เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่รัฐสภา น.ส.ธนพร วิจันทร์ เลขาธิการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมตัวแทนสหภาพคนทำงาน ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 โดยมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะเลขาฯกมธ.งบฯ เป็นผู้รับเรื่อง
น.ส.ธนพร กล่าวว่า จากที่พวกเราได้ฟังการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบฯวาระที่ 1 เห็นว่าการจัดสรรงบ 65 นี้ ไม่ตรงกับสภาพและปัญหา และไม่สามารถช่วยเหลือพวกเราที่กำลังเผชิญกับปัญหาในภาวะปัจจุบันได้ เราจึงมายื่นเรื่องต่อ กมธ.เพื่อให้นำข้อเสนอของเราไปพิจารณาในชั้นกมธ. และการพิจารณาในวาระที่ 2 เพื่อปรับปรุงแก้ไขการจัดสรรงบ ทั้งนี้ผู้ใช้แรงงานคิดเป็นคนส่วนใหญ่กว่า 99 เปอร์เซนต์ที่เป็นผู้สร้างสรรค์เศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่ในร่างพ.ร.บ.งบฯ65 กลับปรับลดงบประมาณสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสวัสดิการแรงงานอย่างชัดเจน เช่น งบประกันสังคมที่ลดลงจำนวนกว่า 19,519 ล้านบาท คิดเป็น 30.7% และงบกระทรวงแรงงานที่ลดลงกว่า 19,977 ล้านบาท คิดว่า 28.65% เราจึงเห็นว่างบฯ 65 นี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและลดภาระความเดือดร้อนของประชาชนและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ในทางกลับกันกลับเป็นงบประมาณที่สร้างและดำรงความเหลื่อมล้ำและให้อภิสิทธิ์แก่ข้าราชการทหาร พลเรือน โดยงบที่เกี่ยวข้องกับกองทัพและสถาบันฯ ถูกบรรจุไว้อย่างชัดเจน
ด้านนายอรรกร กล่าวว่า ตนจะนำเอกสารทั้งหมดไปแจกให้กับ กมธ.ทั้ง 72 คนเพื่อให้ใช้ปรับปรุงงบประมาณตามข้อเรียกร้อง แต่ตนในฐานะ 1 ใน 72 กมธ. คงไม่สามารถตัดสินใจแทนอีก 71 คนได้ แต่กมธ.งบฯมีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อให้งบที่ออกไปถูกนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด อย่างไรก็ตามวันนี้ (22 มิ.ย.64) กมธ.พิจารณาถึงงบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แล้ว คาดว่า ใน 1-2 สัปดาห์ จะพิจารณางบของกระทรวงแรงงาน ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นข้อเรียกร้องของสหภาพจะถูกนำไปพิจารณาในชั้นกมธ. อย่างไม่ตกหล่นแน่นอน
ทั้งนี้ น.ส.ธนพร ถามว่า จะสามารถลดงบประมาณของกองทัพหน่วยใดหน่วยหนึ่งมาดูแลประชาชนได้หรือไม่ และอำนาจในการตัดสินใจเรื่องนี้อยู่ที่ใคร นายอรรถกร กล่าวว่า เราจะมีการแบ่งอนุกมธ.เพื่อลงไปปรับลดงบประมาณ โดยจะต้องทำการรีดไขมัน เช่น กรณีของงบกองทัพ แต่หากงบกองทัพมีคามจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย เรายังมีเงินในส่วนของงบกลางที่จะนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานตรงนี้ได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกมธ.