เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ตอนที่ 5 รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ตอนที่ 5 รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังการรัฐประหารโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช) คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยผู้มีความรู้ความสามารถจำนวนไม่น้อย แต่ก็ยังคงมีนายทหารใหญ่รับตำแน่งรัฐมนตรีหลายตำแหน่ง อันเป็นลักษณะของการต่างตอบแทน ที่ชัดเจน รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ทำหน้าที่บริหารประเทศเพียง 1 ปี กับ 121 วัน ก็จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น และจัดการเลือกตั้งใหม่ ได้ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นี่เป็นแนวทางปกติในของการทำรัฐประหารในระยะหลัง คือไม่อยู่ในอำนาจนานจนเกินไป รีบจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคใหม่ของทักษิณแทนพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบ แต่ครั้งนี้ตัวเองยังกลับมาเมืองไทยไม่ได้ เพราะถูกดำเนินคดีหลายคดี จึงให้คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค หลังเลือกตั้งได้เสียงในสภาเป็นอันดับ 1 คุณสมัครจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาล มีพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด 6 พรรค โดยการจัดการของนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เดินทางกลับบ้านเป็นครั้งแรกหลังจากที่เดินทางไปประชุมที่ นิวยอร์ค ก่อนถูกรัฐประหาร อย่างไรก็ดีกระบวนการยุติธรรมต้องดำเนินต่อไป ทักษิณและครอบครัวจึงต้องไปฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่ดินรัชฎาฯ ผลปรากฎว่าศาลพิพากษาว่าทักษิณมีความผิด มีโทษจำคุก 2 ปี หลังจากการประกันตัว ทักษิณก็ขออนุญาตศาลเดินทางไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคส์ที่กรุงปักกิ่ง จากนั้นไม่กลับมาประเทศไทยอีกเลย จนบัดนี้ รัฐบาลคุณสมัครบริหารประเทศได้ระยะหนึ่ง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เริ่มชุมนุมประท้วงเพื่อคัดค้านความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 237 และมาตรา 309 เนื่องจากความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะให้หัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารไม่ต้องรับผิดกรณีมีผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง ซึ่งบรรดานักวิชาการรวมทั้งคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์ต่างก็คัดค้านกันอย่างหนัก ในที่สุดคุณสมัคร ก็มีอันต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่ได้พ้นจากตำแหน่งเพราะถูกประท้วง แต่เพราะ คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นร้องเรียน ให้ถอดถอนคุณสมัครเนื่องจากทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 267 และ 182 วรรคหนึ่ง(7) บรรดาสื่อที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน มักรายงานว่าคุณสมัครพ้นจากตำแหน่งเพราะไปทำอาหารออกทีวี แทัจริง ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คุณสมัครพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนน 9-0 ก็เพราะไปรับเงินค่าจ้างเป็นพิธีกร จากบริษัทเอกชนที่มุ่งหาผลกำไร ทำรายการทีวีคือ “ชิมไปบ่นไป” และ “ ยกขโยง 6 โมงเช้า” ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ห้ามไว้อย่างชัดแจ้ง เมื่อคุณสมัครถูกถอดถอน ต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่กันในสภาผู้แทนราษฎร ว่ากันว่า คุณสมัครคาดว่าตัวเองจะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่แล้วต้องผิดหวัง เนื่องจากคุณสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีที่เจ้าของพรรคคือทักษิณไม่สามารถสั่งได้ ส้มจึงไปหล่นที่คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม น้องเขยทักษิณ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย โดยที่ตัวเองก็คาดไม่ถึง รัฐบาลคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรัฐบาลที่ไม่มีโอกาสเข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลแม้แต่วินาทีเดียว เนื่องจากผู้ชุมนุมที่ประท้วงตั้งแต่รัฐบาลคุณสมัคร เห็นว่าคุณ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ย่อมต้องทำตามคำสั่งของทักษิณ ทุกประการ ไม่ใช่เพียงเป็นการสืบทอดอำนาจ แต่เป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดเลยทีเดียว ผู้ประท้วงบุกยึดทำเนียบรัฐบาล และพยายามขัดขวาง การประชุมสภาเพื่อแถลงนโยบาย มีการสลายการชุมนุมในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง และบาดเจ็บจำนวนมาก หลังจากนั้นกลุ่มผู้ประท้วงมีการบุกเข้าล้อมสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง เพื่อบีบให้นายกรัฐมนตรีลาออก คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีอันต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปเช่นเดียวกับคุณสมัคร ไม่ใช่เพราะลาออก แต่เป็นเพราะพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค ในคดีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช กรรมการบริหารพรรค และประธานสภาผู้แทนราษฎร กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง เป็นผลให้คุณสมชายต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย รวมระยะเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรีนอกทำเนียบทั้งหมด 75 วัน เมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ต้องมีการเลือกกันใหม่ในสภา ครั้งนี้พรรคพลังประชาชนถูกยุบ พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล จึงเสนอชื่อ พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นนายกรัฐมนตรี ทางด้านฝ่ายค้าน กลุ่ม คุณเนวิน ชิดชอบ แปรพักตร์จากพรรคพลังประชาชนมาสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผลการลงคะแนน คุณอภิสิทธิ์ จึงชนะไปด้วยคะแนน 235 เสียงต่อ 198 เสียง ภายหลังคุณเนวิน ทำคลิปแฉว่า ทนไม่ได้ที่ทักษิณหักหลังคุณสมัคร โดยทำให้เข้าใจว่าจะให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ถึงวันลงคะแนนจริง ผลกลับออกมาเป็น คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยแทน ขอต่อตอนที่ 5 ในโพสต์หน้านะครับ โปรดติดตาม