“ราเมศ” ซัดกลับ “ชูศักดิ์-ก้าวไกล” ไม่สมราคา แจงเหตุปธ.รัฐสภาไม่บรรจุเพราะยกร่างรธน.ใหม่ทั้งฉบับขัดคำสั่งศาลรธน. อย่าบิดเบือนใส่ร้าย “ชวน” ยันยึดรธน -ข้อบังคับ
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่รัฐสภา นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา แถลงข่าวตอบโต้กรณีที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล พรรคเพื่อไทย และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกมากล่าวหานายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ว่าไม่บรรจุญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับว่า ยืนยันการทำหน้าที่ของนายชวน ยึดรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เป็นกลาง ตรงไปตรงมา ให้เกียรติและเคารพทุกคน สร้างบรรทัดฐานของรัฐสภา ยึดมั่นหลักนิติธรรม การจะมากล่าวหาว่าขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง นายชูศักดิ์ เป็นถึงครูบาอาจารย์ต้องย้อนกลับไปดูหลักการรัฐธรรมนูญและข้อบังคับให้ชัด รวมไปถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ประกอบด้วย ไม่ใช่คิดจะทำตามอำเภอใจตนโดยไม่มีหลัก พอไม่ได้ดั่งใจก็ออกมาโวยวายไม่สมราคาของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเลย เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) ของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แต่ต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายราเมศ กล่าวว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรค 4 ฉะนั้นประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าระเบียบวาระการประชุมตามข้อ 119 ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ได้ จึงจะต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าต้องเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา ประธานรัฐสภาจึงไม่สามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ แต่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังไม่ตก แต่จะตกใน 2 กรณีคือ 1. รัฐสภาลงมติไม่รับหลักการ 2. รัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบในวาระที่สาม หากต่อไปมีข้อกฎหมายในเรื่องว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป
“หยุดให้ร้ายนายชวนที่พรรคเพื่อไทยใช้ถ้อยคำว่า “อย่าทิ้งภาระให้ลูกหลาน ประธานสภาอย่าขัดขวางรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”ล้วนแล้วแต่บิดเบือน คนอย่างนายชวนมีแต่คิดและทำสิ่งดีๆให้ลูกหลาน คนรุ่นหลังมากมาย หากพรรคเพื่อไทยฉลาดคิดและจดจำคงไม่มีการใช้ถ้อยคำที่บิดเบือนแบบนี้ แต่สิ่งสำคัญนายชวนไม่เคยทิ้งภาระหนี้สินที่เกิดจากการโกงชาติบ้านเมืองไว้ให้ลูกหลาน และรัฐธรรมนูญฉบับนี้นายชวนไม่รับมาตั้งแต้ต้น หากฝ่ายค้านนำเสนอถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับไม่มีใครขวางได้แน่นอน ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา”นายราเมศ กล่าว และว่าถ้ายังจำได้การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณ ศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้อง ฝ่ายรัฐบาลบอกว่าเรื่องดังกล่าวยุติแล้วคำวินิจฉัยผูกพันรัฐสภา ห้ามไม่ให้มีการอภิปราย ประธานรัฐสภาคนที่ชื่อชวน หลีกภัย คนนี้วินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งศาลไม่ใช่คำวินิจฉัย ไม่มีผลผูกพันรัฐสภา ฝ่ายค้านสามารถอภิปรายญัตติการอภิปรายทั่วไป ตามญัตติที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านกับอีก 205 คนได้เสนอเพื่อสอบถามกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ได้ตอนนั้นทำไมไม่โวยวายบ้างว่าไม่เป็นกลาง หากความจำสั้นพรรคเพื่อไทยไปค้นดูรายงานการประชุมรัฐสภาวันที่ 18 กันยายน 2562 ก็จะพบคำตอบ