ่งใดที่พอจะถ่ายทอดถึงพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านบ้าง สิ่งแรกทุกครั้งที่ผมเข้าถวายรายงาน ผมจะรู้สึกว่าได้รับพระเมตตาจากการที่ทรงใส่พระทัยในทุกปัญหา ทรงติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรี พระองค์ท่านทรงพระประชวรอยู่ด้วย แต่พระองค์ก็ทรงติดตามข่าวสารต่างๆ อย่างใกล้ชิด ประการที่สองพระองค์ทรงแสดงออกถึงความห่วงใยที่มีต่อประชาชนในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยจากภัยพิบัติ ความปลอดภัยจากความขัดแย้ง ผลกระทบในเรื่องของเศรษฐกิจ หรือทุกๆ อย่าง และบอกได้เลยว่าทุกครั้งที่เข้าถวายรายงาน เมื่อกลับออกมาจะมีกำลังใจในการที่จะทำงาน เป็นพระเมตตา เป็นความอบอุ่นที่ได้รับพระราชทานมา ทำให้ผมมีกำลังใจ เวลาเข้าถวายรายงานก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ซึ่งพระองค์ทรงพระราชทานทั้งคำแนะนำ รวมทั้งแสดงออกถึงความห่วงใยในทุกๆ คน และทำให้เรามีความรู้สึกว่าเราต้องทำงานให้หนักขึ้น ทำงานให้ดีขึ้น หลักในการดำเนินชีวิต ที่คุณอภิสิทธิ์นำแนวทางตามพระราชดำรัสมาใช้คืออะไรบ้าง เรื่องความพอเพียงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ความพอเพียงที่ว่าก็ไม่ใช่อย่างที่หลายคนไปเข้าใจว่าจะต้องประหยัดทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่ใช่ แต่ทุกอย่างต้องสมเหตุสมผล ไม่สุดโต่ง และต้องมีภูมิคุ้มกันกับความเสี่ยง และถ้าเราทำอะไรด้วยเหตุด้วยผล ยึดมั่นในคุณธรรมแล้ว เราก็จะมีความสบายใจในการใช้ชีวิต ซึ่งความสบายใจนั้นจะเป็นความสุขที่สำคัญที่สุด มากกว่าการมีสิ่งของวัตถุอะไรมากมาย ตอนนี้เราใช้หลักการนี้ ก็รู้สึกว่าเราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข จากสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หากเรายึดคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเครื่องนำทางเชื่อว่าจะสามารถผ่านพ้นไปได้หรือไม่ ผมย้ำเสมอว่าหลักปรัชญาความพอเพียงนั้นไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่สามารถใช้ได้กับการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถใช้กับเรื่องการเมือง สามารถใช้ได้กับทุกๆ เรื่อง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจมหภาค การประเมินโครงการ การลงทุน รวมถึงการใช้ชีวิตส่วนตัว ไปจนถึงการทำอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะที่เป็นปัญหาสังคม ถือเป็นหลักที่เราสามารถใช้ได้ทั้งหมด แต่ผมเสียดายว่าเราไม่ค่อยได้มีโอกาสมาขยายหลักตรงนี้ให้เป็นที่เข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติจริง ในการทำงานของผมจะคำนึงถึงหลักปรัชญาความพอเพียงอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการกำหนดนโยบายใดๆ หรือการคิดแก้ปัญหาใดๆ จะนำหลักนี้มาสอบทานว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เองก็จะเน้นย้ำในวิถีทางเสรีนิยมประชาธิปไตย การออกแบบนโยบายต่างๆ ต้องมีเหตุมีผล ยึดมั่นในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต นั่งเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ เรายึดมั่นกันเป็นพิเศษ และที่ทรงเน้นย้ำอีกสิ่งหนึ่งคือเรื่องความสมัครสมานสามัคคี คือการรวมพลัง ซึ่งในภาวะที่มีความขัดแย้งกันสูงหากเราคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้มากขึ้น คอยเตือนสติตัวเองทุกฝ่าย ทุกคน รวมทั้งตัวผมด้วยก็คงจะทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ง่ายขึ้น เรารู้สึกว่าเราโชคดีที่ 70 ปีที่ผ่านมาเราได้อยู่ในผืนแผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระเมตตา ทรงทุ่มเทให้กับประเทศชาติ ทำให้บ้านเมืองเราพัฒนามาโดยลำดับ อยากจะให้ทุกคนมีความสำนึกในส่วนนี้ และมองไปข้างหน้า คือช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองของเราดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะน่าจะถือเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน เราต้องช่วยกันทำให้บ้านเมืองเดินไปสู่ทิศทาง ไปสู่สภาวะที่เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน ซึ่งนั่นเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่ดีที่สุด "เรารู้สึกว่าเราโชคดีที่ 70 ปีที่ผ่านมาเราได้อยู่ในผืนแผ่นดินที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระเมตตา ทรงทุ่มเทให้กับประเทศชาติ ทำให้บ้านเมืองเราพัฒนามาโดยลำดับอยากจะให้ทุกคนมีความสำนึกในส่วนนี้ และมองไปข้างหน้า คือช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองของเราดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะน่าจะถือเป็นพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน" ************ "พยายามเป็นลูกที่ดีมาโดยตลอด" กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา "ในแนวทางปฏิบัติงานหลังจากนี้ไปคงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเพราะที่ผ่านมาทางหน่วยงานพยายามเป็นลูกที่ดีมาโดยตลอด ซึ่งจะปรากฏอยู่กับแนวทางการทำงาน ที่น้อมนำพระราชปณิธานของพระองค์ท่านมาปฏิบัติใช้อยู่ตลอด โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ที่ใช้ จะเห็นชัดมากเลยในเรื่องคำว่า เติบโตอย่างยั่งยืน ก็คือ ต้องการทำท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและเติบโตอย่างยั่งยืนตั้งแต่วันแรกที่มารับตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีมาถึงวันนี้คำว่า ยั่งยืนยิ่งเด่นชัด ซึ่งมาพร้อมกับความสมดุลระหว่างรายได้ คือ เศรษฐกิจและสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ที่จะต้องประกอบไปด้วยกัน สำหรับในปีหน้า 2561 ทางรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยวไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ไปจนถึงปลายปี 2561 ภายใต้ชื่อปีท่องเที่ยววิถีไทยเก๋ไก๋อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นคำจากพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อม ดูแลชุมชนและวิถีไทย แต่สิ่งสำคัญ คือ การส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นต่อไป โดยทางกระทรวงฯ ได้จัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึก ปลูกฝังเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่เรียนรู้ได้เร็วขึ้น แม้จะเห็นพระองค์ท่านน้อยกว่า แต่สามารถกระโดดเข้ามาช่วยงาน และสามารถต่อยอดแนวทางการทำงานได้เป็นอย่างดี" ************ "ความสำเร็จคือ ประชาชนอยู่ดี กินดีจริง" เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "ทำงานเรื่องน้ำ ในฐานะที่เป็นวิศวกรอยู่ในสังกัดกรมชลประทาน จนกระทั่งได้ขึ้นเป็นอธิบดีกรมชลประทาน ก่อนที่จะมาเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับรู้มาโดยตลอดว่า ท่านมีความสนพระทัยเรื่องน้ำ ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งกรมชลประทานได้รับสนองพระราชดำริมาดำเนินการในโครงการต่างๆ ถ้ากล่าวถึงโครงการพระราชดำริที่มี 4,000 กว่าโครงการน่าจะมีมากกว่า 3,000 โครงการที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำ สิ่งต่างๆ นี้ ได้ซึมซาบ และรับรู้ความคิดของท่าน เช่น เรื่องการจัดทำแหล่งน้ำ ผลสัมฤทธิ์ไม่ใช่ว่า สร้างอ่างเก็บน้ำหนึ่งแห่ง แต่ท่านต้องการดูว่าประชาชนมีความอยู่ดี กินดี ขึ้นจริงหรือไม่ หลังจากมีการสร้างแหล่งน้ำ ซึ่งหมายความว่า ท่านไม่ได้เพียงมองว่าทำสำเร็จ แต่ความสำเร็จคือประชาชนอยู่ดี กินดีจริง หลายครั้งได้ติดตามองคมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพระราชดำริ ได้ยินประชาชนพูดเสมอว่า เมื่อก่อนที่ไม่มีโครงการพระราชดำริ มีความเป็นอยู่ที่ลำบากมาก แม้กระทั่งช่วงหน้าแล้ง ได้ติดตามองคมนตรีลงพื้นที่ภาคอีสาน หลายพื้นที่ไม่มีน้ำใช้ แต่โครงการพระราชดำริสามารถช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีน้ำพอเพียงสำหรับทำการเพาะปลูกช่วงหน้าแล้ง ปัจจุบัน งานนโยบายต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ได้ยึดแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ศาสตร์พระราชาด้านต่างๆ โดยเฉพาะเกษตรทฤษฎีใหม่ กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดเป็นงานนโยบายประจำปี ในแต่ละปีจะมีการผลักดันให้เกษตรกรทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ ซึ่งปีงบประมาณ2560 มีการส่งเสริมเกษตรกร จำนวน 70,000 ราย และปีงบประมาณ 2561 ตั้งเป้าอีก 70,000 ราย ที่จะส่งเสริมเกษตรกรทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ คนไทยทุกคนคงคิดเหมือนกัน โชคดีที่เกิดในแผ่นดินไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อดีตที่ผ่านมาเป็นคนที่เดินทางไปหลายประเทศ และเรียนต่างประเทศ ไม่เคยเจอความรู้สึก แบบที่คนไทยรู้สึกอย่างนี้ แม้ไทยจะเจอปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องภัยพิบัติ ความเห็นไม่ตรงกัน แต่มีท่านเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้ปัญหาต่างๆ สามารถคลี่คลายได้หากจะจำภาพที่เห็นได้ชัด เช่น ตอนน้ำท่วม เห็นท่านออกโทรทัศน์ ท่านทรงติดตาม แนะนำในการบริหารจัดการน้ำ หรือควรจะมีโครงการแบบไหน หรือกระทั่งวิกฤติการณ์ของประเทศในเรื่องความขัดแย้ง จะเห็นภาพท่านลงมาคุย พูดจากับคนที่มีความขัดแย้ง ทำให้เห็นประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด ทั้งๆ ที่เคยไปเห็นสภาพบ้านเรือนในต่างประเทศมีความสวยงาม แต่ไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แม้ประเทศไทยจะอยู่ในแถบโซนร้อน แต่มีความน่าอยู่กว่า เพราะรู้สึกว่าเหมือนมีพระคุ้มครองอยู่ตลอดเวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นแบบทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงานในชีวิตราชการ อย่างเช่น เรื่องยาสีฟัน ทรงใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ทั้งที่ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ในชีวิตนี้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯโดยเฉพาะการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปยังเกาะเกร็ดและมณฑลพิธีเปิด 5 โครงการชลประทาน "น้ำสร้างชีวิต"อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทรงงานอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม2555 รอเข้าเฝ้าฯ ตั้งแต่ 4 โมงเย็น จนถึง 3 ทุ่ม และได้อยู่ในเหตุการณ์ที่ท่านเสด็จพระราชดำเนินทรงงานอย่างไม่เป็นทางการครั้งสุดท้ายเช่นกัน ทรงเสด็จพระราชดำเนินอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ในช่วงที่ท่านทรงพักฟื้นที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ถวายงาน และความประทับใจ จนถึงทุกวันนี้ ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม แม้ท่านจะไม่อยู่ แต่พร้อมจะน้อมนำศาสตร์ต่างๆ ไปสืบสานตามพระราชประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการพัฒนาภาคการเกษตร เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ท่านทรงให้แนวความคิดต่างๆ หรือวิธีการทำการเกษตร อาทิ การแกล้งดิน การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นการทำการเกษตรที่ทำให้เกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ ซึ่งต่างจากทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกข้าว ปลูกได้เพียงปีละ 2 ครั้ง มีรายได้ปีละ 2 ครั้งในวันที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ถ้าทำเกษตรทฤษฎีใหม่ สามารถมีผลผลิตเก็บกินได้ทั้งปี ผลผลิตเหลือก็แบ่งปันเพื่อนบ้าน หรือมีผลผลิตมากก็รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ รวมกันซื้อ รวมกันขาย โดยเป็นงานที่กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบตั้งแต่การเพาะปลูก จนกระทั่งมีสหกรณ์ ฉะนั้น ศาสตร์พระราชาที่ท่านทรงให้แนวทางไว้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมต่างๆ ที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้อย่างแน่นอน" "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นแบบทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงานในชีวิตราชการอย่างเช่น เรื่องยาสีฟันทรงใช้ชีวิตอย่างพอเพียงทั้งที่ท่านทรงเป็นพระมหากษัตริย์" ************ 'สานต่อศาสตร์พระราชา' ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภา กทม. "ย้อนความหลังเมื่อครั้งที่รับราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครตั้งแต่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคลองสาน และตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการ ปลัดกรุงเทพมหานคร ว่า หากย้อนคิดถึงโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ กทม.น้อมนำมาปฏิบัติและแก้ปัญหาให้กับประชาชนคนกรุงเทพฯ ก็น่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาจราจร และน้ำท่วม ที่ตนประทับใจ และทรงชี้แนะแนวทางแก้ไขไว้เป็นแบบอย่างซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงเป็นแนวทางในการดูแลประชาชนของ กทม.อยู่ทั้งเรื่องแก้มลิงแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่ทรงให้จัดหาพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ก่อนจะระบายออกไปใช้และปล่อยลงแม่น้ำเจ้าพระยาและลงสู่ทะเลต่อไปซึ่งปัจจุบันโครงการแก้มลิงนั้นก็กระจายตัวไปสู่จังหวัดอื่น โครงการแก้ปัญหาจราจร โดยเฉพาะโครงการทางยกระดับลอยฟ้าบรมราชชนนี ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ในช่วงปี 2534-2538 ที่ต้องประทับที่โรงพยาบาลศิริราชหลายครั้งได้ทอดพระเนตรเห็นปัญหาจราจรติดขัดครั้งละนานๆในบริเวณดังกล่าวรถจากฝั่งพระนครจำนวนมากที่รอขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเพื่อออกสู่นอกเมืองไปตามแนวถนนบรมราชชนนี สู่ อ.นครชัยศรี แต่ปรากฏว่าการระบายรถทำได้ช้าส่งผลกระทบกับอีกหลายเส้นทางที่เชื่อมเข้าสู่ถนนราชดำเนิน ในขณะที่การจราจรฝั่งธนบุรีก็มีปัญหาไม่ต่างกัน เมื่อทรงเห็นเช่นนั้นจึงทรงมีพระราชดำริในการแก้ปัญหาจราจรและเกิดโครงการตามพระราชดำริอีกมากมายตามมาอาทิ การสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้า ซึ่งพระราชทานแนวทางให้สร้างทางคู่ขนานยกระดับคร่อมเหนือสะพาน ข้ามแยกอรุณอมรินทร์และสะพานข้ามแยกบรมราชชนนี เพื่อให้การจราจรคล่องตัว ช่วยให้ระบายรถออกนอกเมืองได้เร็ว ส่งผลให้การจราจรถนนราชดำเนินและถนนอื่นๆ คล่องตัวตามไปด้วย ซึ่งในครั้งนั้นไม่เพียงกทม.เท่านั้น ยังมีหลายหน่วยงานทั้ง กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กรมตำรวจ (ในขณะนั้น) กระทรวงมหาดไทย ที่ร่วมกันทำงานแก้ปัญหา แน่นอนว่า โครงการดังกล่าวก็เปิดใช้เรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน ได้มีส่วนช่วยในการระบายการจราจรพื้นที่ชั้นในของ กทม. ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงทำเพื่อประชาชน นอกจากนี้ ยังมีโครงการตัดถนนรัชดาภิเษก เป็นเส้นทางหนึ่งที่มาจากน้ำพระทัยของพระองค์ต่อชาวกรุงเทพฯที่ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในทุกข์สุขของประชาชนเสมอมา จำได้ว่าในครั้งนั้น รัฐบาลสมัยนั้น กำหนดจะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวาย แต่พระองค์ตรัสว่า "ขอเถิดอนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้วเกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน" เราจะเห็นว่าภายใต้สิ่งที่พระองค์ตรัสไม่ใช่เพียงความฝันของพระองค์เท่านั้น แต่แฝงไปด้วยความห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จึงเป็นที่มาของการสร้างถนนรัชดาภิเษกที่เป็นวงแหวนเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายรองรับปัญหาจราจรด้านในของ กทม.ทั้งหมดซึ่งพระองค์ได้พระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก" อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายโครงการมากมายที่เกิดประโยชน์แก่ กทม. แต่เนื่องจากปัญหาหลักของเมืองหลวงจะเห็นชัดที่สุดคือเรื่องจราจร น้ำท่วม แต่ก็ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ กทม.นำมาปรับใช้ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เขตพื้นที่ต่างๆนำไปจัดทำศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดความเข้มแข็งของคนในชุมชน ที่สามารถพึ่งตนเองได้ แม้จะไม่ได้ทำเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่การที่ให้ชุมชนร่วมมือกันย่อมทำให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืนในกระแสโลกที่เปลี่ยนไปทุกวัน ปรัชญานี้มีเป้าหมายไปถึงระบบเศรษฐกิจของไทยที่มุ่งพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน มั่นคงที่คำนึงถึงประโยชน์ของภาพรวมของประเทศ "สิ่งที่เราทุกคนสามารถน้อมนำแนวทางของพระองค์ไปใช้ก็คือ เมื่อเราอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใดจงพึงระลึกไว้เสมอว่าต้องทำงานอย่างเต็มที่ ใส่ใจในปัญหา ซื่อสัตย์ อดทน ใช้สติปัญญานำทาง การแก้ปัญหาก็จะมีประสิทธิภาพ ในชีวิตส่วนตัวนั้นผมใช้หลักคำสอนของพระองค์นำทางชีวิตและการทำงานเสมอว่าจะทำอย่างไรให้สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนและให้เขาเดือดร้อนน้อยที่สุด ทำด้วยความทุ่มเท ดูแลครอบครัวด้วยความสุจริต ซึ่งก็ต้องฝากไปถึงข้าราชการกทม.ทุกคนว่าเราในฐานะเป็นนักปกครองมีหน้าที่ในการดูแลใกล้ชิด ก็ต้องยึดมั่นในพระราชดำริของพระองค์ โดยสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด ให้ประชาชนวางใจในการทำงานของเราให้สมกับเป็นข้าราชการข้าของพระเจ้าแผ่นดิน" และในฐานะสวมหมวกใบใหม่คือสมาชิกสภา กทม. ก็ยังยึดแนวทางการทำงานของพระองค์ท่านที่ต้องมีความเที่ยงธรรมใส่ใจในปัญหาต่างๆ อย่างเท่าเทียม ประกอบกับสมาชิกสภา กทม.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้ง และส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการมีตำแหน่งในบ้านเมือง มีวุฒิภาวะมากพอ ตนในฐานะประธานสภา กทม.ก็ไม่ได้เสนอแนะแนวทางอะไรมาก เพราะทุกท่านมีประสบการณ์ในการทำงานกับประชาชนอยู่แล้ว และทุกคนก็ยึดมั่นแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของประชาชนยิ่งกว่าสิ่งใด เราในฐานะประชาชนก็ต้องทำประโยชน์ตอบแทนคุณแผ่นดินเช่นกัน" "...สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุดให้ประชาชนวางใจในการทำงาน ของเราให้สมกับเป็นข้าราชการ ข้าของพระเจ้าแผ่นดิน..." ************* ศธ.น้อมนำศาสตร์พระราชา "...การศึกษา เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุกๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้น ก็จะมีพลเมืองมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด..." ความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่ครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2524 จากพระบรมราโชวาทด้านการศึกษาในหลายวาระ นำไปสู่พระบรมราโชบายอันล้ำลึก เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งในการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน การศึกษาพิเศษ การศึกษาสงเคราะห์ การพัฒนาวิชาการและวิจัย ตลอดจนการพระราชทานทุนการศึกษา ที่สร้างนักเรียนทุนหลวงออกมาพัฒนาประเทศชาติ รุ่นแล้วรุ่นเล่า ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกล ในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จนเป็นที่ประจักษ์แจ้ง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลการศึกษาของประชาชน ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ได้น้อมนำพระราโชบายสู่การปฏิบัติเพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืน ************* ...จากพระราชดำริ สู่กองทุนการศึกษาเท่าเทียม นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระฯ ได้น้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ให้ราษฎรที่ด้อยโอกาสไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม มาเป็นหลักในการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.(...) ซึ่งขณะนี้ คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมเผยแพร่แก่ประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็น และนำเสียงสะท้อนจากประชาชนและหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง มาปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.อีกครั้งก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ร่าง พ.ร.บ.กองทุนฯ ฉบับนี้มุ่งหวังให้กองทุนเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียม รวมทั้งการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนไทย และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ วัตถุประสงค์หลักของกองทุนนี้ ในมาตรา 5 และมาตรา 8 ตั้งเป้าว่าภายใน 10 ปี กองทุนจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่นและวิสาหกิจ เพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมความเสมอภาคของโอกาสในการศึกษาขั้นสูง ของผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผ่านการช่วยเหลือและพัฒนากลุ่มเป้าหมายสำคัญ 4 กลุ่ม รวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000,000 คนต่อปี ได้แก่ เด็กเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสตั้งแต่แรกเกิดจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน, เด็กเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา, ประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และครูและอาจารย์ที่ขาดการสนับสนุน ขณะเดียวกัน มาตรา 10 ยังกำหนดให้กองทุนนี้เป็นกลไกในการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใหม่ จากเดิมที่รัฐจัดสรรเงินเพียง 50 สตางค์จากทุก 100 บาท เป็นเงิน 3,000 ล้านบาทของงบประมาณด้านการศึกษา เพื่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กองทุนนี้จะผลักดันให้ประเทศไทยลงทุนเงินทุก5บาทแรกเป็นเงินราว20,000 ล้านบาท จากงบประมาณการศึกษาของประเทศ เพื่อช่วยเหลือและยกระดับศักยภาพเด็ก เยาวชน ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค ...ทรงเป็นต้นแบบ ครูแอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการพัฒนาครู โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นแบบครูแห่งแผ่นดินในวาระวันครู 16 มกราคม พ.ศ.2554 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ถวายพระราชสมัญญานามแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร "พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน" เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของครู ทรงมีวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาแบบเรียนรู้ตลอดชีวิต แสวงหาความรู้ด้วยพระองค์เอง ด้วยการลงไปรับฟังไปเห็น และไปสัมผัสด้วยพระองค์เอง แล้วนำสิ่งที่พระองค์ได้ฟัง ได้เห็น ได้สัมผัส นั้นกลับมาคิดวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา ขจัดทุกข์ให้กับประชาชนของพระองค์ "ดังที่เราเห็นจากการที่พระองค์เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลเพียงใดพระองค์ก็จะลงไปรับฟัง และซักถามจากประชาชนโดยตรง ด้วยพระวิริยะอดทน และเมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จะไปเก็บข้อมูลจากอีกหลายๆ แห่ง และเก็บข้อมูลเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะนำกลับไปวิเคราะห์ และหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการศึกษาและประเมินผลไปกันด้วย ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการวิจัยก็ไม่ผิด ที่สำคัญทรงแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด" ในฐานะความเป็นครูทรงสั่งสอน ชี้นำแสดงตัวอย่างและติดตามผลโครงงานต่างๆ เพื่อความสำเร็จมาโดยตลอด ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่เราอาจจะนึกไม่ถึง แต่เป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติให้เราได้เห็น คือ เรื่องการลงไปรับฟัง ไปสัมผัส และเห็นด้วยตนเองจากนั้นก็จะนำไปวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติและแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงเป็นต้นแบบให้ครูสอนแบบแอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง (Active learning) ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นหัวใจของการจัดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ "แอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ให้เด็กได้เรียนโดยการลงมือ ทำ ได้คิด ได้สร้างสรรค์ในกระบวนการคิดของตัวเอง เป็นศาสตร์พระราชา ที่ สพฐ. ต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์นอกตำรา ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ" ดร.บุญรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย ******* 'ศาสตร์พระราชาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน' ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) "เพื่อเป็นการร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน นอกจากภาพรวมที่จะเน้นไปยังพระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านได้ทำไว้ ก็คือเรื่องของความเป็นไทย เรื่องของความเป็นท้องถิ่น และเรื่องชุมชน ยังได้จัดทำโครงการร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ UNDP เป็นเครือข่ายการพัฒนาทั่วโลกของสหประชาชาติที่มีบทบาทส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ด้วยความรู้ ประสบการณ์ และทรัพยากรภายใต้ชื่อโครงการว่า ศาสตร์พระราชาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นการน้อมนำในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำแนวความคิดในการพัฒนา ทั้งเข้าใจ เข้าถึงในการพัฒนามาประยุกต์ใช้ในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งจะมีโครงการนำร่องใน 4 หมู่บ้าน ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งจังหวัดสกลนคร เชียงใหม่ ชุมพร จันทบุรี เป็นต้น ลักษณะสำคัญของโครงการในชุมชนนำร่องดังกล่าว คือ เป็นพื้นที่ทรงงานอยู่ใกล้ๆโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อ นำมาต่อยอดในเรื่องของการท่องเที่ยวต่อไป รวมไปถึงก่อนหน้านี้ได้จัดทำหนังสือ 10 เส้นทางตามรอยพระบาท มีการทำเส้นทางท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่ที่พระองค์ทรงงาน หรือโครงการพระราชดำริต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนคนไทยเป็นอย่างมาก และโครงการศาสตร์พระราชา คงจะนำมาเป็นแกนหลัก เป็นตัวส่งเสริมทางด้านการตลาดที่ ททท.จะยึดเป็นแนวความคิดในการพัฒนาการท่องเที่ยวต่างๆ ต่อไป" ****** 'การที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้' พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิทผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. "สำหรับ อพท. โชคดีที่ได้ทำงานใกล้ชิดชุมชน ซึ่งเป็นประชาชนภายใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่าน ประชาชนเหล่านี้ถือเป็นฐานรากสำคัญของประเทศ ดังนั้นเมื่อทาง อพท.ได้น้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านมาใช้กับการพัฒนาชุมชนเพื่อให้การท่องเที่ยวไทยมีความยั่งยืน ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ที่ผ่านมา และนับจากนี้ต่อไป สิ่งที่ อพท. ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการวางแผนการพัฒนา ซึ่งได้ดำเนินการมาตลอด 14 ปี และจะดำเนินต่อไป โดยงานของ อพท. สามารถสอดแทรกศาสตร์พระราชาได้ในทุกขั้นตอน ภายใต้คำจำกัดความว่า จากศาสตร์พระราชาชสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เช่นการระเบิดจากข้างในทรงยึดหลักว่า คนในชุมชนต้องมีความพร้อมและยินดีที่จะร่วมดำเนินการพัฒนานั้นๆ ประหนึ่งว่าต้องเป็นการระเบิดจากข้างในหรือประสงค์ที่จะร่วมดำเนินการนั้นเอง จึงจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมไปถึง ภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่พระองค์ทรงมีหลักว่า จะพัฒนาอะไรหรือทำการสิ่งใด ให้ยึดหลักสำคัญคือความสอดคล้องกับภูมิสังคม คือคำนึงถึงสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม หมายรวมถึงคน ซึ่งย่อมมีขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ควรตระหนักถึงอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย ขณะที่องค์รวมทรงมองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างครบวงจร ทั้งในขั้นตอนการวางแผนและการปฏิบัติ โดยการวางแผนจะต้องมีเป้าหมายชัดเจน ทรงมองปัญหาตั้งแต่ภาพใหญ่จนถึงภาพเล็กในทุกๆมิติอย่างเชื่อมโยง เตรียมการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ การมีส่วนร่วม ในส่วนของขาดทุน คือ กำไร พระองค์ ทรงมีหลักว่า "...ขาดทุน คือ กำไร การเสียคือ การได้ประเทศชาติก็จะก้าวหน้าและการที่คนอยู่ดีมีสุขนั้น เป็นการนับที่เป็นมูลค่าเงินไม่ได้..." หรือการดำเนินการใดๆ แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือต้องขาดทุน หากเป็นการแก้ไขปัญหาและก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ก็เท่ากับพระองค์ได้กำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งไม่อาจประเมินค่าได้หากผลที่ได้นั้นคือความสุข ของประชาชน สำหรับการมีส่วนร่วม พระองค์ทรงเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น และทรงให้ความสำคัญกับการสอบถามประชาชนโดยการทำประชาพิจารณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ยึดหลักประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม ดังนั้นในการพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทาง อพท. ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน มาเป็นหลักคิดและแนวทาง เพราะ อพท. ไม่ได้มุ่งหวังให้ชุมชนทิ้งอาชีพหรือวิถีชีวิตเดิม เปลี่ยนมาทำเรื่องของการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ อพท. ให้แนวคิดกับชุมชนเสมอว่า ให้ท่องเที่ยวเป็นเพียงรายได้เสริม เพราะหากวันหนึ่งไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมา ชาวบ้านและชุมชนก็ยังสามารถอยู่ได้จากอาชีพหลักของตัวเอง วิถีชีวิตไม่ถูกปรับเปลี่ยน ประเพณีวัฒนธรรมไม่เลือนหาย" ***** 'ไม่ว่าจะเป็นอะไร ขอให้ตั้งใจทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด' เบิร์ด - ธงไชย แมคอินไตย์ศิลปินชื่อดัง "ครั้งหนึ่งที่พี่เบิร์ดได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เพื่อร้องเพลงถวายต่อหน้าพระพักตร์ท่านทรงรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการปลูกข้าวของพี่เบิร์ด โดยรับสั่งว่า "ขอให้เป็นเกษตรกรที่ดี ขอให้เป็นนักร้องที่ดี ขอให้เป็นเกษตรกรเป็นที่หนึ่ง ขอให้เป็นนักร้องเป็นที่หนึ่ง และไม่ว่าจะเป็นอะไร ขอให้ตั้งใจทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด" ฉะนั้น การทำงานทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอะไร ขอให้ตั้งใจทำมันให้ดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่เราจดจำและตั้งใจที่จะสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านที่ทรงสอนให้เรารู้จักรับผิดชอบและปฏิบัติงานของตนเองให้ดีที่สุดครับ" ****** 'พร้อมเสียสละประโยชน์ส่วนตนให้แก่ส่วนรวม' พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนารายการและรายได้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 "ขอกราบถวายพระพรดวงพระวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชองค์รัชกาลที่ 9 ขอพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย ลูกขอสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านในเรื่องความเพียรความอดทนเสียสละในการทำงานในชีวิตประจำวันจะใช้ความพอดีสร้างฐานะไม่ใช้ชีวิตความเป็นอยู่เกินกำลังฐานะของตนเองและเข้าใจการรู้ตัวตนอยู่เสมอให้เป็นคนมีระเบียบ เราต้องเป็นผู้รับและผู้ให้มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมเสียสละประโยชน์ส่วนตนให้แก่ส่วนรวมเป็นคนดีและจะนำแนวทางการพูดจริงทำจริงพูดอย่างไรทำอย่างนั้นมีความซื่อสัตย์สุจริตและที่สำคัญที่สุดต้องเอาชนะใจตนเองให้ได้จึงจะประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต" 'ท้องถิ่นจะต้องทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง' ********* ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายก อบต.บ้านหม้อ จ.เพชรบุรี อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ "ในช่วงหนึ่งที่เป็นเลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสเดินทางไปบรรยาย 5 ภูมิภาค ได้เน้นย้ำว่า ท้องถิ่นจะต้องเป็นกลไกของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ได้ ซึ่งกลไกของพระมหากษัตริย์ในที่นี้หมายความว่า ปัญหาของคนท้องถิ่น คือปัญหาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงวางแบบในการแก้ปัญหา คือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทุกวันนี้มีคนพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง แต่เครื่องมือที่จะทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่นั้นไม่มีคนที่จะคิดไปทำ ท้องถิ่นจะต้องทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานรากเพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสว่า หลักคิดของท่านคือพอเพียง พอมี พอกิน อยู่ได้ นั่นคือการสร้างรากฐานของประเทศลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่พระองค์ท่านวางไว้แล้วแต่ไม่มีใครไปขยับ ผมพยายามพูดกับคนท้องถิ่นว่าท้องถิ่นจะต้องเป็นตัวแทนที่จะไปทำภารกิจให้กับสถาบัน และเป็นเครื่องมือที่สถาบันจะต้องใช้ท้องถิ่นทำนโยบายอย่าใช้คำว่า เครื่องมือสถาบัน จะต้องให้องค์ความรู้ให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความรู้ท้องถิ่นในการขับเคลื่อนหลักแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 สถาบันไปสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีความรู้เรื่องศาสตร์เหล่านี้มากขึ้น หรือเราอาจจะต้องออกมาในแบบบังคับ ในมุมมองของผม ทุกท้องถิ่นจะต้องมีกิจกรรมในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง" ที่ผ่านมาพบว่า มีหน่วยงานจัดสรรงบประมาณลงไปให้ท้องถิ่น หรือชุมชนเพื่อจัดกิจกรรม เมื่อกิจกรรมเสร็จทุกอย่างก็จบซึ่งชาวบ้านจะไม่ได้อะไร เรื่องนี้จะต้องไปวางในโครงการเฉพาะกิจแต่ท้องถิ่นไม่ได้ออกแบบเฉพาะกิจขึ้นตอนแรกในปีนี้ทำอะไรขั้นตอนที่สองทำอะไร สมมติออกเมนูมา 10 รายการ ต้องวางแล้วว่าขั้นตอนที่ 1 ทำอะไร 2 3 4 5 ทำอะไรในรอบ 4 ปี ของการบริหารผู้บริหารท้องถิ่น ดังนั้นจะเกิดเป็นรูปธรรมทั้งหมด ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง เช่น ปีนี้ขุดสระน้ำ ปีหน้าส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เพาะปลูก ปีหน้าแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ปีหน้าทำกลไกตลาดทางการเกษตรเป็นต้น" ************* 'อยู่อย่างพอเพียงตามที่พ่อหลวงได้สอนไว้' สุขี บุญแสงส่ง เกษตรกร ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ "วิถีชีวิตเดิมเป็นเกษตรกร เป็นมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ พื้นที่มีน้อยปลูกข้าว ทำไร่ก็ได้ผลผลิตน้อยหรือมีรายได้พอเลี้ยงตัวเท่านั้น จึงอพยพครอบครัวไปทำอาชีพขายลูกชิ้นทอดที่กรุงเทพมหานครทำอยู่นานเป็นสิบปี ก็พอมีเงินเลี้ยงตัวและครอบครัวได้ จนกระทั่งประสบอุบัติเหตุมีรถมาเฉี่ยวชนร่างกายก็เริ่มไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ระหว่างที่อยู่พักฟื้นได้ดูข่าวทางสถานีโทรทัศน์ ได้รู้ว่าโครงการปิดทองหลังพระได้เข้ามาส่งเสริมในพื้นที่และอยู่ใกล้บ้าน อีกทั้งยังมีเพื่อนบ้านที่ทำแล้วประสบความสำเร็จจริง จึงตั้งใจเก็บของกลับมาบ้านเลยโดยมุ่งหวังเพียงอย่างเดียวคือการสืบสานเกษตรตามแนวพระราชดำริ เกษตรทฤษฎีใหม่ และปรัชญาเกษตรพอเพียง จนทำให้รู้อีกอย่างคือการทำเกษตรแบบผสมผสาน ปรับประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่และฤดูกาล จากการเรียนรู้ศาสตร์แห่งพระราชาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยมีสหกรณ์เป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริม ทั้งในส่วนเงินทุน การทำบัญชีครัวเรือน โอกาสของการเข้าอบรมวิชาการต่างๆ และในหน้าที่พี่เลี้ยงที่เข้ามาแนะนำทุกๆ ด้าน เริ่มต้นปลูกพืชอย่างละนิดอย่างละหน่อย ก็มีรายได้แรกๆ วันละ 60 บาท แต่เราไม่มีรายจ่ายเพราะอยู่บ้านตัวเอง ข้าวปลาอาหารก็ไม่แพงเหมือนกับที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร จากนั้นก็เริ่มเลี้ยงปลา โดยขุดสระน้ำ เลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ควบคู่ไป นอกจากนี้ก็ยังมีเลี้ยงจิ้งหรีด เป็ดไข่ เป็ดเนื้อ และไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ ทุกอย่างหมุนเวียน ได้จำหน่ายโดยไม่ต้องออกไปเช่าแผงขายโดยขายที่บ้าน ทำให้ตอนนี้มีรายได้เฉลี่ยขั้นต่ำที่ 600 บาทต่อวัน ทำไปทุกวัน อยากกินอะไรก็ปลูกปลูกอะไรไว้ก็กินสิ่งที่เราปลูก วันๆ หนึ่งแทบไม่มีรายจ่ายอะไร ชีวิตก็ดีขึ้น ไม่เครียด เพราะอยู่อย่างพอเพียงตามที่พ่อหลวงได้สอนไว้ มีเงินเก็บ สามารถซื้อที่ขยายออกไปเพิ่มเติม จนตอนนี้มีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 3 ไร่ มีเงินเก็บจากการออม และจากนี้คงไม่เปลี่ยนอาชีพอื่น คงจะเป็นเกษตรกร สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ของพ่อหลวงตลอดไป" ********* 'ปลูกฝังเด็กๆให้มีความจงรักภักดี' ถาวร ณัฏฐภัทรเตชาธร ครูสอนวิชาศิลปศึกษา โรงเรียนภูสิงห์ประชาเสริมวิทย์อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ "ด้วยความจงรักภักดีและความศรัทธา ที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา มีทั้งจำหน่ายบ้าง บริจาคเพื่อนำภาพไปประมูลนำเงินไปช่วยเหลืองาน การกุศลต่างๆ ทั้งช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคมะเร็ง หลังจากที่พระองค์ท่านสวรรคตน้ำตาก็จุกอก ทุกครั้งที่เขียนภาพพระองค์ท่าน มีความสุขมาก เขียนภาพในหลวงรัชกาลที่9 มาตั้งแต่เริ่มเขียนแรกๆ 1 ภาพมาจนปัจจุบัน เกือบ 1 พันภาพแล้ว ถือว่าเป็นภาพที่วาดมากที่สุดในชีวิต นอกจากภาพศิลปะทั่วไป "หลังจากที่เป็นครู ก็จะให้นักเรียนช่วยกันวาดรูปในหลวงรัชการลที่ 9 มาโดยตลอด เพื่อซึมซับให้เขามีความรักความสามัคคีและความจงรักภักดี นอกจากนี้จะมีกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเด็กนักเรียนด้วยจะสร้างงานเกี่ยวกับภาพในหลวงไปตลอดชีวิต ขณะนี้กำลังทำแกลเลอรี่ เพื่อให้คนที่มีใจรักในการเขียนภาพ โดยเฉพาะเด็กๆได้เข้ามาเรียนฟรี ซึ่งจะสอนวาดภาพให้ เพราะตอนสมัยยังเด็กก็ขาดโอกาส ต้องเรียนรู้การวาดภาพด้วยตัวเอง จึงอยากจะสร้างโอกาสให้กับเด็กๆที่มีใจรักได้มาเรียนนอกจากงาน วาดภาพในหลวงแล้ว ก็จะมีงานที่เขียนในสไตล์ของตัวเอง คืองานเกี่ยวกับภาพการดำรงชีวิตวัฒนธรรมวิถีของคนอีสานต่างๆ ซึ่งเวลาจัดแสดงก็มีลูกค้าสนใจซื้อไปก็หลายภาพแล้ว" ****** 'ตลท.หนุนธุรกิจโตแบบสมดุล' เกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย "ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ทรงครองราชสมบัติพระราชกรณียกิจที่สร้างรากฐานความยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยมีมากมาย โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นปรัชญาแห่งความยั่งยืนที่แท้จริงที่ใช้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ในการนำมาใช้ปฏิบัติงานหรือบริหารพัฒนาประเทศให้สามารถดำเนินงาน และเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน โดยสนับสนุนให้ธุรกิจทุกภาคส่วนดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ตลอดจนส่งเสริมความรู้พื้นฐานในการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล เพื่อให้สามารถมีความรู้ความเข้าใจด้านการวางแผนการเงินของตนเองและของครอบครัว โดยมีการจัดอบรมหลักสูตรที่หลากหลายและมีกิจกรรมให้ความรู้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน วัยเตรียมเกษียณ วัยเกษียณ และผู้ลงทุนโดยมุ่งหวังเพื่อการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ" ***** 'เปิดโอกาสให้คนดีบริหารงาน' ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) "ในการทำงานของผมนั้นได้รับเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ว่า "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้" มาใช้ในการบริหาร กสทช.ให้สามารถเป็นที่ยอมรับในสังคมได้ดีจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในการบริหารนั้น ในที่ทำงานมีทั้งคนดี และคนไม่ดี ซึ่งผมได้ให้โอกาสคนดีได้แสดงฝีมือ ซึ่งคนที่ไม่ดีเห็นว่า เมื่อเป็นคนดี และตั้งใจทำงานจะได้รับโอกาสที่ดีในหน้าที่การงาน ซึ่งคนไม่ดีเหล่านั้นจะปรับปรุงตัว และตั้งใจทำงานมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าตลอด 6 ปีที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของ กสทช.ยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในสังคม มองว่าเป็นเพียงหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือแก้ไขปัญหาอะไรได้ แต่มาถึงวันนี้การทำงานเปลี่ยนไป เป็นที่ยอมรับในสังคมมีมากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้หลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" ในการบริหาร กสทช.โดยต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล มีประสิทธิภาพมากที่สุด และต้องนึกเสมอว่างบประมาณที่ใช้ไปนั้นเป็น "เงินหลวง เงินของประชาชน" ******* 'นำคำสอนมาใช้ในการดำรงชีวิต' ไพโรจน์ วัฒนวโรดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.เอส.พี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) "คุณค่าของคนอยู่ที่ไหน!" เป็นประโยคที่สะท้อนใจผมมากเลย วันที่ 13 ตุลาคม2560 คือวันที่ครบ 1 ปีแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเป็นที่สุดของชาติไทย ขออนุญาตอัญเชิญคำสอนของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สอนลูกหลวงชาวไทยทั้งหลาย รวมถึงข้าแผ่นดินเช่นผมด้วย และขอนำเพลงพระราชนิพนธ์ "ความฝันอันสูงสุด " มาประกอบด้วยได้พบคำสอนหนึ่งที่ท่านสอนคือ " คุณค่าของคนอยู่ที่ไหน " อยู่ที่การทำงานในสถานที่ดีๆแต่งตัวหรู ไปเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่มีรถแพงๆ มีบ้านหลังใหญ่ๆ อยู่ที่ซื้อของแบรนด์เนมโชว์ลงเฟซบุ๊กอวดของ อยู่ที่ไม่ทำอะไรเลย เกาะพ่อแม่ไปวันๆ ผมได้ดูคลิปของครูคนหนึ่ง พิการ ตาเหล่ ที่สอนเด็กด้อยโอกาสในสลัม คือครูเชาว์ ข้างถนน เขามุ่งมั่นในการสอนเด็กด้อยโอกาส ถึงหน้าตาความพร้อมของครูก็ไม่พร้อม แต่ครูได้แสดงถึงคุณค่าของคนอยู่ที่ไหน คำพูดของครูกระแทกใส่หน้า สมองและหัวใจของผมอย่างแรงมากเลยครับ และครูจบด้วยคำพูดว่า เขานำคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อบอกถึงคุณค่าของคนดังนี้ "การนำความรู้ที่มีทั้งหมด มาพัฒนาสังคมและตอบแทนสังคมบ้าง จะได้รับรู้ความรู้สึกถึงการทำดี ตอบแทนแผ่นดินมันมีความสุขมากแค่ไหน"และในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ตรัสไว้ว่า "ถ้าทุกคนทำอะไรแล้วเกิดประโยชน์ก็ให้ทำ ถึงแม้เราจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์แต่เราทำให้ตัวเองมีคุณค่าได้" 'สร้างชีวิตใหม่ให้เกษตรกรไทย' มนตรี บุญจรัส กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด(ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ) ""ผล" แห่งประการทั้งปวง ล้วนมาจาก "เหตุ" ความดีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดมา นับแต่พระองค์ได้ทรงขึ้นครองราชย์และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ทำให้พระองค์ท่านเป็นที่รักใคร่ของปวงประชาชนนับแต่นั้น พระองค์ท่านยังได้ทรงสร้างคุณูปการเยอะแยะมากมายแก่ประเทศชาติและพสกนิกร จนมิอาจจะเขียนกล่าวในที่นี้ได้หมด โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นโครงการแกล้งดิน โดยการแปรสภาพดินเปรี้ยวจัดให้สามารถเพาะปลูกได้ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช การบริหารจัดการน้ำในรูปแบบต่างๆ ทั้งเขื่อน ฝาย ฯลฯ อย่างเช่น เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการแก้มลิงต่างๆ ที่ช่วยทำให้กรุงเทพฯ นครนายก พ้นจากภัยน้ำท่วมมาหลายครั้งหลายครา รวมถึงโครงการฝนหลวงที่แก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ โครงการชั่งหัวมันที่ราชบุรีเพื่อเป็นต้นแบบให้พี่น้องในพื้นที่และใกล้เคียงสามารถใช้วิชาชีพเกษตรที่หลากหลายเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตเน้นพึ่งพิงอิงอาศัยตนเอง ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างแห้งแล้ง และอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งที่พวกเราชาวไทยทุกคนจะก้าวผ่านความโศกเศร้าในครั้งนี้ และเปรียบดังพระองค์ท่านยังอยู่กับเราตลอดไป ก็น่าจะมีวิธีอยู่บ้าง หนึ่งในนั้นคือ การทำให้พระองค์ท่านภูมิใจในตัวเราทุกคน โดยการน้อมนำทำตามที่พระองค์ท่านทรงสอนสั่งและวางแบบแผนเอาไว้ โดยเฉพาะในเรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง ที่พวกเราสามารถน้อมนำไปใช้กันได้จริงทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจน ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยเริ่มต้นจากเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง คือการทำให้ตนเอง "พออยู่พอกิน" สามารถช่วยเหลือแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันได้ก่อน เริ่มจากการแบ่งพื้นที่เพียง 1 ไร่ออกเป็น 4 ส่วนคือ 30 : 30 : 30 : 10 เพื่อทำสระน้ำ ปลูกข้าวปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และที่อยู่อาศัย ทำแบบนี้ไปจนกว่าจะเข้าใจ แล้วจึงค่อยๆเริ่มไปสู่เกษตรทฤษฎีขั้นที่ 2 คือการทำให้ตนเองก้าวไปสู่การพอมีอันจะกินโดยการรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์เพื่อให้เกษตรกรมีพลัง มีอำนาจการต่อรอง จนไปสู่เกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 คือต้องรู้จักติดต่อประสานงานกับแหล่งเงินทุน ธนาคาร ภาคเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพสินค้า คุณภาพชีวิต เพื่อให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และดียิ่งๆ ขึ้นไป เพียงเท่านี้เชื่อว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านจะมีความสุขและคอยดูแลปกป้องคุ้มครองพวกเราให้มีความสุขตลอดไป" ******* 'ผมเข้าใจได้ว่าทำไมคนไทยถึงรักพระองค์' ซาโตชิ ซูกิโต (Satoshi Sugito) CEO Beauty And Health Japan CO.,LTD "ในฐานะที่เป็นคนต่างชาติ (ประเทศญี่ปุ่น) มีความรู้สึกประหลาดใจที่เห็นและรับรู้ว่าคนไทยรักพระมหากษัตริย์ของตนอย่างล้นพ้น เป็นจุดเริ่มต้นให้ตนเองศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้คนไทยรักพระองค์อย่างนี้ ผมเข้ามาอยู่ประเทศไทยจากการเข้ามาทำธุรกิจกับเพื่อน ทำให้ได้ศึกษาถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยจึงได้รับรู้ว่าคนไทยเทิดทูนพระมหากษัตริย์ของตนอย่างหาที่สุดมิได้ ผมเป็นคนญี่ปุ่นจึงหาข้อมูลที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับประเทศญี่ปุ่น จึงได้ทราบว่าพระองค์ทรงนำปลาจากประเทศญี่ปุ่นมาพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งก็คือปลานิล ทำให้คนไทยได้รับประทานปลาที่มีคุณภาพและราคาประหยัดนี่คือสิ่งที่ผมได้รับรู้ว่าพระองค์ทรงห่วงใยประชาชนของท่านมาก ในเวลาต่อมาได้รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจอีกนับไม่ถ้วน เช่น โครงการฝนหลวง โครงการชั่งหัวมัน โครงการแก้มลิง และทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น ผมถึงเข้าใจได้ทันทีว่าทำไมคนไทยถึงรักพระองค์อย่างนี้ เพราะพระองค์ท่านทรงเสียสละ และทำทุกอย่างให้ประชาชนของพระองค์ท่านมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายอย่างแท้จริง ผมได้เห็นแบบอย่างของพระองค์และได้นำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันและการบริหารงานของผม" Download :: ตอนพิเศษ : สืบสานพระราชปณิธาน สร้างสุขปวงประชา