เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.64 เวลา 13.15 น.ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยทำหนังสือถึงประธานรัฐสภาขอให้ทบทวนการบรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังได้รับชี้แจงจากฝ่ายกฎหมายของสภาว่า ร่างที่พรรคเพื่อไทย เสนอนั้นไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมจึงไม่สามารถบรรจุในวาระได้ โดยหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่าร่างที่ยื่นเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม แม้จะเพิ่มหมวด 15/1 แต่ก็เป็นเพียงวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น ไม่ได้ต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และการยื่นร่างแก้ไขนี้มองว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีอำนาจในรัฐธรรมนูญให้ทำได้ ซึ่งขณะนี้ รัฐธรรมนูญ ปี 60 ไม่มีการบญัตติในเรื่องนี้ ดังนั้น ยืนยันว่า ร่างนี้เป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งหากได้วิธีการแล้วก็ไปดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังอยากให้ประธานรัฐสภาทบทวนบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่วาระ เพราะอยากให้สมาชิกพิจารณาร่วมกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพื่อให้เป็นมติร่วมกัน และเพื่อให้เป็นสารตั้งต้นในการทำประชามติ แม้ที่ประชุมจะผ่าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติแล้วก็ตาม แต่การจะขอเสนอทำประชามตินั้นไม่สามารถเป็นมติเดียวกันจากทั้งสองสภา ทำได้แค่แยกการประชุม หาก ส.ส. เห็นด้วย แต่ ส.ว. ไม่เห็นด้วยกับการเสนอทำประชามติจะทำให้ญัตตินั้นตกไปทันที จึงเห็นว่า ถ้าเสนอร่างเสนอแก้ไขตามมาตรา 256 สู่ที่ประชุมร่วมก็จะเป็นทางให้ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกัน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การทำประชามติต้องทำอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 จะเป็นการถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ครั้งที่ 2 จะเป็นการออกเสียงประชามติหลังจากรัฐสภาเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 และครั้งที่ 3 จะทำประชามติถามความเห็นชอบหลังจากที่ ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จ ซึ่งเห็นว่าการทำเช่นนี้จะทำให้เสียงบประมาณโดยใช่เหตุ ดังนั้น ควรรวบขั้นตอนการทำประชามติครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 ไปพร้อมกัน เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณได้ถึง 3,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันการที่ยื่นร่างแก้ไข มาตรา 256 นี้ เพราะไม่อยากให้เป็นทางตันในการแก้ไขมาตราดังกล่าวในอนาคต ส่วนผลการพิจารณาขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมรัฐสภา ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายหลักของประเทศ แม้การดำเนินการจะมีอุปสรรค แต่ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ย่อท้อ และจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นจุดอ่อนของการบริหารประเทศ แม้ขั้นตอนการดำเนินการจะลำบาก ไม่เหมือนกับการยึดอำนาจที่เข้ามาและสามารถเขียนรัฐธรรมนูญได้เลย แต่ก็เพื่อไม่ให้ประเทศอยู่ในวังวน