เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขและไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญปี 60 พร้อมกับเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมทั้งอีกหลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่าหลายประเด็นในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นปัญหา โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน จึงได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหัวใจหลักก็คือจะต้องทำให้มีกติกาเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตยเพื่อประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน
นายนพดล กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีหลักคิดในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ดังนี้ 1. พรรคขอย้ำจุดยืนที่มั่นคงในเรื่องประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 2.พรรคเพื่อไทย ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งโดยประชาชน เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่แก้ไขและไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญปี 60 และเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราบางประเด็น เช่น การเพิ่มสิทธิและเสรีภาพประชาชน ระบบเลือกตั้ง การตัดอำนาจ ส.ว. ในการให้ความเห็นชอบผู้ที่เป็นนายกฯ ซึ่งประเด็นรายมาตรานี้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ เคยร่วมกันเสนอให้แก้ไขมาแล้วเมื่อปี 2563 จึงไม่ได้เป็นการยื่นแก้ไขครั้งแรกหรือยื่นตามร่างที่พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นแก้ไขไปก่อนหน้า 3. การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ควบคู่กันไปกับการแก้ไขรายมาตราข้างต้นเนื่องจากมองว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องมีการทำประชามติและอาจต้องใช้เวลา กว่าจะผ่านการพิจารณาของสภา ไปจนเลือก ส.ส.ร. และ ส.ส.ร.มาดำเนินการยกร่างใหม่ก็อาจต้องใช้เวลา 6-8 เดือน กว่าจะนำกลับมาลงประชามติอีกครั้ง อาจใช้เวลานานเกิน 1-2 ปี ระหว่างนี้หากเกิดการยุบสภาและต้องมีการเลือกตั้งใหม่ก่อนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเห็นว่าต้องแก้ไขกติกาให้เป็นประชาธิปไตยในบางประเด็นไปก่อนด้วย ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การตัดอำนาจ ส.ว.ไปก่อนแล้วให้ ส.ส.เป็นผู้ให้ความเห็นชอบในตัวนายกฯ และแก้ระบบเลือกตั้ง
นายนพดล กล่าวต่อว่า 4. ประเด็นที่ถกเถียงกันมาก คือ การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทย เสนอให้ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ที่เคยใช้มาแล้วในรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ซึ่งประเด็นนี้เมื่อปี 2563 พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ได้ร่วมลงนามเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคเพื่อไทยมาแล้ว 5. การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชน เพื่อให้มีกติกาที่ชัดเจน เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ดังนั้นการพาดพิงว่า พรรคเพื่อไทย ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์นั้น ขอให้คำนึงด้วยว่าการที่พรรคหนึ่งพรรคใดจะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์หรือไม่นั้นจะต้องเคารพเสียงของประชาชน ซึ่งไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเท่าไร การเสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบนั้นเนื่องจากมองว่าสามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้มากที่สุด โดย ส.ส.ร.40 เป็นผู้ออกแบบให้ ส.ส.มาจาก 2 ส่วนคือ ‘ส.ส.เขต’ เขตละคน เพื่อให้ใกล้ชิดกับประชาชน คล้ายระบบของอังกฤษ และ ‘ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์’ ซึ่งสองแบบจะแยกจากกันชัดเจน ไม่ได้มาจากคะแนนเลือกตั้งเดียวกัน ซึ่งจะมีความชัดเจนในการคำนวณคะแนน
นายนพดล กล่าวว่า ถามว่าระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ตามรัฐธรรมนูญ 40 ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองหรือกีดกันพรรคหนึ่งพรรคใดหรือไม่นั้น ตอบว่า ทุกพรรคการเมืองมีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส. ในทุกระบบอย่างเท่าเทียมกัน กติกานี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคใด อีกทั้งระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบนี้เคยใช้มานานแล้ว พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นผู้คิดค้นระบบนี้ รวมทั้งการยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้ก็เคยยื่นมาแล้วเมื่อปี 2563 จุดสำคัญที่พรรคเพื่อไทยเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้คือ ต้องการให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีฝ่ายบริหารที่สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่เห็นเช่นนี้ แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเอง หลายพรรค เช่นพรรคประชาธิปัตย์ ก็เสนอแก้ไข ตนไม่เชื่อว่า พรรครัฐบาล มายื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นระบบเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์
จึงขอสรุปว่าระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ เป็นสิ่งที่เคยใช้มาแล้วและประชาชนมีความคุ้นเคย ขอยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้คิดเพื่อตัวเอง แต่เป็นการคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของกติกา ในการเข้าสู่อำนาจและได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้ประชาชนในท้ายที่สุด