“ทนายเชาว์” กางข้อกฎหมายชำแหละคำพิพากษาศาลฎีกาคดี "ลุงวิศวะ" ยิงวัยรุ่นดับ ยันหลักเกณฑ์ชัดความผิดรอลงอาญาได้ ชี้ หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาไม่ผิดอาญา เตือน สังคมเรียนรู้อย่าใช้อารมณ์นำเหตุผล มักตามมาด้วยโศกนาฏกรรม เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง “คดีลุงวิศวะยิงเด็กนักเรียน ม.4” ทำไมศาลรอลงอาญา มีเนื้อหาระบุว่า จากกรณีเมื่อสองวันก่อน (17 มิ.ย.) ศาลจังหวัดชลบุรีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดี “คดีลุงวิศวะยิงเด็กนักเรียน ม.4” โดยศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี” จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ในความเห็นของผม คิดว่ามีสี่ประเด็นหนึ่งอุทาหรณ์ที่สังคมควรเรียนรู้จากคดีนี้ 1. การรอการลงโทษคืออะไรทำได้แค่ไหน การรอการลงโทษเป็นเรื่องที่มิใช่ศาลจะใช้ดุลพินิจรอการลงโทษใครก็ได้ แต่ต้องเข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมาย คือคดีนั้นถ้าศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ถ้าปรากฏว่าจำเลย ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดโดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยด้วยหรือไม่ก็ได้ ตามป.อาญามาตรา 56 2. การอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย ทำได้หรือไม่ โดยปกติในอาญาเมื่อมีการสืบพยานกันเสร็จศาลก็จะกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษา ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาก็ตาม และการอ่านคำพิพากษาจะต้องอ่านต่อหน้าจำเลย ดังนั้นในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยจะต้องมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง จะมอบอำนาจหรือมอบฉันทะให้บุคคลอื่นมาฟังคำพิพากษาแทนไม่ได้ ซึ่งจะต่างกับคดีแพ่งจำเลยจะมาหรือไม่มาฟังคำพิพากษาก็ได้ ในกรณีที่จำเลยไม่มาฟังคำพิพากษา ก็ต้องแจ้งเหตุให้ศาลทราบ ถ้ามีเหตุผลน่าเชื่อถือว่ามาไม่ได้จริง ๆ ศาลก็จะเลื่อนการอ่านออกไปให้ แต่ถ้าจำเลยไม่มาฟังคำพิพากษาโดยไม่แจ้งเหตุให้ศาลทราบหรืออาจจะแจ้งเหตุให้ศาลทราบแต้ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง ศาลจะออกหมายจับจำเลยเพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษา และเมื่อได้ออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันออกหมายจับ ศาลก็จะอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลย และให้ถือว่าโจทก์หรือจำเลย แล้วแต่กรณีได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว ตามป.วิอาญา มาตรา 182 3. จำเลยหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษามีความผิดหรือไม่ แล้วทำไมศาลยังปราณีให้รอการลงโทษ ในทางปฏิบัติการอ่านคำพิพากษา ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ก่อนที่จะถึงวันนัดอ่านคำพิพากษา ศาลได้เขียนคำพิพากษาเสร็จสมบูรณ์แล้ว มีการตรวจสอบลงลายมีชื่อองค์คณะ และใส่ซองปิดผนึกลงลายมือชื่อกำกับ จะเปิดอ่านได้ต่อเมื่อจำเลยปรากฏตัวต่อศาลหรือกรณีหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาเมื่อครบหนึ่งเดือนศาลจึงอ่านลับหลัง เพราะฉะนั้นจะเอาเหตุหลบหนีไม่ฟังคำพิพากษามาเป็นไม่สมควรรอลงอาญาจะกระทำไม่ได้ ที่สำคัญเป็นคนละประเด็นกัน เพราะ การหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาเป็นเรื่องของการผิดสัญญาประกันซึ่งไม่มีโทษทางอาญาแต่จะมีโทษปรับนายประกันตามสัญญาประกันที่วางต่อศาล เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ลุงวิศวะสามารถที่จะปรากฏตัวที่ศาลหรือที่ไหนก็ได้เพราะไม่มีความผิดอาญา ส่วนหมายจับก็สิ้นผลบังคับแล้วนับวันที่อ่านคำพิพากษา แต่อย่างไรก็ตามลุวิศวะต้องไปรายงานตัวตามเงื่อนไขคุมประพฤติของศาล มิฉะนั้นศาลอาจมีคำสั่งให้ลงโทษที่รอไว้นั้นได้ 4. สัดส่วนของความผิดกับโทษที่ได้รับ เหมาะสมหรือไม่ ผมเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 2,000 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนฯ และฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามฟ้อง ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำคุก 15 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน ปรับ 4,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 2.000 บาท รวมจำคุกจำเลยเป็นเวลา 10 ปี ปรับ 2,000 บาท ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 340,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 10 ปี ปรับ 2,000 บาท และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 340,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่เมื่อพิจารณาถึงดุลพินิจที่ศาลฎีกาได้หยิบยกเอาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีมาอธิบายอย่างละเอียดมีเหตุมีผล โดยสรุปคือศาลเห็นว่ามูลเหตุคดีเริ่มต้นจากกลุ่มของผู้ตายจอดรถยนต์ตู้ซ้อนคันกับรถยนต์ของจำเลย จากนั้นยังมีพฤติกรรมคุกคาม จนฝ่ายจำเลยรู้สึกไม่ปลอดภัย กระทั่งมีการใช้อาวุธปืน ซึ่งในส่วนนี้ศาลเห็นว่าเป็นการป้องกันตัวอันเกินสมควรแก่เหตุ “เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจของทั้งสองฝ่าย อารมณ์วูบเดียว ทำให้ครอบครัวหนึ่งเสียคนที่รัก ส่วนอีกครอบครัวหนึ่งมีคนที่รักต้องโทษในคดี ผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ร่วมกัน เมื่ออารมณ์นำเหตุผล จะก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมได้โดยง่าย” นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย