ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่ 31.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนปลายสัปดาห์ โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้นตามบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ หลังดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากกว่าคาดในเดือนพ.ค. ทำให้ความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังแข็งค่าได้ต่อเนื่อง หลังการประชุมเฟดรอบล่าสุดส่งสัญญาณเตรียมถอยออกจากมาตรการทางการเงินเชิงผ่อนคลาย ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า อาจมีการเริ่มชะลอ QE ในปีหน้า และตามมาด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ในวันศุกร์ (18 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.43 เทียบกับระดับ 31.08 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 มิ.ย.) สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.20-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนพ.ค. ผลการประชุมนโยบายการเงินและประมาณการเศรษฐกิจไทยของกนง. สถานการณ์และแผนการกระจายวัคซีนต้านโควิด 19 ในประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคา PCE/Core PCE Price Index เดือนพ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 (ครั้งที่ 3) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ ดัชนี PMI เดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีนด้วยเช่นกัน