สรุปความเป็นไปได้แต่ไม่ 100% เป็นวัตถุนอกโลกพุ่งชนบรรยากาศเกิดการลุกไหม้ ระบุปี 58 เคยเกิดถึง 2 ครั้ง แถวกาญจนบุรี แต่ไม่พบก้อนอุกกาบาต ย้ำอย่าตื่นตระหนก โอกาสที่วัตถุจากอวกาศจะตกในไทยมีน้อยมากเพราะพื้นที่เล็กเมื่อเทียบกับทั้งโลก ทั้งประสานสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว ติดตามข้อมูลดาวเทียมประเทศต่างๆ รวมทั้งเช็กว่ามีการทดสอบขีปนาวุธที่ไหนหรือไม่ โดยจะรายงานให้ทราบต่อไป ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชี้แจงกรณีมีผู้พบเห็นแสงวาบสีฟ้าอมเขียว และมีเสียงดังสนั่นได้ยินในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ช่วงเย็นวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 18.30 น.ว่า มีคนได้เสียงคล้ายระเบิด ดัง เบาบ้าง ในวงกว้าง หลายจังหวัดภาคเหนือ ตอนแรกเข้าใจเป็นพลุ จากมีรายงานมีแสงสว่างวาบเป็นทางบนท้องฟ้า และมีคลิป ที่ถ่ายได้อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ แสงวาบ 2 จุดทะลุเมฆทั้งที่มีเมฆมาก ก็พอสรุปถึงความเป็นไปได้แม้ว่าอาจจะยังไม่ 100% น่าจะเป็นวัตถุนอกโลกพุ่งชนบรรยากาศโลกลุกไหม้เกิดเป็นดาวตก แต่ว่าจะมีเศษอุกกาบาตตกถึงโลกหรือไม่ ยังไม่ทราบ และดาวตกจะมีความสว่างมากพอสมควร เพราะเวลาขณะที่เกิดนั้นฟ้ายังไม่ได้มืดสนิท ทั้งนี้ ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ถ้าจำกันได้ปี 2558 เคยเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง เดือนก.ย. ครั้งนั้น เป็นวัตถุขนาดใหญ่พอสมควร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เมตรที่พุ่งเข้าชนบรรยากาศโลกทางตะวันตกของกทม. ไปใน บริเวณเหนือๆ จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี โดยที่แสงสว่างวาบจุดแรกเข้าใจว่าจะเป็นเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งต่อมาทีมงานได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากคลิปต่างๆ ที่มีผู้ถ่ายได้หน้ารถ รวมทั้งร่วมกับนาซาด้วยในการคำนวณจุดที่ตกแน่นอน แต่ก็ไม่พบก้อนอุกกาบาตบริเวณ โดยคาดว่าตกลงบริเวณไทรโยค ในเขตอุทยานแห่งชาติ ถามว่ามีอันตรายหรือไม่ ไม่มีอันตราย เพราะวัตถุขนาดเล็กที่พุ่งเข้าชนบรรยากาศโลก เกิดเสียงดัง ซึ่งเกิดจากการที่วัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่าเสียงสูงมากๆ เป็นคลื่นกระแทก หรือถ้าเป็นเครื่องบินเรียกว่า โซนิกบูม ทำให้ตกใจบ้างแต่ไม่มีอันตราย โดยมากชิ้นส่วนพวกนี้จะเผาไหม้หมด หรือถ้าตกลงมาก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก ประเทศไทยเรามีโอกาสที่จะเห็นเหตุการณ์อย่างนี้บ้างเป็นครั้งคราว อาจจะไม่ใหญ่กว่ากรณีที่ตกที่ไทรโยค เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับทั้งโลก มีแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของโลก และการตกของเศษวัตถุเหล่านี้ที่โคจรในอวกาศ ก็ตกแบบสุ่ม ณ จุดใดจุดหนึ่งบนโลกก็ได้ ไม่ได้มีจุดที่ตกแน่นอน โดยมากจะลงในมหาสมุทร เพราะโลกเรามีมหาสมุทรปกคลุมถึง 3 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเป็นการสรุปคร่าวๆ ก่อน ขณะนี้ทางสดร.ได้ส่งทีมงานไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็น เรื่องที่เกี่ยวข้องว่ามีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว วัดได้หรือไม่ หรือจุดที่มีการสังเกตถ่ายคลิปไว้ได้ทิศทางเทียบกับตัวบ้านเรือน ไปในทิศทางไหนกันแน่ เป็นมุมเงยเท่าไร เราก็จะทราบข้อมูลต่างๆ ได้ชัดยิ่งขึ้น รวมทั้งว่าถ้าเกิดเสียงที่ดังเหมือนระเบิด-พลุ ตามมาเป็นเวลากี่นาที หลังที่เกิดแสงวาบ ก็พอจะบอกได้ถึงระยะทางที่ห่างจากผู้สังเกตได้ ว่าความเร็วของแสงเร็วกว่าเสียงค่อนข้างมาก ก็เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาต่อไป รวมทั้งติดตามข้อมูลที่ดาวเทียมต่างๆ ที่บางประเทศมีอยู่ในการติดตามปรากฏการณ์บนโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟ้าผ่า หรือการติดตามการทดสอบขีปนาวุธ ซึ่งก็จะเป็นข้อมูลที่ประกอบกัน ให้เรามีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น ซึ่งหากมีข้อมูลมากขึ้นในการศึกษาครั้งนี้ จะนำมารายงานให้คนไทยได้ทราบในรายละเอียดต่อไป