อิฐก่อสร้างสามัญหรืออิฐมอญ ที่ใช้ในปัจจุบันผลิตมาจากการใช้ดินเหนียว แกลบ ทราย หรือขี้เลื่อยเป็นวัตถุดิบนำมาผสมกับน้ำแล้วขึ้นรูปโดยการอัดลงในแบบพิมพ์ ผึ่งให้แห้งก่อนนำมาเผาที่อุณหภูมิสูง เพื่อให้เกิดความแข็งแรง ในการผลิตผู้ผลิตต้องมีความชำนาญการในการผสมวัตถุดิบ หากไม่ชำนาญคุณภาพของก้อนอิฐจะไม่สม่ำเสมอ และเกิดความเสียหายในกระบวนการผลิตสูงมาก โดยเฉพาะขั้นตอนการเผา ภายหลังกระบวนการเผา  เนื้อดินเหนียวเกิดการหดตัว ยากต่อการควบคุม เนื่องจากขั้นตอนการเผาเป็นขั้นตอนสำคัญของการผลิตอิฐมอญให้มีความแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งาน ซึ่งข้อเสียในกระบวนการเผาทำให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันวัสดุเศษไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผา หายาก ผู้ประกอบการจึงหันมาใช้ แกลบแทน จึงทำให้เกิดปัญหามากขึ้น คือ กลิ่น ควัน เขม่า และฝุ่นมาก ส่งผลทำให้มีผลกระทบต่อสุภาพของคนเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากร และก่อมลภาวะจากการเผา เพื่อเป็นแก้ปัญหาการสูญเสีย ต่าง ๆ อีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย  ด้วยเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) ได้คิดค้นกรรมวิธีใหม่ในการผลิตอิฐก่อสร้างสามัญ หรือ อิฐมอญโดยไม่ต้องเผา และช่วยลดมลภาวะต่อโลกรวมถึงยังลดภาวะโลกร้อน ได้เป็นอย่างดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณฐพงศ์  จันทร์เพ็ชร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.สุวรรณภูมิ เจ้าของผลงาน เปิดเผยว่า ในการผลิตอิฐก่อสร้างสามัญ หรืออิฐมอญ เป็นกรรมวิธีใหม่ในการผลิตอิฐ แบบไม่เผา ซึ่งการผลิตอิฐก่อสร้างสามัญ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตบล็อกประสาน คือ การใช้ดินและซีเมนต์ที่ผ่านมาตรฐานตามข้อกำหนด นำมาผสมปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ประเภท 1 ตามอัตราส่วน ผสมน้ำแล้วอัดขึ้นรูปด้วยเครื่องอัด นำมาบ่มให้ก้อนอิฐแข็งตัวโดยไม่ต้องเผา จะได้อิฐก่อสร้างสามัญที่มีขนาด ความแข็งแรง และน้ำหนักต่อก้อนที่ใกล้เคียงกัน เกิดความเสียหายน้อยมาก สามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการก่ออิฐฉาบปูน หรือก่ออิฐโชว์แนวได้เป็นอย่างดี จุดเด่นที่สำคัญของการผลิตอิฐก่อสร้างหรืออิฐมอญไม่ต้องเผานั้น ช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงยังช่วยลดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี  สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี โทรศัพท์ 08 6337-9284