เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม โฆษกพรรคกล้า กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระรับหลักการว่า ประเด็นสำคัญที่สังคมรวมถึงพรรคกล้า คาดหวังมากที่สุด คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อพิจารณาจากระเบียบวาระ 13 ร่าง พบว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 อยู่ลำดับที่ 4 และลำดับที่ 11 จึงอยากให้สมาชิกรัฐสภาเลื่อนการแก้ไขยกเลิกมาตรา 272 ขึ้นมาพิจารณาและลงมติก่อน จะได้รู้ว่าหากพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว. ไม่เห็นชอบยกเลิกอำนาจ ส.ว. หลังจากนั้นพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคที่เสนอยกเลิกอำนาจ ส.ว. อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ก็ควรลงมติล้มร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐต้องการเช่นกัน ตามแนวคิดที่นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้เสนอแนวทางไว้
"การเสนอเลื่อนมาตรา 272 ขึ้นมาพิจารณาและลงมติก่อน จะมีผลต่อการตัดสินใจลงมติในประเด็นต่อๆ ไป หากผลออกมาว่าพรรคพลังประชารัฐและ ส.ว. ไม่เห็นชอบยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส. เกินกว่าร้อยละ 20 ของพรรคที่ไม่มีรัฐมนตรี ประธานและรองประธานสภาฯ ตามเงื่อนไขการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรตั้งเงื่อนไขให้ชัดว่า จะไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐต้องการเช่นกัน" นายแสนยากรณ์ กล่าว
โฆษกพรรคกล้า กล่าวว่า ถ้ารัฐสภานำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องอื่นๆ เช่นบัตรเลือกตั้ง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 144,185 ตัดบทลงโทษ ส.ส.แปรญัตติเอางบประมาณแผ่นดินมาใช้ ขึ้นมาพิจารณาก่อน แล้วทุกฝ่ายลงมติเห็นชอบ จากนั้นเอาประเด็นยกเลิกอำนาจ ส.ว.ไว้ท้ายสุด แล้วหักมุมลงมติลงมติล้มตอนท้ายก่อนปิดประชุม หากออกมาเป็นแบบนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงเป็นเพียงแค่การผลัดกันเกาหลัง เห็นชอบแค่ประเด็นที่นักการเมืองได้ประโยชน์เท่านั้น