น.ส.จินดารัตน์ สิริสิทธิโชติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงิน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2564 ลงเหลือ 1.8% ก่อนจะฟื้นตันขึ้นเป็น 4.2% ในปี 2565 จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่แม้จะไม่เข้มงวดเหมือนการระบาดในระลอกที่ผ่านมา แต่ก็ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง
ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังคาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนอีกหลายปัจจัย อาทิ ความเข้มงวดของมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของทางการ และความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19
ทั้งนี้จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลชัดเจนกับความสามารถในการทำกำไรของสถาบันการเงินไทย ที่ก่อนหน้านี้ความสามารถในการทำกำไรของสถาบันการเงินไทยก็อ่อนแอตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดอยู่แล้ว โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ได้ส่งผลทำให้ส่วนต่างรายได้อัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของสถาบันการเงินลดลง แม้จะมีการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ โดยสถาบันการเงินหันไปเน้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และการแข่งขันที่สูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองสูงก็ส่งผลกดดันความสามารถในการทำกำไรด้วย แต่ Fitch คาดการณ์ว่าแนวโน้มกำไรของสถาบันการเงินไทยจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ในปีนี้ในลักษณะช้า ๆ สอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี มองว่าสัดส่วนตัวเลขสินเชื่อด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินในปี 2564 จะไม่อยู่ในระดับที่น่ากังวล แต่คาดว่าตัวเลขสินเชื่อด้อยคุณภาพในระบบสถาบันกาเงินจะปรับเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า หลังมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการป้องกันการตกชั้นของสินเชื่อหมดอายุลง ดังนั้นในปีนี้จึงจะยังได้เห็นการตั้งสำรองของสถาบันการเงินอยู่ในระดับสูง เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานยังคงอ่อนแอ