วันที่ 21 มิ.ย.64 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุค Chaiyan Chaiyaporn ทุ่นดำ กะ ทุ่นแดง: No. 3 วิจารณ์ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ประเด็นของ Common School คลาสที่ 3: “การปฏิรูปสมัย ร.5 ไม่ใช่เพื่อเอกราชของชาติ ?” วันที่ 16 มิถุนายน 2564 1. สาระสำคัญ: ในประวัติศาสตร์กระแสหลักที่คนไทยส่วนมากเข้าใจกัน การปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเป็นการทำไปเพื่อการธำรงไว้ซึ่ง “ความเป็นเอกราชของสยามเอาไว้ให้รอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก” อย่างไรก็ตาม ธงชัย ได้เสนอว่า การปฏิรูปในครั้งนั้นมิใช่เพื่อการธำรงไว้ซึ่งเอกราชเท่านั้น. แต่ยังมีเรื่องของการเมืองภายในที่ยึดโยงกับอำนาจของพระมหากษัตริย์ 3 ประการด้วยกัน คือ 1. การปฏิรูประบบราชการและการพัฒนาด้านวัตถุต่าง ๆ ให้ทันสมัย การปฏิรูปประกอบไปด้วยหลายด้าน เช่น การปฏิรูปภาษี กองทัพสมัยใหม่ การศึกษา และการเลิกทาส ซึ่ง ธงชัย อธิบายว่า การปฏิรูปภาษีโดยการจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์นั้นก็เพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีในสมัยศักดินาที่กระจัดกระจายไปอยู่ในมือของขุนนางทั้งในพระนครและหัวเมืองรวมศูนย์เข้าไปหาองค์พระมหากษัตริย์ (หรือเพื่อเสริมความมั่งคั่งให้เจ้าในวังหลวง) ในเรื่องของกองทัพสมัยใหม่ ที่มีแบบประจำการแทนการเกณฑ์ไพร่แบบเดิม กระทำไปเพื่อการส่งเสริมพระเกียรติยศ ภารกิจของกองทัพสมัยใหม่ในตอนเริ่มต้นแยกไม่ออกจากเกียรติยศของชาติซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับกษัตริย์แต่กลับแยกออกจากภารกิจการป้องกันประเทศ ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษานั้น ทำให้ชาติเป็นปึกแผ่นจริง แต่อาจเป็นไปเพื่อการเมืองภายในก็ได้ เพราะมีการผนึกความรู้ให้เป็นแบบเดียวกันและสลายความหลากหลายลงไป (กลืนด้วยภาษา/วัฒนธรรมกรุงเทพฯ) และการเลิกไพร่ทาสดูเผิน ๆ นั้นเป็นไปเพื่อการปลดปล่อยให้มนุษย์เท่าเทียมกัน แต่ความจริง สาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เพราะแรงงานรับจ้างชาวจีนอพยพมีราคาถูกกว่า และการครอบครองทาสยังเป็นการซ่องสุมกำลังคนของขุนนาง จนอาจเกิดการขัดขืนอำนาจท้าทายวังหลวงได้ อีกทั้งการมีทาสยังมีค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูสูงด้วย การเลิกทาสจึงเป็นการสลายฐานกำลังขุนนาง และสร้างระบบบริหารแบบใหม่ให้มาอยู่ที่วังหลวง (หรือพระมหากษัตริย์) ซึ่งไม่เกี่ยวกับการรักษาเอกราช 2. การปฏิรูปหัวเมือง ธงชัย ระบุว่า เจ้ากรุงเทพได้ส่งคนไปควบคุมดูแลประเทศราชเองโดยตรง จากแต่เดิมที่ไม่เคยส่งไป ในยุคเก่า สยามทำแต่เพียงการเรียกเอาบรรณาการหรือเกณฑ์ไพร่พลเป็นบางครั้ง แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการส่งคนไปปกครองโดยตรง และตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ เป็นไปเพื่อการสร้างรัฐสมัยใหม่ที่เป็น “รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ไม่ใช่ “รัฐประชาชาติสมัยใหม่” และเป็นไปเพื่อรักษาเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ มิใช่เพื่อเอกราชและอธิปไตยของชาติ 3. การปฏิรูปเพื่อความศิวิไลซ์ การไขว่ค้าหาความศิวิไลซ์ของชนชั้นนำสยามนั้น ธงชัย ระบุว่า กระทำเพื่อให้มีสถานะเทียบเคียงกับชนชั้นนำประเทศอื่น ๆ (เช่นในยุโรป) เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือกว่าบรรดาเจ้าประเทศราชทั้งหลายรวมถึงราษฎรด้วย ทั้งนี้ ธงชัย ได้กล่าวปิดท้ายว่า เอกราชและอิสรภาพแต่เดิม ไม่ได้หมายถึงการตกเป็นเมืองขึ้นในความหมายแบบปัจจุบัน แต่หมายถึงการสร้างสถานะที่เป็น “Number 1.”ของกษัตริย์สยาม เพื่อไม่ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ด้วยการ “ยอมทำตนเป็นฝรั่ง” ด้วยวิธีต่าง ๆ เอกราชในสมัยนั้น จึงหมายถึงการที่ไม่ตกเป็นอาณานิคมของใครในความหมายว่าพระมหากษัตริย์มีพระเกียรติยศสูงส่ง 2. ข้อวิจารณ์: ​จากสิ่งที่ ธงชัย เสนอมานี้จะเห็นได้ว่า บางครั้ง ธงชัย ได้หลอมรวมพระมหากษัตริย์เข้ากับพฤติกรรมของรัฐ แต่บางครั้งเขาก็พยายามที่จะแยก “พระมหากษัตริย์” ออกจาก “พฤติกรรมของรัฐ” หากต้องการจะโจมตีพระมหากษัตริย์โดยตรงในเรื่องใดหนึ่ง ๆ เป็นการเฉพาะ ทั้ง ๆ ที่โดยธรรมชาติของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้ง 2 สิ่งนี้แทบจะแยกออกจากกันไม่ออก จำต้องอธิบายควบคู่กันไปเสมอ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นรัฐมนตรีของประเทศและประมุขแห่งรัฐในตัว อย่างไรก็ดี หัวข้อการบรรยายครั้งนี้มีลักษณะค่อนข้างกระจัดกระจาย กล่าวถือ ธงชัย ได้นำหลาย ๆ ประเด็นมาแยกส่วนแล้วค่อยแสดงความเห็นสำทับว่า ในบรรดาประเด็นที่เขาแยกส่วนมานี้ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการ “รักษาเอกราช” ของสยามเลย ผู้เขียน (ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) จึงขอชี้แจงมา ดังนี้ ​1. ในเรื่อง “เอกราช” ผู้เขียนเห็นว่า ความหมายของคำว่า เอกราช ที่ ธงชัย นำเสนอมานั้นถูกตามหลักวิชาการในกรณีความหมายเก่า กล่าวคือ การที่นักประวัติศาสตร์ในอดีตตีความว่า “อิสรภาพ” ของพระนเรศวร ในเหตุการณ์การประกาศอิสรภาพจากหงสาวดี หมายถึงการปลอดปล่อย “คนไทย/สยาม” ออกจากการปกครองของพม่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นเรื่องเดียวกับเอกราชของรัฐสมัยใหม่นั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพราะการที่พระมหากษัตริย์จะกระทำอะไรตามพระราชหฤทัย โดยที่ไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจของกษัตริย์องค์อื่นใกล้เคียงคือการมีอิสรภาพในความหมายพระจักรพรรดิราชแบบในสมัยเก่า แต่อย่างไรก็ดี เมื่อล่วงเข้าช่วงรัชกาลที่ 5 ความเป็น “เอกราช” กับ “อิสรภาพ” ทั้ง 2 คำนี้มีความแนบแน่นยิ่งขึ้น เพราะเป็นการแสดงออกถึง “ความเป็นชาติเอกราชที่ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมตะวันตก” ซึ่งปรากฏอยู่แค่ไม่กี่ชาติในเอเชียเท่านั้น พร้อม ๆ กับการมีพระมหากษัตริย์เป็นอิสระที่ไม่ต้องถูกปกครองโดยตะวันตก (เช่น การที่สุลต่านในแดนมลายาต้องอยู่ภายใต้การปกครองควีนส์วิคตอเรียในอังกฤษ) ดังนั้น ถ้าเราถือหลักตามข้อเท็จจริงตามที่เคยนำเสนอไปในครั้งก่อนที่ปฏิเสธว่า “สยามกึ่งอาณานิคม” ในการนี้ เราก็ถือได้ว่า “สยามเป็นเอกราชจริง” ​อีกทั้งการตีความของ ธงชัย ที่ว่า เอกราชของสยาม คือ การที่พระมหากษัตริย์มีความเป็น “นัมเบอร์วัน” มีความสูงส่งเทียบเท่าเจ้าในยุโรปและสูงส่ง “กว่า” เจ้าท้องถิ่น ย่อมเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมาก กล่าวคือ รัชกาลที่ 5 ทรงไม่มีความจำเป็นต้องสถาปนาอำนาจและความสูงส่งเหนือเจ้าประเทศราชหรือหัวเมืองเลย เนื่องจากทรงมีสถานะนี้มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว หรือกล่าวกลับกัน พระมหากษัตริย์สยามก่อนพระองค์ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ขึ้นไป ก็มีความสถานะสูงส่งเหนือกว่าเจ้าท้องถิ่นซึ่งแสดงออกตั้งแต่พิธีการดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาหรือการส่งบรรณาการอยู่แล้ว (เศวตรวัตรไทยมี 9 ฉัตร เมืองอื่นๆ เช่น ลาว เขมร ลดหลั่นกันไป) หรือแม้แต่สถานะของเจ้าท้องถิ่นทางมลายูระดับกษัตริย์ เช่น ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ที่มีสุลต่านเป็นผู้ปกครองเมือง หากมองในมุมมองของฝ่ายจักรวรรดินิยมตะวันตก King of Siam กับ Sultan of Kedah ย่อมไม่มีสถานะต่างกันเลย เพราะไม่ว่าจะ King หรือ Sultan ก็หมายถึง “กษัตริย์” เหมือนกัน แต่ในเงื่อนไขของสยาม ที่ความเป็นจริงปรากฏขึ้นว่า สุลต่านไทรบุรีมีตำแหน่งเป็นเพียง “เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่าน” ซึ่งยศ “เจ้าพระยา” เป็นยศสูงสุดเท่าที่สามัญชนนอกพระราชวงศ์จะได้รับ ดังนั้น ต่อให้เป็นถึงตำแหน่งสุลต่านที่มีอำนาจโดยทฤษฎีเท่ากษัตริย์ แต่ก็ย่อมมีอำนาจ “น้อยกว่า” พระมหากษัตริย์แห่งสยามทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการที่เจ้ากรุงเทพฯไปเอาอย่างฝรั่ง หรือที่ ธงชัย เรียกว่า “ยอมทำตนเป็นฝรั่ง” มาข่มบารมีเจ้าท้องถิ่นเลย ผู้เขียนไม่เห็นถึงความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องอธิบายว่าทำไมเจ้ากรุงเทพฯต้องพยายามทำตัวให้เหนือกว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะตามข้อเท็จจริง เจ้ากรุงเทพฯมีสถานะเหนือกว่าเจ้าท้องถิ่นอยู่แล้วตั้งแต่ยุคจารีต เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ ธงชัย คิดให้ยุ่งยากซับซ้อนไปเอง ​ยิ่งกว่านั้น ความรู้สึกว่าสยามเป็นชาติเอกราช (ตามแนวคิดรัฐชาติสมัยใหม่) ก็ไม่ได้ปรากฏอยู่แต่ในหมู่ชนชั้นนำสยามหรือเจ้ากรุงเทพฯเท่านั้น แม้แต่ชาวต่างประเทศ เช่น ดร.ฟรานซิส บี แซร์ (พระยากัลยาณไมตรี) ก็เกิดความรู้สึกว่า การที่สยามต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเนื่องจากสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่กระทำมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 นั้นเป็นการกระทบถึงเอกราชและอิสรภาพของสยาม (1) แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ฝรั่งตาน้ำข้าว (ที่ถึงแม้จะเป็นที่ปรึกษาชาวต่างประเทศของสยาม) จะมองเรื่องเอกราชเป็นเรื่องของ “ความสุดยอดของพระมหากษัตริย์ในยุคจารีต” แบบที่ ธงชัย กล่าว เพราะ ดร. แซร์ เป็นอเมริกัน เขาเป็นนักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นที่ปรึกษาการต่างประเทศ และเป็นลูกเขยของ วูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ประธานาธิบดีของประเทศอเมริกา การดำเนินการด้านกฎหมายระหว่างประเทศย่อมเอาเรื่องคติกษัตริย์ในสมัยโบราณมาอ้างไม่ได้ ดังนั้น “ความเป็นเอกราชของสยาม” จึงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงทั้งในหมู่ชาวสยามและชาวต่างประเทศ ​ และไม่ว่าจะมองจากมุมมองของประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เขียนขึ้นทีหลัง หรือจากมุมมองของเจ้ากรุงเทพฯที่อยู่ในเหตุการณ์ร่วมสมัย (โดยเฉพาะรัชกาลที่ 5 ที่ ธงชัย ย้ำถึงบ่อยมาก) ประเด็น “การเสียเอกราช” ย่อมหมายถึงเอกราชจริง ๆ ที่หมายถึงการตกเป็นเมืองขึ้นของเจ้าอาณานิคม หรือการสูญสลายของราชอาณาจักรสยาม (The Kingdom of Siam) ดังพิจารณาได้จากพระราชดำรัสรัชการที่ 5 เรื่องเปลี่ยนประเพณีการปกครองราชการแผ่นดิน ว่า “เพื่อให้เปนการมั่นคงในการที่เปนเอกราชของกรุงสยาม เปนความศุขแก่ราฎรทั้งปวงสืบต่อไป” หรือ คำว่า “อิศรภาพของกรุงสยาม” (เอกราชของสยาม) ของรัชกาลที่ 5 ที่ปรากฏในสำเนาพระบรมราโชวาท พระราชทานพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ วันที่ 19 สิงหาคม ร.ศ. 122 (พ.ศ.2436) เป็นต้น จากข้อความข้างต้น เราไม่สามารถตีความเป็นอื่นได้เลยว่า “เอกราช” ที่ปรากฏอยู่นี้ คือ เอกราช ในความหมายของการมีอำนาจอธิปไตยของรัฐตามแนวคิดรัฐสมัยใหม่ (Nation-State) ไม่ใช่เรื่องของกษัตริย์สุดยอดแบบแนวคิดอธิราชในสมัยโบราณ ​ควรบันทึกด้วยว่า เอกสารของสยามช่วง ร.5 ร.6 ร.7 โดยปกติมักไม่ค่อยมีการใช้คำว่า “เอกราช – Independence” แต่มักใช้คำว่า “อิสรภาพ-Independence” (ปัจจุบันแปลเป็นทางการว่า เอกราช) เพราะชาวสยามคงไม่เข้าใจว่าสยามจะดำเนินการให้มี “เอกราช – Independence” ทำไมกัน ? เพราะสยามไม่เคยเสียเมืองจึงมีเอกราชแน่ ๆ แต่ก็มีมูลเหตุบางประกาศที่ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินยังกระทำได้ไม่เต็มที่ (เนื่องจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขต) พวกเขาจึงมักใช้คำว่า “อิศระภาพ - อิสรภาพ – อิสสรภาพ - อินดิเปนเดนต์ - Independence ” (2) แทนคำว่า “เอกราช” ดังนั้นคำว่า “อิสรภาพ” ที่ปรากฏตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 – 7 เป็นต้นมาจึงมีความหมายเดียวกับคำว่า “เอกราช” หรือทางกฎหมายระหว่างประเทศก็ใช้คำว่า “อธิปไตย” (sovereignty) ไปเลย เช่นที่มักพบในคำแถลงการณ์ของรัฐบาล (3) หรือตำรากฎหมายระหว่างประเทศในสมัยนั้น ดังนั้น ประวัติศาสตร์กระแสหลักในประเด็นนี้นับว่าถูกต้องแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นการ “ทำความเข้าใจใหม่” แต่อย่างใด เพราะงานวิชาการในยุคก่อน ๆ ไม่ได้สรุปเกินหลักฐานเลย ​ 2. ในประเด็นการเลิกทาส เป็นความจริงที่ว่าเรื่องทาสและไพร่นั้นเป็นประเด็นปัญหามานาน อาทิ มีการหนีนายบ้าง มีการนำไพร่หลวงไปเป็นทาสบ้าง มีการบังคับสักเลกบ้าง ฯลฯ ทั้งนี้ ปัญหาของทาสเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างขนาดใหญ่และเรื้อรังมานาน (4) นั่นหมายความว่า การจะเลิกทาสหรือไม่เลิก ก็อาจจะไม่ได้กระทบฐานอำนาจของเจ้าทาสมากมายขนาดนั้น (เช่นที่เกิดในอเมริกา) การเลิกทาสในขั้นต้นเป็นการเลิกทาสเฉพาะในหัวเมืองชั้นในของกรุงรัตนโกสินทร์รอบ ๆ กรุงเทพ ส่วนหัวเมืองประเทศราชยังหาได้มีผลใช้บังคับจนกระทั่ง พ.ศ. 2442 จึงมีการตกลงเลิกทาสในหัวเมืองมณฑลพายัพซึ่งเป็นหัวเมืองประเทศราช จนเลิกทาสในมณฑลพายัพได้เสร็จสมบูรณ์ในตอนต้นรัชกาลที่ 6 ในหัวเมืองมลายู การตั้งมณฑลเทศาภิบาลมีผลโดยตรงกับโครงสร้างอันแสนกดขี่ของเจ้ามลายูระหว่างรายา (Rajah) กับ ไพร่ทาส (Rakyat) ซึ่งเจ้ามลายูถือว่าเป็นเจ้าชีวิตซ้ำซ้อนกับทางกรุงเทพฯอยู่ ดังที่มีกรณีร้องเรียนของราษฎรในแถบ 7 หัวเมือง เรื่องการกดขี่ของรายาต่อราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีระหว่างพระยายะหริ่ง (รายาเมืองยะหริ่ง) กับหนิควร (พ.ศ.2436) รายาได้สั่งให้คนในสังกัดเขาฆ่าลูกเมียและไพร่ทาสของหนิควรจนหมด รายายะหริ่งคนนี้ยังเคยได้รับการร้องเรียนจากราษฎรต่อรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านี้ด้วยว่า มีประพฤติที่กดขี่ข่มเหงราษฎร โดยนึกจะฆ่าและริบทรัพย์สินใครก็ได้ตามใจในเขตเมืองนี้ (5) กรณีใช้อำนาจอย่างระบบศักดินามลายูโบราณนี้ยังพบกับกรณีของรายามูดาเมืองรามัน (ต่วนลือเบะห์ หลงรายา) อีกด้วย ด้วยแนวคิดรายาหรือเจ้าเมืองเป็นเจ้าชีวิตนี้ สะท้อนธรรมเนียม (adat) อย่างมลายูโบราณที่รายามีสิทธิ์เด็ดขาดเหนือราษฎร เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองสำเร็จโดยรัฐบาลสยาม ระบบกดขี่ไพร่ทาสแบบมลายูโบราณนี้ก็สิ้นสุดลง ​นอกจากนี้สังเกตได้ว่ากว่าจะเลิกทาสในสยามนั้นใช้เวลานาน และเมื่อระบอบทาสถูกยกเลิก ทาสส่วนหนึ่งก็ยังสมัครใจเป็น “บริวาร” ของเจ้าทาสนั้นต่อไป น่าสงสัยว่า หากสยามต้องการแสดงหาผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศในขณะนั้นจริง ๆ สยามก็ไม่ควรยกเลิกทาสด้วยซ้ำ เพราะสยามยังต้องการแรงงานทาสในการเกษตรเพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เหมือนที่ชาติอาณานิคมทำ (เช่น ทางใต้อเมริกาต้องการคงทาสผิวดำไว้สำหรับอุตสาหกรรมไร่ฝ้าย) และสยามยังติดพันกรณีสนธิสัญญาที่ทำให้ต้องคิดภาษีขาเข้าเพียงร้อยละ 3 ก็ยิ่งทำให้สยามไม่สามารถพัฒนากสิกรรมได้เต็มที่อีกหากไร้ซึ่งแรงงานมนุษย์ ​น่าสนใจว่า การเลิกทาสที่ค่อย ๆเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านในอีกทางหนึ่ง ซึ่งหมายความได้ว่าชนชั้นนำสยามเองก็เอือมกับระบอบทาสและไพร่เช่นเดียวกัน เช่น จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภว่า “ข้าพเจ้าคิดเหนว่าลูกทาษ ซึ่งเกิดในเรือนเบี้ย ตั้งแต่ออกจากท้องภอลืมตาก็ ต้องนับเป็นทาษมีค่าตัวไป จนถึงอายุหนึ่งก็ยังไม่หมด ดังนี้ดูเป็นหามีความกรุณาแก่ลูกทาษไม่ ด้วยตัวเองที่เกิดมาไม่ได้รู้ ไม่ได้เหนสิ่งไรเลย บิดามารดาทำชั่วไปขายตัวท่าน แล้วยังภาบุตรไปให้เป็นทาษจนสิ้นชีวิตรอีกเล่า เพราะรับโทษทุกข์ของบิดามารดาเท่านั้นเอง หาควรที่จะเอาเป็นทาษจนตลอดชีวิตรไม่” (6) ​นี่ก็ย่อมชัดเจนว่าทรงเห็นถึงความโหดร้ายของระบอบนี้ และทรงมีความรู้สึกแห่งความเห็นใจเพื่อนมนุษย์อยู่ในพระราชหฤทัย และแม้ ธงชัย จะอ้างผ่านงานของเบน แอนเดอสัน (เรื่องไทยศึกษา) ว่า ระบอบทาสได้ค่อย ๆ เสื่อมลงจากการอพยพของแรงงานจีนราคาถูกที่เข้ามาตั้งแต่ต้นกรุงเทพฯ แล้ว แต่ผู้เขียนกลับมองว่าตราบใดที่รัฐประศาสนโยบายไม่มีการตรากฎหมายหรือออกเป็นคำสั่งทางปกครองของรัฐ สิ่งนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้เต็มปากว่า “เป็นทางการ” หรือในกรณีนี้ เราไม่อาจสมาทานไปเองว่าระบอบทาสได้สิ้นสุดก่อน ร.5 จะทรงยกเลิกอย่างเป็นทางการ (อย่างที่เห็นได้ชัดว่าทางลุ่มเจ้าพระยาระบอบทาสและไพร่เลกอาจมีความผ่อนปรนลง แต่ในส่วนอื่นของประเทศยังมีความ active อยู่) ดังนั้น “พฤติกรรมของรัฐ” (โดยการออกเป็นนโยบายทางการผ่านการตัดสินใจสุดท้ายของพระมหากษัตริย์) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรนำมาขบคิดในการวิเคราะห์ด้วย ​3. ภาพรวมของการบรรยายครั้งที่ 3 นี้ ธงชัย แยกส่วนประเด็นการปฏิรูปต่าง ๆ ออกมาอภิปราย แล้วด้อยค่าการปฏิรูปแต่ละด้าน และสรุปรวบยอดว่ารัชกาลที่ 5 ทรงกระทำไปเพื่อพระองค์และพวกเจ้ากรุงเทพฯเอง ทั้ง ๆ ที่งานวิชาการส่วนมาก ต่างอธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่า การปฏิรูปของสยามในแต่ละด้านทั้งการศึกษา การศาล ระบบราชการ การยกเลิกทาส กระทำไปเพื่อทำให้ “ประเทศให้ทันสมัย” แต่ ธงชัย กลับนำ “กระบวนการ” เช่น การปฏิรูปการศึกษา การศาล การปฏิรูปการคลัง การปฏิรูปกองทัพ วกกลับไปอธิบาย “สาเหตุบางส่วน” นั่นคือ “การถูกคุกคามจากเจ้าอาณานิคม” ซึ่งข้อเท็จจริงคืออังกฤษและฝรั่งเศสก็ไม่ได้มีท่าทีก้าวร้าวตลอดเวลา และสยามก็มีปัจจัยภายในร่วมด้วยขณะปฏิรูป ท้ายสุด ธงชัย ก็วิเคราะห์เป็นรายประเด็นว่าไม่เกี่ยวอะไรกับการ “รักษาเอกราช” เมื่อจับแต่ละประเด็นมาซอยย่อยก็จะทำให้เห็นคล้อยตามได้ง่าย แต่ผู้เขียนกลับมองว่าการปฏิรูปที่นักวิชาการส่วนมากพูดถึง พวกเขามองในลักษณะเป็นองค์รวมว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้สยามไม่เสียเอกราชหรือรักษาเอกราช ไม่ใช่แยกเป็นกรณี (ศึกษาปัจจัยหลายตัว ไม่ใช่ปัจจัยเดียว) อาทิ เราจะการแยกประเด็นการปฏิรูปการศึกษาออกจากการปฏิรูประบอบราชการสมัยใหม่ไม่ได้ เพราะคนที่เข้าสู่ระบอบการศึกษาใหม่นี้ ลงท้ายก็กลายเป็นกำลังสำคัญในระบบราชการในเวลาต่อมา การปฏิรูปภาษีนี่สำคัญ เพราะถ้าไม่มีเงิน รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ ใคร ๆ ย่อมทราบข้อนี้ดี การที่ภาษีส่วนมากถูกจัดเก็บและตกไปอยู่กับเจ้าท้องถิ่นที่ยังบริหารราชการแบบโบราณ ไม่มีการจัดสรร บันทึก หรือบริหารจัดการตามหลักสมัยใหม่ ยิ่งถ้ามองอย่างใจเป็นธรรมแล้ว ระบบการคลังที่ทันสมัยกว่าของรัฐบาลในกรุงเทพฯ ย่อมเกิดประโยชน์กว่าการที่รายได้รัฐต้องถูกบริหารโดยเจ้า/ขุนนางท้องถิ่นที่แทบไม่มีความรู้เรื่องนี้ เพราะอย่างน้อยรัฐบาลกรุงเทพก็รู้วิธีการบริหารการคลัง แต่ถ้ามีเจ้า/ขุนนางท้องถิ่นคนไหนเชี่ยวชาญกว่ากรุงเทพฯ ก็วานมาบอกผู้เขียนด้วย แต่จนบัดนี้ ผู้เขียนค้นมาแล้วก็ยังไม่พบ จะพบแต่กรณีเจ้าท้องถิ่นยักยอกเงินส่วยบุหงามาสและติดหนี้สินรัฐบาลสยามใหญ่โต เช่น กรณีรายาเมืองรามัน (7) หรือ กรณีการที่สุลต่านไทรบุรีบริหารการคลังไม่เป็น เพราะไม่มีการแยกงบประมาณแผ่นดินออกจากรายจ่ายของราชวงศ์ จนไทรบุรีเกือบล้มละลาย และสยามต้องเสนอให้กู้ยืมเงินและตั้งที่ปรึกษาการคลัง ( 8 ) ​จะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการทางการคลังของกรุงเทพฯย่อมเกิดประโยชน์แก่ราษฎรโดยทั่วไปมากกว่า นี่เป็นของที่เห็นได้ชัดอยู่แล้ว หรือกระทั่งการปฏิรูปการศาล ก็ย่อมส่งผลต่อการตั้งโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการบริการราชการในเวลาต่อมาแทบทั้งสิ้น การพยายาม “แช่แข็ง” กระบวนการใด ๆ แล้วนำมาด้อยค่าอย่างเสียดสีโดยปิดกั้นไม่ให้ผู้ฟังเห็นภาพหรือผลที่ตามหลังจากนั้น ย่อมไม่ใช่วิสัยของงานวิชาการแต่อย่างใด ทุ่นดำ ทุ่นแดง 19 มิถุนายน 2564 (1) นายสมนึก เพ็ชรพริ้ม และคณะ, พระยากัลยาณไมตรี แปลจาก Glad Adventure (กรุงเทพ : 2505) (2) อาทิ จดหมายเหตุรายวัน ร.6 ร.ศ. 130 เล่ม 1 เมษายน – มกราคม ปีกุน จุลศักราช 1272 รัชกาลที่ 6 ทรงใช้ “Independence” ในความหมาย “ผู้แทนอิสระ” (3) พระราชดำรัสในการพระราชทานเลี้ยงฉลองวันเสมอภาคของกรุงสยาม วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2469 ใน พระราชกิจจานุเบกษา (10 เมษายน พ.ศ.2470) (4) มีผู้ศึกษาเรื่องระบบทาสไพร่ไว้ได้ดีแล้ว โดยอาจศึกษารายละเอียดได้จาก อัญชลี สุสายัณห์, ความเปลี่ยนแปลงของระบบไพร่ และผลกระทบต่อสังคมไทย ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊กส์, 2552) (5) ปิยดา ชลวร, การปฏิรูปกฎหมายและการศาลในปัตตานีสมัยเจ็ดหัวเมือง ใน รูสะมิแล ปีที่ 34 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2556. (6) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 เดือนแปด แรม 5 ค่ำ ปีจอฉศก แผ่นที่ 12 จ.ศ.1236 (7) หจช. ร.5 ม.49/74 เรื่องผลประโยชน์ รายได้ รายจ่ายของแต่ละเมือง ร.ศ. 119 รายงานพระยาศรีสหเทพถึงพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ 10 ตุลาคม ร.ศ.119 ( 8 ) ดู กรมศิลปากร, ความสัมพันธ์ระหว่างเคดาห์และสยาม ในช่วง พ.ศ.2364-2444 โดย Sharom Armat ใน เมืองประเทศราชของสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพ:2528)