สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนม (สปก.) นอกจากมีหน้าที่ในการจัดสรรที่ดินแล้ว ยังมีหน้าที่พัฒนาพื้นที่ของเกษตรกร สามารถทำกินและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเป็น Smart officer หมายความว่าจะต้องดูแลเกษตรกรที่มาติดต่อราชการ ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็วในการบริการ ทั้งด้านเอกสาร ความรู้ทางวิชาการต่างๆ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดฯ จึงได้มีโครงการสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่เฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นมา เพื่อเป็นต้นแบบให้กับพี่น้องประชาชน ที่มาติดต่อราชการได้เห็นเป็นแบบอย่าง ตลอดจนเข้ามาศึกษา เรียนรู้ นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับครอบครัวบนพื้นฐานความพอเพียง โดยศูนย์แห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 5 ไร่ ให้เจ้าหน้าที่ของ สปก.ทุกคน เข้ามามีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ โดยแต่ละคนจะรับผิดชอบแปลงสาธิตต่างๆ ในพื้นที่แห่งนี้ เช่น แปลงสาธิต การปลูกผักสวนครัว แปลงสาธิตการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ แปลงสาธิตการปลูกพืชสมุนไพร โรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้า โรงเรือนเพาะชำกล้าไม้ แปลงสาธิตการทำเกษตรผสมผสานที่รวมพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งต้นกล้วย ต้นมะละกอ สับปะรด แก้วมังกร เสาวรส น้อยหน่า มะม่วง ลิ้นจี่ฯลฯ โดยแปลงสาธิตเหล่านี้จะมีการนำระบบน้ำหยดเข้ามาดูแลตอนให้น้ำ ซึ่งจะช่วยประหยัดน้ำในการเพาะปลูก นอกจากนั้นยังมีการสาธิตการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์อีกด้วย นายพีระพงษ์ วีระกุล หัวหน้า สปก.นครพนม ในฐานะผู้ปิ๋งไอเดียกระฉูด เปิดเผยว่า ย้ายมาอยู่นครพนม ตั้งแต่ปี 2557 มองเห็นที่ดินในบริเวณสำนักงาน มีหญ้าขึ้นรกปกคลุมไร้การเหลียวแล คิดจะเนรมิตที่รกร้างนี้เป็นแปลงการเกษตร แต่ตนไม่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้นัก เผอิญมีความคุ้นเคยกับ นางอุไรวรรณ วรวิเชียรวงษ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งเมืองนครพนม เจ้าของ “สวนแผ่นดินทอง” จึงขอร้องให้มาช่วยเป็นวิศวกร ออกแบบแผ้วถางบุกเบิกปลูกพืชการเกษตร โดยมีต้นทุนเพียง 3 หมื่นบาทเท่านั้น “ค่อยๆพัฒนาทีละเล็กละน้อยเริ่มต้นที่ 1 ไร่ก่อน สร้างบ่อซีเมนต์ปลูกมะนาวประมาณร้อยบ่อ และเสริมด้วยการเลี้ยงปลา กบ แต่ปัญหาที่เป็นภาระหนักคราวเริ่มต้นคือ “ค่าน้ำประปา” รายจ่ายตกเดือนละ 3 พันบาท จึงต้องหาวิธีรัดเข็มขัดประหยัดน้ำ ด้วยการขุดเจาะบ่อบาดาล ซึ่งได้ขออนุญาตอย่างถูกต้องจากหน่วยงาน จากเคยจ่ายค่าน้ำเดือนเป็นพัน ตอนนี้จ่ายเพียงเดือนละ 200 บาท” นายพีระพงษ์ กล่าว ผลผลิตมะนาวในเฟสแรกงอกเงย ก็นำมาแจกจ่ายในสำนักงาน ถ้าเหลือก็ทำการดองออกจำหน่าย ท้องตลาดขายมะนาวดองผลละ 7 บาท แต่ของ สปก.ขายเพียงผลละ 3 บาท ขายดิบขายดีเหมือนเทน้ำเทท่า แล้วนำรายได้ทั้งหมดมาต่อยอดการเกษตรเพิ่มเติม จากหนึ่งไร่ก็พลิกฟื้นผืนดินที่รกร้างว่างเปล่าอีก 4 ไร่ พริบตาเดียวแปลงการเกษตรก็เต็มพื้นที่ทุกตารางนิ้ว พืชผลต่างๆถูกจัดแบ่งโซนผสมผสานอย่างลงตัว สปก.จึงพร้อมจะเปิดประตูต้อนรับเกษตรกรผู้สนใจ มีวิทยากรที่มีความรอบรู้คอยชี้แนะ ยิ่งเป็นเกษตรกรที่มีที่ดิน สปก.ครอบครอง หากมีความตั้งใจจริงจัง ก็มีเงินกู้ให้นำไปลงทุน ก้อนแรกให้ก่อน 2 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 4 บาท/ปี แต่ที่ผ่านมาในอดีตเกษตรกร ไม่ตั้งใจทำการเกษตรจริงๆ อ้างจะปลูกนั่นปลูกนี่เขียนโครงการซะสวยหรู พอได้เงินกู้ไปแล้วก็ไม่ได้ทำอย่างที่ระบุไว้ จึงต้องการคัดกรองเลือกเฉพาะผู้ตั้งใจจริงๆเท่านั้น หากสามารถเริ่มต้นปลูกผลผลิตต่างๆได้ ทาง สปก.จะมั่นลงตรวจเยี่ยมแปลงเกษตร เนื้องานก็อยู่ในแปลงพืชสวนนั้นๆ ถ้าเกษตรกรต้องการเงินเพิ่ม ก็จะพิจารณาให้กู้ได้อีก 3 หมื่นบาท นางอุไรวรรณ วรวิเชียรวงษ์ วิศวกรและโฟร์แมน เล่าว่า ตนเรียนจบการบัญชีมา ไม่เคยรู้เรื่องการเกษตรมาก่อน แต่เพราะสามีคือ นายสุวิชา วรวิเชียรวงษ์ มาเป็นนายอำเภอเมืองนครพนม ปี 2528-2533 ตนต้องการมีบ้านไว้พักผ่อนกับครอบครัวเท่านั้น จึงซื้อที่ดินบริเวณทางแยกเข้า ต.บ้านผึ้ง หรือชาวบ้านจะรู้จักตรงนั้นว่า “โค้งบ้านผึ้ง” จำนวน 10 ไร่ ตนในฐานะแม่บ้านเห็นที่ว่างเปล่า ปล่อยทิ้งไว้ก็เปล่าประโยชน์ จึงลองปลูกไม้ยืนต้น ผลไม้ เช่นเริ่มปลูกมะม่วง เสริมด้วยน้อยหน่า และฝรั่ง คนแถวนั้นเห็นต่างหัวเราะเยาะ แถมกล่าวหาว่าเป็น “คนบ้า” เพราะดินบริเวณนั้นเป็นดินลูกรัง ปลูกอะไรก็ตายหมด แต่ตนก็ศึกษาหาความรู้การดูแลรักษาจากร้านขายเคมีภัณฑ์ หรือจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ปรากฎว่าผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจ ตนมีกำลังใจฮึกเหิมจึงพัฒนาต่อยอดขึ้นเรื่อยๆ จากที่ดินมี 10 ไร่ ยายบ้าในสายตาของชาวบ้านได้ซื้อเพิ่มเป็น 30 ไร่ นำพืชผลต่างๆลงปลูกจนเต็มพื้นที่ ใครอยากจะเรียนรู้ก็ต้องมาขอคำแนะนำจากตน จนได้ใบประกาศเต็มบ้าน ตอนนี้เสนอตัวเป็นจิตอาสาช่วยเหลือหน่วยงานราชการ ตามที่ยังมีเรี่ยวแรงอยู่ ส่วนพื้นที่ “สวนแผ่นดินทอง” ของตนนั้น ในอนาคตข้างหน้าตั้งใจจะถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรโดยเฉพาะ เกษตรกรท่านใดสนใจการปลูกพืชแบบผสมผสาน ติดต่อพี่แป้นได้ที่ 088-3509254 ยินดีให้คำปรึกษาทุกขั้นตอน พงศ์สุคนธ์ คุณธรรมมงคล / นครพนม