องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี มอบยารักษาโรคลัมปีสกินให้ปศุสัตว์จังหวัดเพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือในพื้นที่ จ.อุดรธานี
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ถ.มุขมนตรี เขตเทศบาลนครอุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการสาธารณสุข กองสาธารณสุข อบจ.อุดรธานี มอบยาป้องกันโรคลัมปีสกิน เพื่อป้องกันและควบคุมโรคลัมปีสกิน ในพื้นที่ จ.อุดรธานี โดยมี นายพนธ์สมิทธิ์ กลางนภา ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี และปศุสัตว์อำเภอ 20 อำเภอ รับมอบยาทั้งหมด 3 ชนิด คือ ยาแก้ปวดลดไข้ ฟลูนิซิล ชนิดฉีด 380 ขวด ,ยาปฏิชีวนะเพนนิซิลลิน และสเต็บโตมัยซีน ชนิดฉีด 340 ขวด และยากำจัดพยาธิภายนอก ฟลูเมทริน 6% จำนวน 790 ขวด วงเงิน 500,000 บาท ตามที่ปศุสัตว์จังหวัดขอรับการสนับสนุน
นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี กล่าวว่า ทาง อบจ.อุดรธานี มีหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนจึงได้หารือหาทางไปช่วยเหลือ และรักษาโรคลัมปี สกินในวัวของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยได้ปรึกษากับปศุสัตว์แล้วว่ามียารักษาอยู่ 3 ประเภทจึงได้จัดหาให้กับปศุสัตว์จังหวัด เพื่อนำไปกระจายให้กับประชาชนทั้ง 20 อำเภอ ส่วนปริมาณยาในวันนี้กับปริมาณของวัวที่เป็นโรคลัมปี สกินใน จ.อุดรธานี นั้นติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 300-400 ตัว แล้วก็ตายไปแล้ว 300 กว่าตัว ซึ่งได้ทราบเรื่องนี้จากปศุสัตว์แล้วปริมาณยาคงจะไม่พอกับวัวที่ติดโรคนี้ โดยคิดว่าคงจะต้องหายารักษาโรคนี้ไปช่วยประชาชนอย่างแน่นอน
นายพนธ์สมิทธ์ กลางนภา ปศุสัตว์ จ.อุดรธานี กล่าวว่า สถานการณ์โรคลัมปี สกินใน จ.อุดรธานี ตอนนี้มีสัตว์ที่ติดโรคนี้ไปแล้ว 8,000 ตัว ตาย 360 ตัว และหายป่วยไปแล้ว 2,000 กว่าตัว ซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านต้องหายารักษากันเอง และได้คำแนะนำจากปศุสัตว์อำเภอในการรักษา เพราะตอนนี้ยารักษาที่ให้กับชาวบ้านได้หมดไปแล้ว จึงได้ความช่วยเหลือจาก อบจ.อุดรธานีมอบยารักษาให้ เพื่อนำไปมอบกับชาวบ้าน แต่คาดว่ายารักษาชุดนี้น่าจะใช้ได้ไม่เกิน 1 เดือน และได้ปรึกษากับนายก อบจ.อุดรธานี เพื่อหายารักษามาช่วยเหลือเพิ่มเติม
ซึ่งยารักษาที่จัดซื้อเร่งด่วนมีทั้งหมด 3 ชนิด คือ 1.ยากำจัดพยาธิภายนอก ฟลูเมทริน 6% ใช้ป้องกันเห็บเหาแมลงทางที่ตัววัว 2.ยาปฏิชีวนะเพนนิซิลลิน และสเต็บโตมัยซีน ใช้รักษาการติดเชื้อ และ 3.ยาแก้ปวดลดไข้ ฟลูนิซิล ใช้รักษาอาการอักเสบ บวม ปวด และอาการลดไข้ ซึ่งโรคนี้จะต้องรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นกับสัตว์.