เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า​ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลบางสวรรค์ นำโดยนายโชติ ไทยเกิด ผู้ใหญ่บ้านบ้านบางเตา หมู่ที่ 10 ตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ผนึกกำลังผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารและนักพัฒนาชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลบางสวรรค์ คณะครูโรงเรียน คณะครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคมีนบุรีอนุสรณ์ 1 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระแสง และประชาชนตำบลบางสวรรค์ ร่วมใจพัฒนาพื้นที่ว่างบริเวณโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคมีนบุรีอนุสรณ์ 1 ให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงามน่ามอง พร้อมจัดทำแปลงปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร ปลูกหญ้าคลุมดิน ปลูกต้นไม้ในพื้นที่กว่า 2 ไร่ นายโชติ ไทยเกิด กล่าวว่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคมีนบุรีอนุสรณ์ 1สังกัด กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 41 จัดตั้งเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 เดิมมีชื่อว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนประชาสันติ (บางเตา) เมื่อปี พ.ศ. 2534 วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ได้นำนักเรียนออกค่ายอาสาพัฒนาฯ ก่อสร้างอาคารเรียนถาวร 4 ห้องเรียน โดยใช้งบประมาณจากประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานสมทบ ทางโรงเรียนและประชาชนจึงได้เห็นความสำคัญของวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี เพื่อเป็นเกียรติและเป็นอนุสรณ์ในการให้ความช่วยเหลือ จึงพร้อมใจกันทำหนังสือขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนเทคนิคมีนบุรีอนุสรณ์ 1 ปี พ.ศ. 2555 สำนักพระราชวังได้สนับสนุนงบประมาณ โดยการพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 3,000,000 บาท ก่อสร้างอาคารเรียนถาวรชั้นเดียวหลังใหม่ เป็นอาคารรวม 10 ห้องเรียน ขนาด 8 × 60 เมตร จำนวน 1 หลัง พระองค์ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ และทรงเยี่ยมราษฎร ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเทคนิคมีนบุรีอนุสรณ์ 1 จำนวน 5 ครั้งด้วยกัน ครั้งหลังสุดทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเมื่อ พ.ศ.2561 สร้างความปราบปลื้มแก่พสกนิกรชาวบ้านบางเตา ชาวบ้านตำบลบางสวรรค์ และอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอย่างมาก โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนเทคนิคมีนบุรีอนุสรณ์ 1 เป็นความภาคภูมิใจและรวมใจของราษฎรบ้านบางเตาในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาได้ร่วมกันสร้างสวนผัก เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้นักเรียนในโรงเรียนต่อเมื่อปี 2563 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งคณะกรรมการบ้านบางเตาได้ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านได้ปลูกผักเพื่อบริโภคเองอย่างน้อย 10 ชนิด ครบ100เปอร์เซ็นต์และได้ต่อยอดให้เป็นคลังอาหาร เป็นธนาคารพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ของหมู่บ้านไว้แจกจ่ายนักเรียนและราษฎร์ในพื้นที่ตำบลบางสวรรค์ บรรเทาความเดือดร้อนของครัวเรือน ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ได้เห็นประโยชน์ที่ชัดเจนเป็นอย่างมากในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร์ เรื่องความมั่นคงทางอาหารและการประหยัดรายจ่ายของครัวเรือน นายโชติ ไทยเกิด ยังได้กล่าวต่ออีกว่า ตนเองได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระแสง โดยมีผู้นำในตำบลบางสวรรค์เข้าร่วมโครงการจำนวน 15 คนจากนั้นผู้นำดังกล่าวได้ขยายผลดำเนินกิจกรรมหนึ่งหมู่บ้านสามารถดูแลได้ทั้งตำบล สร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีบ้านบางเตาเป็นจุดนำร่อง และได้ขยายผลส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนทั้งตำบลปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย 10 ชนิดไว้บริโภค แจกจ่ายและจำหน่ายเป็นการสร้างความต่อเนื่อง ให้เกิดพลัง การจัดทำโครงการถนนกินได้ปลอดภัยไร้สารพิษในหมู่บ้าน ตำบล การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา พช. เป็นการสร้างชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง การสร้างสิ่งแวดล้อมชุมชนสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยบูรณาการร่วมกับ “โครงการอาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก”(อถล.) การจัดการขยะสิ่งเหลือใช้ในครัวเรือนให้เกิดประโยชน์เช่นทำน้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยหมัก จากวัฒนธรรม สู่นวัตกรรม ทำเป็นบ้าน สานเป็นกลุ่ม การเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP เช่นกลุ่มเครื่องแกง กลุ่มแปรรูปน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นและผลิตภัณฑ์ต่อยอด เป็นต้น กิจกรรมที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงตำบลบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ดำเนินการมานั้น เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารช่วยให้ครัวเรือนประหยัดรายจ่ายเฉลี่ยครัวเรือนละ 50 บาทต่อวัน อีกทั้งเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อม สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีไม่เพียงแต่นักเรียนโรงเรียนโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนเทคนิคมีนบุรีอนุสรณ์ 1 จำนวน 160 คนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงครัวเรือนบ้านบางเตาอีก 266 ครัวเรือนและครัวเรือนตำบลบางสวรรค์อีก 3,350 ครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์จากกิจกรรมเหล่านี้ สำหรับกิจกรรมในวันนี้เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม ปรับพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ทำแปลงพืชผักชนิดต่างให้เป็นคลังอาหาร เป็นธนาคารพันธุ์พืชประจำหมู่บ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ ที่สำคัญเป็นการสร้างความรักสามัคคี เป็นภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ดีและยั่งยืนนายโชติ ไทยเกิด กล่าวในที่สุด