เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ วาระ2 ที่ค้างอยู่จากสมัยประชุมรัฐสภาครั้งที่แล้ว ก่อนเข้าสู่วาระประชุมนายชวนขอความร่วมมือสมาชิกให้เว้นระยะห่างเท่าที่ทำได้ ใครที่ยังไม่อภิปรายให้อยู่นอกห้องประชุม และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาอย่างเคร่งครัด ตามมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19ของกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นจึงเข้าสู่วาระการประชุมพิจารณาเรื่องด่วนพิธีสารแก้ไขข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยว อาเซียน ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ มีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้ชี้แจง ใช้เวลาอภิปรายร่วม 2ชั่วโมง ที่ประชุมจึงให้ความเห็นชอบพิธีสารดังกล่าวด้วยคะแนน 600 ต่อ 0 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 4 จากนั้นเวลา11.45 น.เข้าสู่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ โดยเริ่มพิจารณาจากการลงมติมาตรา53 และ54 เรื่องการคัดค้านการออกเสียงประชามติ ที่ค้างมาจากการประชุมรัฐสภาสมัยที่แล้ว ซึ่งที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบ ต่อมาเวลา 11.45 น.ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณามาตรา 55 เรื่องบทกำหนดโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ หน้าที่ตามพ.ร.บ.นี้ ที่ใช้อำนาจมิชอบในการออกเสียงประชามติ มีโทษจำคุก 1-10ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง โดยมีส.ส.หลายคนอาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทักท้วงว่า เป็นการมุ่งลงโทษเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับล่างที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ แต่ไม่มีบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูงที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นกลาง จึงควรขยายขอบเขตบทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐให้ครอบคลุมถึงส.ส. ส.ว. และผู้บริหารท้องถิ่นด้วย อย่างไรก็ตามที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา55 ด้วยคะแนน 374ต่อ124 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน10 ขณะที่มาตรา 60 เรื่องการกระทำใดที่เป็นความผิดในการออกเสียงประชามตินั้น นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายขอให้ตัดข้อความ “เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียงประชามติอันเป็นเท็จ” ตามที่กมธ.เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเป็นการเขียนไว้กว้างเกินไป สามารถตีความได้หมด เกรงว่าจะเป็นการใช้กฎหมายมาปิดปากประชาชน ทำให้การรณรงค์ประชามติอาจถูกปิดกั้น มีการให้ข้อมูลประชาชนแค่ฝ่ายเดียว ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มข้อความดังกล่าวขึ้นมา เพราะสามารถใช้การเอาผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตรา 60 ด้วยคะแนน 479 ต่อ35 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน6 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมในช่วงบ่ายเป็นไปอย่างราบรื่น สมาชิกทั้งส.ส.และส.ว.อภิปรายแสดงความคิดเห็นในมาตราต่างๆกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีการตีรวนใดๆ ทำให้การพิจารณาเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเวลา 15.00น.สมาชิกอภิปรายกันครบทั้ง 67มาตรา ที่ประชุมจึงลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ในวาระสาม ด้วยคะแนน 611 ต่อ 4 งดดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 รอการบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยใช้เวลาอภิปรายทั้งหมด 3.15 ชั่วโมง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว.ฐานะกมธ.ฯ ได้หารือกับที่ประชุมหลังจากที่รัฐสภา ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประชามติ แล้วว่า ขอให้ประธานวินิจฉัยความต่อการใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่ยังมีข้อขัดแย้ง ในข้อ 108 กำหนดให้ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปฏิรูป ให้ทำเป็น 3 วาระ และให้นำความหมวดv4 บังคับใช้โดยอนุโลม และข้อ 102 ที่กำหนดให้ ภายใน 15 วันที่ร่างกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ให้ประธานรับสภาส่งไปยังศาลฏีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเห็น หากศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วันที่ได้รับเรื่อง ให้ดำเนินการตามขั้นตอนทูลเกล้าฯ ต่อไป กรณีที่องค์กรให้ความเห็นว่ามีข้อความใดที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้รัฐสภาแก้ไข  ตนจึงขอให้วินิจฉัยเพื่อเป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน ทั้งนี้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ฐานะประธานที่ประชุม กล่าวว่า การหารือดังกล่าว ไม่มีผล แต่สามารถทำเป็นญัตติยื่นต่อประธานรัฐสภา ว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ และขาดขั้นตอนใดหรือไม่ และข้อหารือขอให้หารือนอกรอบ จากนั้นได้พักการประชุม 30 นาที เพื่อให้สมาชิกได้พักรับประทานอาหารก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาในร่างกฎหมายต่อไป