นสพ.สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์... ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ทหารประชาธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในยุคโลกาภิวัฒน์ : ตุรกีศึกษา ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ซึ่งเป็นคำอธิบายที่มองเห็นภาพชัดเจนต่อปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ และแน่นอนย่อมมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ใช่ว่าเหตุการณ์นั้นๆจะมีระยะทางห่างจากส่วนอื่นๆของโลกก็ตาม ดังนั้นในกรณีของการรัฐประหารที่ตุรกีแม้จะอยู่ห่างไกลจากประเทศไทยพอควร แต่ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้ไม่เกิดโดยตรงกับเรา แต่ก็ย่อมมีผลในทางอ้อมที่เราจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ผู้เขียนจะไม่ใช้เวลาในการบรรยายถึงเหตุการณ์ในช่วงรัฐประหารที่ล้มเหลว แต่กำลังจะวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต โดยเฉพาะในประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประการแรกปฏิกิริยาของประธานาธิบดีอัรดูฆอน แห่งสาธารณรัฐตุรกีได้กล่าวโทษผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารนี้ว่า คือ เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักคิดนักเขียนและนักการเมืองที่เคยเป็นสหายร่วมคิดกันมากับท่านว่าคือผู้นำของการก่อกบฏ โดยที่ขณะนี้กูเลนจะปฏิเสธ แต่ท่าทีของรัฐบาลตุรกีโดยการแสดงออกทั้งของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน และนายกรัฐมนตรีก็ชี้เป้าไปที่ตัวการใหญ่ที่หนุนหลังว่าคือสหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเกิดการเคลื่อนกำลังยึดอำนาจนั้น นายไมเคิล แมคคัล ประธานคณะกรรมการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้กล่าวสนับสนุนรัฐบาลทหารของตุรกีหากเขาทำสำเร็จ อย่างไรก็ตามทางการตุรกีได้ตอบโต้สหรัฐฯชนิดไม่ธรรมดา คือไม่ใช่แค่พูด แต่สั่งตัดน้ำตัดไฟฐานทัพสหรัฐฯ แถมประกาศห้ามบิน และยังจับกุม นายพล เบรกเกอร์ เออร์แคน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้นำในการกบฏที่ฐานทัพอินเซอร์ลิก ที่สำคัญกว่านั้นฐานทัพนี้เป็นที่เก็บขีปนาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่มาติดตั้งไว้เพื่อคุกคามรัสเซียอีกด้วย อย่างนี้รับรองได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับตุรกีมีอันขาดสะบั้นลงแน่นอน แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น 1.ความร่วมมือของตุรกีในการถล่มซีเรีย และการให้การสนับสนุนกลุ่มรัฐอิสลามโดยการเปิดพรมแดนให้มีการลำเลียงน้ำมันออกมาขายก็คงต้องสะดุดหยุดลง 2.การร่วมมือของตุรกีต่อสนธิสัญญาทางทหารนาโต้ ซึ่งเป็นหอกทิ่มแทงรัสเซีย และการแทรกแซงในยูเครน คงจะไม่ราบรื่นอีกต่อไป เพราะตุรกีมีทหารประจำการในนาโต้เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ 3.ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตุรกี ย่อมจะใกล้ชิดมากขึ้น ตลอดจนรวมไปถึงความร่วมมือในการรวมกลุ่มเศรษฐกิจของยูเรเชีย คือรัสเซียกับเอเชียกลางจะได้รับการฟื้นฟู ทั้งนี้รวมทั้งการเจรจาตกลงเชื่อมต่อท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติระหว่างตุรกี ประเทศในแหลมบอลข่านและรัสเซียจะก้าวหน้าขึ้น 4.ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับตุรกีจะดีขึ้น เพราะอิหร่านสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย เมื่อตุรกีไม่สนับสนุนฝ่ายกบฏอิหร่านก็เบาแรงลง ที่สำคัญอิหร่านกับตุรกีมีศัตรูร่วมกันคือ เคิร์ด ตามแนวชายแดนทั้ง 2 ประเทศ และชาวเคิร์ดได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เพราะเคิร์ดคุมดินแดนที่มีน้ำมันจำนวนมาก ที่สำคัญเมื่อตุรกีเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ ก็เท่ากับเป็นมิตรกับอิหร่านที่ถือว่าสหรัฐฯคือศัตรูเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นมีความเป็นไปได้ที่อิหร่านกับตุรกีจะร่วมมือกันต่อท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเข้าไปขายยุโรป ที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอยู่ ทำให้ยุโรปมีทางเลือกมากขึ้น แล้วสหรัฐฯจะทำอย่างไร จะอยู่เฉยๆได้หรือไม่ ขอฟันธงได้เลยว่าสหรัฐฯคงอยู่เฉยไม่ได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี ระหว่างทรัมป์กับฮิลลารี ทั้งนี้ยังรวมมาถึงโอบามา เพราะนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ถูกกำกับโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่ควบคุมสภาความมั่นคง และกระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่สหรัฐฯจะดำเนินการคือ สนับสนุนการปฏิวัติสีเหมือนอย่างอาหรับสปริง เพราะในตุรกีนั้นก็มีแนวคิดหรือกลุ่มคนหลากหลายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของอัรดูฆอน ซึ่งโน้มเอียงไปทางกลุ่มสลาฟี และกลุ่มภราดรภาพ แต่ในตุรกียังมีรากฐานเดิมของพวกกลุ่มแนวคิดแบบเคมาล อตาเติร์ก ที่ต้องการแยกศาสนาออกไปจากรัฐ นอกจากนี้กลุ่มของนายเฟตฮุลเลาะห์ กูเลน ซึ่งมีแนวคิดอิสลามที่แตกต่าง เรียกว่าขบวนการซามาน หรืออัลฟาเตียะฮ์ ก็มีอิทธิพลอยู่ในกลุ่มทหาร นักธุรกิจและผู้พิพากษาตลอดจนมวลชนจำนวนหนึ่ง และถ้าสหรัฐฯปลุกกระแสการปฏิวัติสำเร็จตุรกีก็จะกลายเป็นดินแดนมิคสัญญี เหมือนในอาหรับ จะเกิดสงครามกลางเมืองโดยสหรัฐฯสนับสนุนอาวุธและเงินทอง และจะเกิดผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน คือผู้อพยพจำนวนมากที่จะทะลักเข้ายุโรปและอิหร่าน ซึ่งไม่มีใครปรารถนาที่จะรับภาระเหล่านั้น เพราะมันกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง คู่หูสำคัญและมีส่วนกำกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯก็คืออิสราเอล โดยขบวนการไซออนิสต์ ก็จะเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อหาผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส และอังกฤษ ที่ได้ร่วมมีบทบาทในการก่อกระแสอาหรับสปริงมาแล้ว โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่มีบทบาทสำคัญในการโค้นล้มกัดดาฟีแห่งลิเบีย นอกจากนี้อิสราเอลก็จะสมประโยชน์หากเกิดความวุ่นวายขยายวงออกไปในภูมิภาคนี้ เพราะตนเองจะได้เข้ายึดครองปาเลสไตน์และประเทศใกล้เคียง เช่น เลบานอน ซีเรีย และจอร์แดน อันเป็นเป้าหมายต่อไปในขณะที่อิสราเอลได้กระชับความสัมพันธ์กับอิยิปต์ภายใต้รัฐบาลทหารของนายพลซีซี และซาอุดิอารเบียก็มีการสานสัมพันธ์กันมากขึ้นภายใต้ราชวงศ์นี้ ด้านตุรกีประธานาธิบดี อัรดูฆอน ย่อมไม่ปล่อยโอกาสให้ผ่านไปหลังจากได้รับชัยชนะเหนือพวกกบฏ เขาย่อมจะขยายการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามขนานใหญ่ เพื่อกำจัดเสี้ยนหนาม ที่จะเป็นหัวเชื้อให้สหรัฐฯเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นพวกเสรีนิยม นักธุรกิจ ผู้พิพากษา นักการศาสนาที่เห็นต่าง เพราะ อัรดูฆอนนั้นเป็นผู้ที่มีลักษณะแข็งกร้าวอยู่แล้ว ประเด็นคือการกระทำดังกล่าวจะสยบฝ่ายต่อต้านให้อยู่มือได้ หรือจะกลายเป็นการยั่วยุให้มีการออกมาประท้วงมากขึ้น และเป็นเหยื่อของสหรัฐฯในที่สุด ซึ่งแน่นอนทั้งรัสเซียและอิหร่านย่อมต้องพยายามประคับประคองตุรกีเพื่อผลประโยชน์แห่งตน ส่วนจีนนั้นแม้จะอยู่ห่างไกลในเชิงภูมิศาสตร์ แต่การดึงให้สหรัฐฯไปติดหล่มที่ตุรกี ก็จะทำให้สหรัฐฯผ่อนคลายแรงกดดันจีนในกรณีทะเลจีนใต้แม้จะเป็นช่วงสั้นๆก็ตาม แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่จีนจะได้สะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ และอิทธิพลของตนทางด้านการทหารและการเมืองในภูมิภาคนี้ ซึ่งแน่นอนย่อมกระทบมาถึงไทย ซึ่งเวลาดูท่าทีว่าจะเอออกห่อหมกกับจีนอย่างชนิดว่ารักกันดูดดื่ม เพราะจะซื้อทั้งเรือดำน้ำ และยานหุ้มเกราะ ตลาดจนขยายความร่วมมือในการซ้อมรบการกระทำดังกล่าวและท่าทีอื่นๆ แน่นอนย่อมถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีไว้หากสบโอกาสที่จะหวนกลับมาในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยก็จะเป็นเป้าหมายแรกที่สหรัฐฯต้องการมาวางฐานกำลัง เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และการเมือง หากประเทศไทยยังดำเนินนโยบายต่างประเทศเยี่ยงนี้ เราก็อาจเกิดผลกระทบที่รุนแรง แต่หากเราประกาศตนเป็นกลาง ซึ่งแน่นอนต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านการทูตและการต่างประเทศเป็นอย่างมาก เราน่าจะปลอดภัยในระยะยาวได้แน่นอน