เพื่อให้สาธารณชนได้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับอารยธรรมก๊กสู่สมัยโบราณ ที่มีวัฒนธรรมซานซิงตุยเป็นตัวแทนอันโดดเด่น เผยแพร่วัฒนธรรมประชาชาติจีนสู่ทั่วโลก สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีน สำนักงานโบราณวัตถุแห่งชาติจีน และรัฐบาลประชาชนมณฑลเสฉวน จึงร่วมกันจัดกิจกรรม “เดินเข้าสู่ซานซิงตุย ทำความเข้าใจอารยธรรมประชาชาติจีน” โดยได้ประกาศผลคืบหน้าการขุดค้นทางโบราณคดีล่าสุดของ “ซานซิงตุย” ต่อสาธารณชน ซึ่งปัจจุบันพบโบราณวัตถุสำคัญมากกว่า 1,000 ชิ้นจาก 6 หลุมบวงสรวงที่ทำการขุดค้นใหม่ เช่น งาช้าง เครื่องสำริด เครื่องทอง และเครื่องหยก เป็นต้น โบราณวัตถุที่ขุดพบสร้างสถิติใหม่แก่ “ซานซิงตุย” หู ปิง รองผู้อำนวยการสำนักงานโบราณวัตถุแห่งชาติจีนระบุว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2019 ถึงพฤษภาคม ปี 2020 ได้มีการขุดพบหลุมบวงสรวงใหม่ 6 แห่ง ซึ่งเป็นวัฒนธรรม“ซานซิงตุย” และตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2020 ถึงปัจจุบัน สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยรวม 34 แห่ง ได้นำรูปแบบการปฏิบัติงานทางโบราณคดีแบบสหสาขาวิชาชีพมาใช้อย่างสร้างสรรค์ โดยประสานงานบูรณาการทางโบราณคดีภาคสนาม โบราณคดีทางห้องปฏิบัติการ โบราณคดีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการคุ้มครองโบราณวัตถุเข้าด้วยกัน ดำเนินการขุดค้นในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ทั้งยังสามารถกำหนดข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับขอบเขตของพื้นที่บวงสรวง สภาพการกองสุมอยู่ของโบราณวัตถุและอายุ ปัจจุบันการขุดงาช้างในหลุมที่ 3 และ 4 ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยในขั้นพื้นฐานแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะดำเนินการขุดเครื่องสำริดที่โผล่พ้นให้เห็นจำนวนมาก สำหรับหลุมที่ 5 ได้เสร็จสิ้นการเก็บโบราณวัตถุอื่นๆเรียบร้อย ยกเว้นแผ่นทรงกลม ที่พบในบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยได้รับการยืนยันในขั้นต้นว่าถึงก้นหลุมแล้ว และขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการทางโบราณคดีในห้องปฏิบัติการ สำหรับหลุมที่ 6 มีการล้อมปิดบริเวณและเก็บกล่องไม้ขึ้นจากหลุม ในหลุมที่ 7 ได้เปิดพื้นที่สำรวจเล็กๆ และพบงาช้างวางเรียงหนาแน่น ส่วนหลุมที่ 8 ใต้ชั้นขี้เถ้าที่มีความลึกราว 20 เซนติเมตร พบเศษต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เครื่องทองคำ หน้ากากทองแดงและอื่นๆ และล่าสุดได้ขุดพบเศษชิ้นส่วนหน้ากากทองคำ ซึ่งสามารถมองเห็นโครงร่างของหูและปากได้ชัดเจน การขุดพบรูปปั้นคนทูนเครื่องบูชาชั้นสูงเหนือศรีษะจากหลุมบวงสรวงหมายเลข 3 จัดเป็นสุดยอดผลงานวิจิตรศิลป์ในหมวดเครื่องสำริดสมัยราชวงศ์ซางของจีน รูปปั้นคนชิ้นนี้มีความสูงรวม 1.15 เมตร พบอยู่ทิศใต้ของหลุมบวงสรวง อยู่ในท่าคุกเข่า สวมกระโปรงสั้นปักดอกไม้ ประกบสองมือสอดนิ้วประสานเข้าหากัน มีนัยน์ตาโตและยิ้มกว้าง อารมณ์ทางสีหน้าแสดงออกเกินจริงและมีอิริยาบถที่เปี่ยมด้วยความเลื่อมใสศรัทธา บนศรีษะทูนเครื่องบูชาประดับลายมังกร นับเป็นครั้งแรกของจีนและโลกที่ค้นพบผลงานศิลปะเครื่องสำริดขนาดใหญ่ที่ผสมผสานมนุษย์กับเครื่องบูชาชั้นสูงแบบนี้ ได้หลอมรวมรูปปั้นคนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของ “ซานซิงตุย” กับเครื่องบูชาชั้นสูงเข้าด้วยกัน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่าง “ซานซิงตุย” กับราชวงศ์ซางในภาคกลางของจีน สะท้อนภาพการบวงสรวงที่เปี่ยมด้วยความศักดิ์สิทธิ์ ความเลื่อมใสศรัทธา ตลอดจนโลกแห่งความเชื่อที่ไม่เหมือนใครของ “ซานซิงตุย” หู ปิง รองผู้อำนวยการสำนักงานโบราณวัตถุแห่งชาติจีนกล่าวว่า ด้วยความพยายามอย่างไม่ลดละของนักโบราณคดีหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันซากโบราณซานซิงตุยได้สร้างระบบลำดับเหตุการณ์ตามเวลาในขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดแผนผังเมืองเก่า “ซานซิงตุย” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความผูกพันอันใกล้ชิดระหว่างที่ราบลุ่มเสฉวนกับภาคกลางจีน, เขตกวนจงหรือภาคกลางของมณฑลส่านซี, ภูมิภาคตอนกลางและตอนล่างลุ่มแม่น้ำแยงซี การค้นพบทางโบราณคดีครั้งใหม่นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจระบบการบวงสรวงของอาณาจักรก๊กสู่โบราณ ที่มีซากโบราณซานซิงตุยเป็นตัวแทน ตลอดจนคุณลักษณะของซากโบราณซานซิงตุย สาเหตุของการตั้งหลักแหล่งและเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังได้ตอกย้ำสถานะของ “ซานซิงตุย” ในการเป็นซากโบราณสำคัญแห่งอารยธรรมประชาชาติจีน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผลของการขุดค้นรอบใหม่ในซานซิงตุย ทำให้เนื้อหาของวัฒนธรรมซานซิงตุย มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมแห่งประชาชาติจีนลึกซึ้งขึ้น ได้ยืนยันความจริงที่ว่าโครงสร้างแห่งอารยธรรมประชาชาติจีนมีความหลากหลายแต่รวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ทั้งยังได้ให้หลักฐานที่เพียงพอมากยิ่งขึ้นแก่การศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ “ซานซิงตุย” ส่งคำเชิญไปยังทั่วโลก ค่ำวันที่ 28 พฤษภาคม พิพิธภัณฑ์ซานซิงตุยกลายเป็น “อุโมงค์กาลเวลา” นำสู่ราชอาณาจักรก๊กสู่โบราณ ที่มี “เทพประทานพร” คอยต้อนรับผู้มาเยือนตามสองข้างทาง นกศักดิ์สิทธิ์หลายพันตัวเกาะอยู่บนกิ่งไม้ รูปปั้นคนเนื้อสำริดในท่ายืนขนาดใหญ่มองไปรอบๆ ด้วยท่าทีเคร่งขรึมน่าเกรงขาม หน้ากากทองคำกับ “ดวงอาทิตย์และนกเทพ” เสริมให้ต้นไม้สำริดที่วิเศษเหนือจินตนาการ ไหวขยับเปล่งประกายในท้องฟ้ายามค่ำคืนอย่างสดใส "ค่ำคืนมหัศจรรย์แห่งซานซิงตุย" เริ่มขึ้นแล้ว... ในค่ำคืนที่มหัศจรรย์นี้ “ซานซิงตุย” ได้ส่งคำเชิญยังทั่วโลกให้มาร่วม "เรียนรู้ประเทศจีน" โดยได้ประกาศ "โครงการความร่วมมือระดับโลกด้านการเผยแพร่วัฒนธรรมซานซิงตุย" ที่สำคัญ 9 ประการ ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์ แอนิเมชั่น หนังสือ และนิทรรศการโบราณวัตถุ เป็นต้น ให้ความคิดสร้างสรรค์ธีมวัฒนธรรมซานซิงตุยก้าวสู่เวทีแสดง หลิว ซือโม่ ชาวเมืองกว่างฮั่นกล่าวว่า “ฉันเติบโตมาท่ามกลางการฟูมฟักของวัฒนธรรมซานซิงตุย เมื่อยังเล็ก ฉันชอบหน้ากากทองคำที่ดูมีชีวิตชีวามาก ตอนนี้ฉันมีอายุ 50 ปีแล้ว ชอบมันมากยิ่งขึ้น มันเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันกล้าคิดนอกกรอบมากขึ้น ปัจจุบัน มีการขุดพบโบราณวัตถุที่คล้ายคลึงกับหน้ากากทองคำมากยิ่งขึ้น ฉันหวังว่าพวกมันจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนมากขึ้น ปลุกจิตสำนึกความตื่นตัวของผู้คนจำนวนมากยิ่งขึ้นให้ร่วมกันปกป้องพวกมัน” ควบคู่ไปกับการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งล่าสุดในซานซิงตุย ร่องรอย "เส้นไหม" ได้ถูกค้นพบด้วย กิจกรรมค่ำคืนที่มหัศจรรย์นี้ จึงตั้งใจใช้ผ้าไหมเป็นสื่อกลาง มีวัฒนธรรมซานซิงตุยเป็นแรงบันดาลใจ ผสมผสานความโรแมนติกและจินตนาการที่ไม่ธรรมดาของชาวก๊กสู่โบราณเข้ากับการออกแบบเสื้อผ้า รังสรรค์งานแฟชั่นโชว์ระดับชาติ "ความฝันไหมอาณาจักรก๊กสู่โบราณ" ถ่ายทอดความผสมผสานทางสุนทรียศาสตร์แบบตะวันออกกับเทรนด์ศิลปะ โชว์ความงามชุดจีนให้โลกเห็น ขณะเดียวกัน ได้ใช้พิพิธภัณฑ์ซานซิงตุยเป็นฉากในการสร้างสรรค์ภาพวาดด้วยแสง ถ่ายทอดความงามที่เปี่ยมด้วยความล้ำสมัยทางเทคโนโลยีและมีชีวิตชีวาของวัยหนุ่มสาว ทำให้สัตว์เทพศักดิ์สิทธิ์ในตำนานโบราณ “ซานไห่จิง” ปรากฏขึ้นในพิพิธภัณฑ์ซานซิงตุย พาผู้ร่วมงานสัมผัสกับวัฒนธรรมประชาชาติจีนยุคโบราณ นานมากแล้วที่ Paul Mercado จากโปรตุเกส เฝ้าใฝ่ฝันถึง “ซานซิงตุย” หลังจากเห็นข่าวการจัดกิจกรรมครั้งนี้จากอินเทอร์เน็ต เขาตั้งใจพาทั้งครอบครัวมาชมให้ได้ เขากล่าวว่า "วัฒนธรรมซานซิงตุยเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมจีน องค์ประกอบทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในนั้น ทำให้ผมอยากรู้และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับจีนโบราณ ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้รู้สึกเหมือนได้ข้ามผ่านกาลเวลากลับไปสู่ยุคนั้น ผมอดไม่ได้ที่อยากขยายเวลาอยู่ต่อ และจะชวนเพื่อนจำนวนมากยิ่งขึ้นให้มาสัมผัสกับมนต์เสน่ห์ของซานซิงตุย” นับตั้งแต่เปิดให้เข้าชมเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1997 เป็นต้นมา พิพิธภัณฑ์ซานซิงตุยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวต่างชาติมากกว่า 22 ล้านคน โบราณวัตถุซานซิงตุยได้ถูกนำไปจัดแสดงยังต่างประเทศหลายครั้งในกว่า 20 ประเทศและเขตแคว้น ได้สร้างความตื่นตะลึงอย่างมากในทุกที่ที่จัดแสดง จนกลายเป็น "นามบัตรทอง" แห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศ ผู้เขียน: หลี่ เสี่ยวตง, หลี่ น่า, เฉิน เฉิน ผู้แปลภาษาไทย: ลู่ หย่งเจียง ผู้ตรวจแก้ภาษาไทย: รพีพรรณ วงษ์กรวรเวช