วันที่ 20 มิ.ย.64 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สมาชิกกลุ่มแคร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง "ไม่มีระบบเลือกตั้งที่สมบูรณ์แบบ ระบบ 2 ใบแบบเยอรมันก็ยังมีจุดอ่อน" โดยระบุว่า " ไม่มีระบบเลือกตั้งที่สมบูรณ์แบบ ระบบ 2 ใบแบบเยอรมันก็ยังมีจุดอ่อน บางคนบอกว่า ระบบเลือกตั้ง 2 ใบแบบเยอรมัน (MMP) ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใหญ่ครอบงำสภาผู้แทนราษฏร และเปิดโอกาสให้พรรคเล็กได้ที่นั่งพอสมควร ความเชื่อนี้เป็นจริงในประเทศที่มีประชาธิปไตยแบบ “ตรงไปตรงมา” อย่างเยอรมันและนิวซีแลนด์ แต่ในหลายประเทศที่ประชาธิปไตยยัง “ซับซ้อน” ระบบ 2 ใบแบบเยอรมัน ก็ถูกทะลวงจุดอ่อนได้ไม่ยาก กโลบายแยบยลซึ่งใช้ทะลวงจุดคือ พรรคการเมืองใหญ่ 2-3 พรรคที่ต่างแข่งขันกันเพื่อครองเสียงข้างมาก เตรียมรับมือกับระบบ 2 ใบแบบเยอรมันด้วยการแตกเป็น 2 พรรค แล้วสื่อสารถึงผู้สนับสนุนพรรคว่า เป็นเครือข่ายเดียวกัน พรรคดั้งเดิมลงแข่งในระบบเขต ส่วนพรรคใหม่ลงแข่งในระบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นคะแนนในบัตรเลือกตั้งบัญชีรายชื่อของพรรคใหม่ซึ่งนำมาใช้คำนวณสัดส่วน ส.ส. จะไม่ถูกหักด้วยจำนวน ส.ส.ระบบเขตของพรรคเดิม เท่ากับว่า พรรคการเมืองใหญ่ได้จำนวนที่นั่งโดยรวมมากขึ้น (จาก ส.ส.เขตในชื่อพรรคเดิม และส.ส.บัญชีรายชื่อในชื่อพรรคใหม่) ผมลองคิดทบทวนไปมาแล้วเห็นว่า จำนวนรวมของ ส.ส. พรรคการเมืองใหญ่จะไม่หนีจากบัตร 2 ใบในระบบปี 40 เท่าไรนัก กโลบายเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วในเกาหลีใต้ เลโซโท อัลเบเนีย อิตาลี ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 พรรคการเมืองใหญ่ของเกาหลีใต้ 2 พรรคต่างใช้วิธีนี้ พรรครัฐบาล Democratic Party of Korea ตั้งพรรคใหม่ชื่อ Platform Party ลงแข่งในระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนพรรคฝ่ายค้าน Liberty Korea Party ตั้งพรรคใหม่ชื่อ Future Korea Party ลงแข่งในระบบบัญชีรายชื่อ และพรรคใหม่ทั้งสองต่างได้ ส.ส.เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องมาคำนวณหักลบ ส.ส.เขต! สรุปว่า บัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่กำลังถกกันหน้าดำคร่ำเครียดว่า ระบบนั้นดีกว่าระบบนี้ ผลลัพธ์จะออกมาไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าเป็นระบบปี 40 หรือระบบเยอรมัน แต่ผมคิดว่า ไม่ว่าบัตร 2 ใบระบบไหน อย่างไรก็ดีกว่าบัตร 1 ใบปี 60 แน่นอน เอาเวลาที่สาละวนกับเรื่องนี้ ไปลงพื้นที่พบปะประชาชน และวางนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ของเขา แล้วเตรียมการเลือกตั้งที่ใกล้มาถึงดีกว่า"